7 ปีที่หลอกลวง เรื่อง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
7 ปีที่หลอกลวง เรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาที่ร้ายแรงอย่างยิ่งในเรื่อง กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะทางอาญา
ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่ไม่มีความเชื่อถือเชื่อมั่น ตั้งแต่ชั้นการแจ้งข้อหาจับกุมของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าหรือ ตามหมายจับของศาล ว่าเป็นการดำเนินการที่ยุติธรรม
หรือหากเป็นผู้เสียหาย โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นคนยากจนไปแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดอาญาในเรื่องใดแล้วจะได้ผลในการสืบจับตัวคนร้ายมารับโทษตามกฎหมายได้ง่ายๆ
รวมไปถึง การสั่งคดีของพนักงานอัยการ และลุกลามไปจนกระทั่ง การพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล
ถือเป็นสถานการณ์ที่อันตรายต่อความมั่นคงและการดำรงอยู่ของชาติในระยะยาวอย่างยิ่ง!
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เคยมีพระราชดำรัสที่สำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรมไว้ต่อคณะผู้พิพากษาที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ไว้ตอนหนึ่งว่า
“……ถ้าไม่รักษาความยุติธรรม ประชาชนและประเทศจะแย่ จะล่มจม เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีรากฐานจากความยุติธรรม ความยุติธรรมนั้นหมายความว่าทำอะไรที่ตรงไปตรงมา ทำอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ กฎหมายก็คือกฎเกณฑ์ที่คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้ โดยเฉพาะกฎหมายบ้านเมือง ถ้ากฎหมายบ้านเมืองไม่ได้มีและไม่ได้รักษา ประเทศชาติอยู่ไม่ได้….”
ถือเป็นพระราชดำรัสที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความยุติธรรมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งชาติบ้านเมืองไว้อย่างสมบูรณ์เห็นภาพชัดเจนอย่างยิ่ง
รวมทั้งเป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนแทบทุกวงการเรียกร้องกันมานานนับสิบปี ให้มีการ ปฏิรูประบบงานตำรวจและการสอบสวน ซึ่งเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่สำคัญของชาติอย่างจริงจังเสียที
แต่ก็ไม่เคยมีความสำเร็จใดๆ เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด
ในการสั่งให้หน่วยทหารทำการปฏิวัติยึดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557
โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงออกถึงการต่อต้านหรือคัดค้านก่อความรุนแรงอะไร
ก็ด้วยแทบทุกคนหวังอยู่ในใจลึกๆ ว่า จะได้เห็นการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรม ตามคำประกาศและสัญญาที่ร้องเพลงหรือพูดกรอกหูประชาชนอยู่แทบทุกวัน
เริ่มตั้งแต่การตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ขึ้นดำเนินการ มี ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นประธาน
สรุปรายงานเสนอให้ โอนตำรวจเฉพาะทาง 12 หน่วย ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบตามกฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจน้ำ ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว
เช่นเดียวกับการโอนตำรวจดับเพลิงไปให้กรุงเทพมหานคร และตำรวจกองทะเบียนอาวุธปืนรวมทั้งยานพาหนะไปให้กรมการปกครองและกรมการขนส่งทางบก
ให้ปฏิบัติและบริหารงานกันด้วยความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมดับเพลิงและวิศวกรรมการขนส่ง
แทนการแต่งตั้งผู้สำเร็จการศึกษาสาขารัฐประศาสนศาสตร์จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาที่ ถูกย้าย หรือ ผิดหวัง จากตำแหน่งอื่นไปให้ทำหน้าที่เหล่านี้ด้วยความจำใจเช่นในอดีตเมื่อครั้งอยู่กับองค์กรตำรวจ
ทำให้ปัจจุบันงานดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งงานทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก มีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนไม่มียศและระบบการปกครองแบบทหาร และมีความเป็นมืออาชีพและมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
