‘คดีแตงโม’ ชุลมุนวุ่นวาย เกิดความเสียหาย เพราะตำรวจผู้ใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย

คดีแตงโม’ ชุลมุนวุ่นวาย เกิดความเสียหาย เพราะตำรวจผู้ใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย

 

                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมกรณีดาราสาว แตงโม ตกเรือเร็วจมแม่น้ำเจ้าพระยาตาย นับเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจกันอย่างมากมานานหลายปี

เพราะหลังเกิดเหตุได้มีเงื่อนงำในพฤติกรรมการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจผู้ใหญ่ที่ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยใน ความสุจริตและประสิทธิภาพการสอบสวน ดำเนินคดีตลอดมา

ตั้งแต่ การไม่เก็บรักษาเรือซึ่งเป็นวัตถุพยานหลักฐานสำคัญเอาไว้ทันทีในวันเกิดเหตุ?

ทำให้ผู้คนคิดไปต่างๆ นานา ว่าน่าจะมีความพยายามในการช่วยเหลือผู้กระทำผิด ไม่ว่าจากข้อหาประมาท หรืออาจมีการทำร้ายกันเกิดขึ้นลักษณะหนึ่งลักษณะใด จนทำให้เธอพลัดตกจากเรือและจมหายไปในแม่น้ำ!

การสอบสวนภายหลังได้มีการตั้งข้อหากับปอ และโรเบิร์ต ในฐานะผู้ควบคุมเรือว่ากระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ไปจนกระทั่ง แซน กระติก และจ๊อบ ในเวลาต่อมาด้วยข้อหาเดียวกัน

ทั้งที่ทั้งสามคนตามกฎหมายถือเป็นเพียงผู้โดยสาร!

ข้อเท็จจริงแต่ละคนกระทำประมาทอย่างไรที่ทำให้นำไปสู่การแจ้งข้อหาดำเนินคดี ก็ยังเป็นที่สงสัยงุนงงของผู้คนจำนวนมากจนกระทั่งบัดนี้?

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 คำว่า “ประมาท” หมายถึงการกระทำมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

ซึ่ง “การกระทำ” ให้หมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

สำหรับบทความผิดมาตรา 291 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

จากคำจำกัดความและตัวบทกฎหมาย การกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงต้องมีการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามวิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลที่จะนำไปสู่ความตายของบุคคลนั้น 

ถ้าข้อเท็จจริงน้องแตงโมเดินไปปัสสาวะท้ายเรือ โดยที่คนควบคุมเรือคือ ปอและโรเบิร์ตไม่ได้รู้เห็นให้เธอกระทำ หรือแม้แต่ทราบว่าได้มีการกระทำเช่นนั้นตามคำให้การของทุกคนบนเรือ

ทั้งสองคนถูกตำรวจออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหาดำเนินคดีอาญาและถูกลงโทษข้อหาประมาทได้อย่างไร ผู้ที่เป็น นักกฎหมายแท้จริงก็ยังงง!

แต่คดีก็เป็นอันจบไปด้วยคำรับสารภาพของปอและโรเบิร์ต หลังตกลงจ่ายเงินเยียวยาจำนวนหนึ่งให้ “คุณแม๊” ได้?

ไม่ต้องไปฟ้องร้องหรือต่อรองบังคับคดีกันให้เสียเวลา!

แต่แซนและกระติก รวมทั้งจ๊อบที่เป็นผู้โดยสาร ได้กระทำอะไรที่ถือว่าเป็นความประมาทจนทำให้แตงโมพลัดตกเรือไป ผู้คนต่างสงสัย?

ตำรวจได้แจ้งข้อหากับบุคคลเหล่านี้ด้วยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอะไร สอดคล้องกับหลักกฎหมายและถ้อยคำตามบทมาตราที่ปรากฏหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดศาลจังหวัดนนทบุรีได้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ทุกคน ด้วยเหตุผลว่า

“…….การที่ผู้ตายเดินไปท้ายเรือเพื่อไปปัสสาวะเป็นการกระทำของผู้ตายเองตามลำพัง……เป็นเรื่องเสี่ยงภัยที่ผู้ตายต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เมื่อผู้ตายตกน้ำเสียชีวิตจึงเป็นผลจากการเสี่ยงภัยนั้นเอง อันมิใช่ผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่อย่างไร

ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่กระทำการหรือห้ามมิให้กระทำการตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เช่นห้ามหรือทักท้วงมิให้นายตนุภัทรจัดหาบริการสุราแอลกอฮอล์หรือของเมาอย่างอื่นเสพดื่มในขณะล่องเรือ จัดให้ผู้โดยสารขึ้นฝั่งโดยไม่ชักช้าเมื่อตนเองและผู้ตายมึนเมาสุรา ไม่จัดให้ผู้ตายซึ่งมึนเมาสุราแอลกอฮอล์หรือของเมาอย่างอื่นให้นั่งประจำที่ หรืออยู่ในจุดที่ปลอดภัย และสวมใส่เสื้อชูชีพในขณะที่ผู้ตายเดินไปบริเวณท้ายเรืออันเป็นจุดอันตราย และมิได้แจ้งให้คนขับเรือหยุด หรือโยนอุปกรณ์ช่วยเหลือให้แก่ผู้ตายเมื่อพลักตกน้ำ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 3 ให้ความหมาย “เรือสำราญและกีฬา” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญหรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ “นายเรือ” หมายความว่า ผู้ควบคุมเรือ “คนประจำเรือ” หมายความว่า คนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ “คนโดยสาร” หมายความว่า คนที่อยู่ในเรือ เว้นแต่ (1) คนประจำเรือหรือผู้อื่นที่รับจ้างทำงานในเรือนั้น

ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ผู้โดยสารต้องกระทำการหรือห้ามมิให้กระทำการดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของนายเรือและบุคคลประจำเรือที่ต้องปฏิบัติตาม และเรือลำเกิดเหตุจัดเป็นเรือสำราญ กฎหมายมิได้ห้ามผู้โดยสารดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คงห้ามเฉพาะผู้ควบคุมเรือ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงผู้โดยสาร ไม่มีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายที่จะต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำดังกล่าว จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

จากคำพิพากษาดังกล่าว สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้ว่า

   น้องแตงโมพลัดตกลงไปจากท้ายเรือจากการกระทำอันเป็นการเสี่ยงภัยในการไปนั่งปัสสาวะตรงจุดนั้นของตัวเอง

ไม่มีผู้ใดกระทำประมาทที่ เป็นเหตุให้เธอตกน้ำถึงแก่ความตาย แต่อย่างใด!

ข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เป็นประเด็นถกเถียงกันตลอดมา จึงเป็นอันจบไปด้วยคำพิพากษาดังกล่าว แม้จะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม

 รวมทั้ง “จินตนาการ” ทั้งของ “นักวิชาการ” และ “นักวิแคะ” สารพัดสำนัก ที่บอกว่า

เธอน่าจะตกจากจุดอื่นของเรือ แม้กระทั่งถูกทำร้าย หรือถูกฆ่าตายบนบกแล้วมีคนนำศพมาทิ้งน้ำอำพรางคดี!

 แต่เป็นเพียงข้อสงสัย หรือ “ข้อสันนิษฐาน” ที่ปราศจากพยานหลักฐานการกระทำซึ่งสามารถนำมาแสดงต่อศาล แม้กระทั่งให้ประชาชนเห็นและเชื่อถือหรือแม้แต่รับฟังได้แต่อย่างใด!

เป็นเหตุให้สังคมและกระบวนการยุติธรรมเกิดความวุ่นวาย เสียหายทั้งต่อแซน กระติก และจ๊อบ ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่ได้กระทำผิด ต้องถูกตำรวจแจ้งข้อหาดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

ทุกคนต้องรับกรรมและทนเสียงก่นด่าจากประชาชนอยู่นานหลายปี!

โดยที่ไม่มีใคร ไม่ว่า ตำรวจ หรือ อัยการ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอะไร เมื่อศาลได้พิพากษายกฟ้อง?

เหมือนอีกหลายคดีที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายให้ผู้คนอย่างมากมาย

โดยเฉพาะคนที่ถูก “ออกหมายจับ” และ “ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว”

ต้องถูกขังหรือ “ติดคุก” อยู่ในเรือนจำโดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจนกระทั่งทุกวันนี้!.

 ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 2568

        

About The Author