‘คำนูณ’ชี้ก้าวต่อไปของการปฏิรูปตำรวจตามรธน.ที่ทำได้ในไม่ช้าจี้นำร่างกฎหมายปฏิรูปตร.2ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้ในไม่ช้า!” มีเนื้อหาดังนี้
การที่นายกรัฐมนตรีลุกขึ้นประกาศกลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ว่าจะคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง และจะดำเนินการปฏิรูปตำรวจแน่นอน เป็นก้าวแรกของการปฏิรูปตำรวจในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน เพราะการปฏิรูปใด ๆ ซึ่งล้วนคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างนั้นจำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่และมั่นคงของผู้นำ การประกาศเจตจำนงต่อสาธารณะนอกจากคือการทำพันธะสัญญากับประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างกองหนุนสำคัญที่สุดในการฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป
ก้าวต่อไปที่จะทำได้ในไม่ช้าก็คือ…
คณะรัฐมนตรีส่งร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา
โดยระบุว่าเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 อันจะมีผลให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปตามวิธีพิเศษ คือพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นจากคณะกรรมการพิเศษที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วแต่งตั้งขึ้นตามบังคับมาตรา 260 โดยส่งมายังคณะรัฐมนตรีภายในกำหนด 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการแล้วได้ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขโดยนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายให้ดำเนินการปรับแก้ให้ครบวงจร ทั้งนี้หากจำเป็นจะต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบกันไปด้วยก็ได้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษขึ้นทำหน้าที่ดำเนินการ โดยมีท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์และดร.วิษณุ เครืองามเป็นรองประธาน ใช้เวลาประชุมสัปดาห์ละ 3 วันเกือบ 8 เดือนเต็มจึงบรรลุภารกิจส่งร่างกฎหมาย 2 ฉบับกลับมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ขณะนี้เท่าที่ทราบน่าจะอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ถามว่าสารัตถะของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา คืออะไร เป็นการปฏิรูปตรงไหน อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะได้อะไร ?
ขอตอบด้วยการสรุปภาพรวมด้วยภาษาชาวบ้าน
ประชาชนจะได้ประโยชน์รวม 6 กลุ่มประเด็นใหญ่ ๆ จากกการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับนี้
- ประชาชนจะได้ ‘ตำรวจอาชีพ’ ที่สามารถเติบโตในราชการได้ด้วยต้นทุนความรู้ความสามารถและผลงานเป็นหลักเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยต้นทุนอย่างอื่น โดยมีเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ละเอียดชัดเจนบัญญัติไว้ในกฎหมายหลัก และมีกลไกกำกับควบคุมการบริหารงานภายในองค์กรให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม
– กำหนดเกณฑ์ระยะเวลาขั้นต่ำของการอยู่ในแต่ละระดับตำแหน่ง
– ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งจริง ไม่นับเวลาทวีคูณ
– ระบบคะแนนประจำตัว 50-20-30
– เงื่อนไขการย้ายข้ามสายงาน
– เงื่อนไขให้ย้ายภายในจังหวัด/ภาค
– บทลงโทษผู้แทรกแซง
– ระบบคุณธรรม/ก.พ.ค.ตร.
ขอขยายความว่าร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเป็น ‘ระบบผสม’ ตามหลักที่รัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) วางไว้ กล่าวคือนายตำรวจแต่ละคนจะได้รับการประเมินเพื่อการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่โดยผสมผสานระหว่างหลักอาวุโส (50 %) หลักความรู้ความสามารถ (20 %) และหลักความพึงพอใจของประชาชน (30 %)
ในการแต่งตั้งโยกย้ายทุกตำแหน่งที่ว่างลงจะพิจารณาโดย ‘ระบบผสม’ ที่ประกอบด้วย 3 หลักนี้ทั้งหมด
ไม่ใช่ ‘ระบบแบ่งกอง’ ที่ใช้กันมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน คือในจำนวนตำแหน่งที่ว่างทั้งหมด ให้โยกย้ายแต่งตั้งตามหลักอาวุโสเพียง 33 % ของตำแหน่งที่ว่างลงนั้น ส่วนที่เหลืออีก 67 % ไม่จำเป็นต้องใช้หลักอาวุโส
ซึ่งส่วนที่ไม่ใช้หลักอาวุโสนี่แหละที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทุกปี
- ประชาชนจะได้กำลังพลตำรวจกลับคืนมาปฏิบัติภารกิจหลักคือป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเพิ่มขึ้นจนเต็มกรอบอัตรากำลังขั้นต่ำที่ตั้งเป้าหมายไว้ และการจัดสรรกำลังพลรวมทั้งงบประมาณจะได้รับการกำหนดให้จัดลงไปยังสถานีตำรวจ หรือโรงพัก และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นลำดับแรก และกำลังพลไม่ต้องลงทุนจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ทำงานเอง