รายงานและข้อเสนอให้โอนหน่วยตำรวจ 12 หน่วยไปให้กระทรวงที่รับผิดชอบของ สปช. เพื่อให้เป็นตำรวจในระบบพลเรือนไม่มียศตำรวจในระบบเดิมดังกล่าว
ถูกส่งถึงมือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้มติรับทราบส่งให้หน่วยเกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาดำเนินการรายงานผลให้ทราบโดยเร็วเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2558
แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีใครเคยได้ยินความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรีนั้นกันแต่อย่างใด
ส่วนเรื่อง การสอบสวน ก็ได้มีกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมขึ้น
มี นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน
ได้มีการศึกษาพิจารณาและสรุปรายงานให้มีการปฏิรูประบบงานที่สำคัญคือ
แยกเป็นสายงานออกจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม ไม่ให้หัวหน้าสถานีผู้ที่ส่วนใหญ่ไม่มีคุณวุฒิปริญญาทางกฎหมาย เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนอีกต่อไป
กำหนดให้พนักงานสอบสวนอาวุโสสูงสุดในสถานีทำหน้าที่หัวหน้า ควบคุมตรวจตราลงนามในหนังสือปะหน้าส่งสำนวนพร้อมความเห็นเสนอให้พนักงานอัยการ “สั่งฟ้อง” “สั่งไม่ฟ้อง” “งดสอบสวน” หรือ “ให้สอบสวนเพิ่มเติม” แทน
นอกจากนั้น ก็ให้อัยการพื้นที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ
หรือเมื่อมีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความหรือดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย
เป็นไปตามหลักสากลเช่นเดียวกับ “อัยการทั่วโลก” ที่ล้วนแต่มีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนทุกหน่วยงานด้วยกันทั้งสิ้น
เสนอให้นายกรัฐมนตรีผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป
แต่กลับไม่มีความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติหรือปฏิรูปตามข้อเสนอนั้นกันแต่อย่างใด
ฉะนั้น เมื่อมีคนได้ตั้งคำถามว่า 7 ปี ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยไปถึงไหน?
ก็ตอบได้ว่า ระยะแรกหลังการปฏิวัติยึดอำนาจ ก็ทำท่าจะดีมีความหวังระดับหนึ่ง
เหมือนขบวนรถไฟวิ่งออกจากหัวลำโพงไปเชียงใหม่ แต่พอมาถึงแค่รังสิต ไม่ทราบด้วยเหตุใดกลับวิ่งถอยหลังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชนสถานีหัวลำโพงเสียยับเยิน!
ไม่ว่าจะด้วยคำสั่ง คสช.115/57 ที่ ตำรวจผู้ใหญ่ ได้ “ฉวยโอกาส” เสนอหัวหน้าคณะปฏิวัติ ดึงอำนาจการทำความเห็นแย้งอัยการในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องของผู้ว่าราชการจังหวัด ไปให้ผู้บัญชาการ ตำรวจภาคซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนเกินในระบบตำรวจ มีนายพลตำรวจนั่งอยู่มากมายโดยไม่มีงานการทำเป็นชิ้นเป็นอันแทน!
มีการสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำความเห็นแย้งอัยการจนมั่วไปหมด!
คดีไหนแย้งไม่ได้ ก็เสนอให้ อัยการสูงสุดสั่งสอบเพิ่มเติมซึ่งไม่มีในกฎหมายบทหรือมาตราใด
ทำให้คดีที่ไม่มีพยานหลักฐานพอฟ้องไม่จบลงง่ายๆ เพียง เพื่อให้มีสถิติการแย้งเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อครั้งอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด!
นับเป็น ความวิบัติของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่สร้างปัญหาให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนอย่างร้ายแรงยิ่ง เนื่องจากการสอบสวนคดีที่ไม่มีพยานหลักฐานแม้แต่จะอัยการสั่งฟ้อง กลับไม่จบลงง่ายๆ
รวมไปถึงคำสั่ง คสช. ที่ 7/2559 ให้ยุบตำแหน่งและสายงานสอบสวนลงทั้งหมด สร้างความเสียหายต่อระบบงานสอบสวนของชาติอย่างร้ายแรงในปัจจุบัน
ตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนทั่วประเทศประมาณ 11,000 คน อยู่ในสภาพ เสียขวัญ กันกระเจิดกระเจิง
แทบทุกคนไม่มีใครหวังถึงการได้เลื่อนตำแหน่งมีความเจริญก้าวหน้าอะไรแม้กระทั่งในงานสอบสวนที่ทำมาแทบทั้งชีวิตเช่นอดีตอีกต่อไป
ในทุกวันนี้ มีแต่ความคิดในการทำงานแค่ ประคองตัว ให้รอดพ้นจากการถูก ผู้บังคับบัญชา หาเรื่องจับผิดทางวินัยด้วย ระเบียบและคำสั่งบ้าๆ บอๆ ที่ขยันออกกันมาสารพัดเท่านั้น!.