ฝากคนเป็นตำรวจ ทหารไม่ผ่านการสอบ ช่วยราชการ ปัญหา’การฉ้อฉลกำลังพล’ในองค์กรทหาร ตำรวจ
ฝากคนเป็นตำรวจ ทหารไม่ผ่านการสอบ ช่วยราชการ
ปัญหา “การฉ้อฉลกำลังพล” ในองค์กรทหาร ตำรวจ
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์ ตำรวจหญิง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ ทหารหญิง อย่างทารุณผิดมนุษย์ที่สุดอื้อฉาวนั้น ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องการดำเนินคดีที่นายพลตำรวจผู้เป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ หลายระดับออกมารับรองว่า
จะสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่สนใจว่าตำรวจหญิงผู้โหดร้ายจะเป็นใคร หรือมีความสัมพันธ์สวาทกับ ส.ว.เฒ่าคนไหน!
เพราะนั่นเป็นหน้าที่ปกติของ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ระดับสถานี ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือให้ ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงโดยมิชักช้าตาม ป.วิ อาญา อยู่แล้ว
คำพูดว่าจะสอบสวนคดีนี้คดีนั้นกันด้วยความสุจริต จึง เป็นเรื่องวิปริตที่สะท้อนความคิดของเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลัง อย่างยิ่ง
แต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องการรู้มากกว่าการดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัยซึ่งไม่มีนายพลตำรวจคนใดให้สัมภาษณ์ หรือ อาจได้รับคำสั่งให้พยายามเบี่ยงเบนไป ก็คือ
เหตุการณ์ที่ป่าเถื่อนเลวทรามเช่นนี้ มันมีเกิดขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบันได้อย่างไร?
ไล่มาตั้งแต่ตำรวจหญิงคนนี้เป็น “เมียลับ” ของ ส.ว.คนไหน แต่เมื่อใด มีตำแหน่งเป็นกรรมาธิการหรือประธานกรรมาธิการตรวจสอบการปฏิบัติราชการของฝ่ายบริหารด้านใดในวุฒิสภาหรือไม่?
และเธอ ใช้อำนาจผ่าน ส.ว.คนนี้ หรือ นายพลทหารผู้ใกล้ชิดสนิทสนมคนใด ในการ ฝาก หญิงผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายเข้ารับราชการใน กองทัพไทย
โดยการ จ่ายเงินซื้อตำแหน่งแค่นายสิบถึงห้าแสนบาท ตามคำบอกของเธอ!
ซ้ำเมื่อบรรจุแล้ว ก็ไม่ต้องทำงานอะไรในหน้าที่ที่มีเงินเดือนซึ่งได้จากภาษีของประชาชน
แต่กลับ ถูกฉ้อฉลด้วยคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร ซึ่งไม่รู้ว่าใครอนุมัติให้ไปช่วยราชการทหารหน่วยใด หรือ ทำงานบ้าน ใครเช่นกัน?
หรือว่าข้อเท็จจริงเพียงมีชื่ออยู่ในหน่วยที่บรรจุแล้วไม่ต้องทำงานการมีหน้าที่ตามกฎหมายอะไร ผู้บังคับบัญชาสามารถ ส่ง ไปเป็น คนใช้ ให้ตำรวจหญิงยศแค่สิบตำรวจโทสังกัดหน่วยสันติบาลโขกสับได้นานนับปี!
โดยที่ตัวตำรวจหญิงคนนี้เองก็ถูกสั่งให้ไปช่วยราชการกองอำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยไม่มีใครรู้ว่า อาศัยอำนาจของใคร?