– สถานีตำรวจ (โรงพัก) และบก.ภ.จ. เป็น first priority ทั้งด้านกำลังพลและงบประมาณ
– ถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้
– บรรจุเต็มกรอบอัตรากำลังภายใน 2 ปี
– ห้ามตั้งหน่วยงานใหม่ภายใน 10 ปี
– กำหนดเกณฑ์การอารักขาบุคคลสำคัญ
– ทบทวนอัตราที่ไปช่วยราชการภายนอก
– ให้อปท.สนับสนุนงบประมาณตรงไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่ได้
หมายความว่าเมื่อได้ตำรวจที่มีหลักประกันว่าไม่ต้องลงทุนด้วยทรัพย์สินอื่นนอกจากฝีมือและผลงานมาทำงาน ไม่ต้องวิ่งเต้น ตามข้อ 1 และมีอุปกรณ์ที่จำเป็นครบโดยไม่ต้องลงทุนซื้อเองหรือเปิดโอกาสให้ผู้ปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทนคนใดมาออกเงินซื้อให้ มีกำลังพลปฏิบัติราชการในโรงพักอย่างเพียงพอให้มีการหมุนเวียนกันได้ โดยเฉพาะในสายงานสอบสวน ตามข้อ 2 นี้แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นให้ข้าราชการตำรวจตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
นี่คือการแก้ปัญหาพื้นฐานที่จำเป็นที่สุด ที่จะเป็นการแก้ทุกข์ทั้ง 2 ด้าน คือ ทุกข์ของตำรวจ และทุกข์ของประชาชน
- ประชาชนจะได้พนักงานสอบสวนที่มีอิสระในการทำคดีและทำความเห็นทางคดี ไม่ขึ้นอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาทั่วไป มีผู้ช่วยพนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่สืบสวนเกี่ยวกับคดี โดยมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลภายในสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ ถือเป็นการวางหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับข้าราชการตำรวจในสายงานสอบสวนขึ้นมาเป็นครั้งแรก
- ประชาชนจะได้ระบบการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในคดีอุกฉกรรจ์และคดีสำคัญที่กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานอัยการที่อาจพิจารณาเข้ามาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนด้วยได้ตั้งแต่ต้น
– ให้มีตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานสอบสวน
– ถ้ามีกำลังพลเพียงพอ ให้ดำเนินการสอบสวนเป็นคณะ
– ให้สายงานอื่นต้องช่วยงานสอบสวน
– กำหนดระยะเวลาการส่งสำนวนให้อัยการมีเวลาทำงานเพียงพอก่อนครบกำหนดฝากขัง
- ประชาชนจะได้กระบวนการสอบสวนที่มีการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและของผู้ต้องหามากยิ่งขึ้น
– แสวงหาข้อเท็จจริงทุกด้าน มิใช่ปรักปรำ
– เกณฑ์การรับฟังพยานฝ่ายผู้ต้องหา
– ห้ามนำผู้ต้องหาแถลงข่าว
– ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น
- ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการประเมินความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจแต่ละหน่วยซึ่งจะแปรเป็นร้อยละ 30 ของคะแนนประจำตัวข้าราชการตำรวจทุกคนที่จะถูกใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนขั้นเงินเดือน รวมทั้งได้กลไกการตรวจสอบการทำงานของตำรวจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถจับตาตำรวจที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำความผิดต่อหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยมีคณะกรรมการพิจารณาที่มีองค์ประกอบมาจากบุคคลภายนอกองค์กรตำรวจด้วย
– สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินสำรวจภายใต้กรอบ 3 มิติ
– ระบบพิจารณาเรื่องร้องเรียน / ก.ร.ตร.
อนึ่ง ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 2 รอบในชั้นกฤษฎีกา โดยในรอบที่ 2 ได้นำความเห็นต่างจากหน่วยงานมาพิจารณาประกอบเป็นรายประเด็นด้วย
แน่นอนว่าสารัตถะโดยภาพรวมที่เล่าให้ฟังข้างต้นอาจยังไม่ได้รับความเห็นชอบทั้งหมดจากทุกฟากฝ่ายในสังคม แต่การนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาในฐานะร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปตามมาตรา 270 จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เวทีกรรมาธิการในวาระ 2 ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ตามสัดส่วนที่นั่ง จะเป็นสถานที่ถกหาสิ่งที่ดีที่สุดร่วมกันผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมตามมาตรา 77 ผลผลิตของร่างกฎหมายที่จะผ่านวาระ 3 ออกมาน่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
นี่คือก้าวต่อไปที่จะทำได้ในไม่ช้าสำหรับการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4)