ทั้งตามข้อเท็จจริงเธอก็ไม่ได้ไปทำงานที่นั่นตามปากคำของทหารหญิงผู้ถูกทำร้ายที่ให้ไว้ต่อ คุณกรรชัย ในรายการ โหนกระแส แต่อย่างใด
นี่ถ้าไม่มีเรื่องแดงขึ้นพร้อมคลิปอื้อฉาวเป็นหลักฐานเรื่องการถูกทำร้ายผ่านสื่อออนไลน์ออกมา ก็คงไม่มีใครรู้ว่ามีปัญหาที่ป่าเถื่อนเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งยังมีเรื่องเน่าเหม็นเช่นนี้อีกมากเท่าใดในหน่วยงานทหารและตำรวจ โดยที่ไม่มีใครสนใจตรวจสอบอย่างจริงจัง?
ไม่ว่าจะเป็น กรรมาธิการทหาร หรือกรรมาธิการตำรวจ ของทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนฯ ประชาชนแทบไม่ได้ยินความเคลื่อนไหวอะไรในปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้นมากมายแทบจะเป็นรายวัน
กรณีผู้บังคับบัญชาหน่วยงานตำรวจทหารสั่งให้ข้าราชการในสังกัดไปช่วยราชการที่นั่นที่นี่โดยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายแน่ชัดนั้น เป็นเรื่องที่มีปัญหา โดยเฉพาะตำรวจผู้น้อยต่างเอือมระอากันมาช้านาน
ตำรวจคนใดไม่อยากทำงานในหน้าที่ตามกฎหมาย ก็วิ่งเต้นหาเส้นสายให้นายพลตำรวจคนนั้นนี้มีคำสั่งให้ตัวเองไปช่วยราชการ มีทั้ง สำนักงาน ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผบช. รอง ผู้ช่วย ผบก. และ รอง ผบก. ซึ่งมีอยู่มากมาย โดยไม่ได้ทำงานราชการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันแต่อย่างใด
อย่างเช่นกรณี ผู้หมวดหญิง ผู้เป็นพนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง มีหน้าที่เข้าเวรรับคำร้องทุกข์จากประชาชน ก็มีการสั่งให้ไปช่วยราชการสำนักงานโฆษกตำรวจ ถือโทรศัพท์ให้ผู้บังคับบัญชา
ซึ่งการสืบสอบข้อเท็จจริงจนป่านนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าสรุปผลมีความผิดทางวินัยอะไรหรือไม่ ในการเบิกเงินประจำตำแหน่ง พงส. โดยไม่ได้เข้าเวรปกติตามที่มีการร้องเรียน?
หรือแม้กระทั่ง ใครไม่สามารถสั่งให้ไปช่วยราชการได้ ก็เลี่ยงไปใช้คำว่า ให้ไปปฏิบัติราชการ ในศูนย์ปฏิบัติการสารพัดที่จัดตั้งขึ้นซ้ำซ้อนกับหน่วยตำรวจปกติ และกลายเป็น ศูนย์เฉพาะเก็บ ทำยอดทำเป้าให้หัวหน้าศูนย์ผู้เป็นเจ้านายในแต่ละเดือนไปก็มากมาย
ถือเป็นพฤติกรรม ฉ้อฉล หรืออาจเรียกว่าเป็น อาชญากรรมกำลังพล รูปแบบหนึ่ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับรัฐประชาชนอย่างยิ่ง
เพราะการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการทุกหน่วยงานทุกตำแหน่งที่ได้รับเงินเดือนซึ่งได้มาจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ นั่น หมายถึงเงินภาษีที่เก็บมาจากแรงงานและหยาดเหงื่อเลือดเนื้อของประชาชนในชาติทุกคน
การฉ้อฉลรวมทั้งการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการไทยในการเบียดบังเงินงบประมาณของทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกเบี้ยเลี้ยงเท็จ เบิกเงินล่วงเวลากันโดยไม่ได้ทำงานจริง! เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในหน่วยงานตำรวจทหาร จนแทบจะเรียกว่า ไร้การตรวจสอบควบคุม อยู่แล้ว
แต่ยังมีการทุจริตฉ้อฉลกำลังพลและยานพาหนะที่ประชาชนได้รับความเสียหายกันอีกมากมาย โดยเฉพาะในหน่วยงานตำรวจ เช่น การ กำหนดตำแหน่งและยศนายพลระดับต่างๆ และรองหัวหน้าหน่วยขึ้นโดยไม่จำเป็น
ซ้ำร้ายจำนวนมากยังสามารถใช้วิธี ฝากคน เข้ารับราชการกันง่ายๆ ทั้งชั้นประทวนและสัญญาบัตรโดยไม่ต้องผ่านการสอบแข่งขันกับลูกหลานประชาชนอย่างเป็นธรรม!
ซึ่งข้าราชการพลเรือนปัจจุบันนั้นทำไม่ได้เช่นสมัยโบราณก่อน พ.ศ.2475 โดยเฉพาะนับแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา
เนื่องจากได้มีการตรา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 46 บัญญัติ ให้ใช้วิธีบรรจุจากผู้สอบแข่งขันได้เรียงตามลำดับที่ เท่านั้น
ส่วน องค์กรตำรวจและทหารไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงทำให้สามารถเลือกใช้วิธีสอบแข่งขันหรือจะคัดเลือกตามความเหมาะสมมั่วๆ อ้างเป็นผู้มีคุณวุฒิหายากหรือมีความรู้ความสามารถพิเศษกันอย่างไรก็ได้!
และนี่จึงเป็นช่องทางให้หัวหน้าหน่วยผู้มีอำนาจสามารถ รับฝาก คนเข้าเป็นตำรวจและทหารได้ทั้งในกลุ่มที่เรียกชั้นประทวนหรือสัญญาบัตร ที่ประชาชนและคนหนุ่มสาวสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเรียกกันด้วยความคับแค้นใจว่าเป็นการ เข้าภายใน ไม่ต้องสอบแข่งขันกับใคร!
โดยเฉพาะในองค์กรตำรวจ แต่ละปีจะมี คนหนุ่มสาวลูกเศรษฐีหรือคนมีอำนาจ ที่อยากเป็นตำรวจ จะได้มียศแบบทหารแต่งเครื่องแบบอวดสาวโก้เก๋ เข้ารับราชการกันด้วย วิธีที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบคุณธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มากมาย
ในช่วงเวลา ห้าหกปีมานี้ มีตำรวจประมาณกันว่าน่าจะรวมกว่า ห้าร้อยคน!
ส่วนเรื่องจะมีการจ่ายเงิน สินบนหรือผลประโยชน์ อะไรให้ตำรวจผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจบรรจุคือ ผบ.ตร. คนใดบ้างหรือไม่ ไม่มีใครสามารถหาพยานหลักฐานมายืนยันได้?
แต่หากคิดง่ายๆ ตามคำให้การของทหารหญิงผู้เสียหายต่อ คุณกรรชัย ว่า การฝากเข้าเป็นทหารยศแค่นายสิบ ยังต้องจ่ายเงินถึง ห้าแสนบาท และเป็นที่มาของการตกเป็น ทาส ให้ตำรวจหญิงนำตัวไปใช้ทำงานบ้าน เพื่อการใช้หนี้ค่าฝากเข้ารับราชการ
แล้ว การฝากลูกเศรษฐีคนมีเงินเข้าเป็นตำรวจโดยเฉพาะชั้นสัญญาบัตร จะต้องมีค่าใช้จ่ายหรือไม่? มากน้อยเท่าใด? และใครเป็นผู้ “ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม” ไปในรูปแบบใดแต่ละปี
คนที่รู้ดีส่วนใหญ่ก็มีเพียง พ่อแม่ ของคนที่ฝากลูกเข้าเป็นตำรวจ
รวมทั้ง ผบ.ตร. ผู้มีอำนาจอนุมัติแต่เพียงผู้เดียว ในทุกยุคสมัยเท่านั้น.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 22 ส.ค. 2565