กระบวนการยุติธรรมที่ตรวจสอบได้เท่านั้น จึงจะทำให้ประชาชนและต่างชาติเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่น-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กระบวนการยุติธรรมที่ตรวจสอบได้เท่านั้น
จึงจะทำให้ประชาชนและต่างชาติเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่น
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณีนักการทูต 12 ประเทศ แห่กันไปสังเกตการณ์การสอบสวนคดีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกตำรวจออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดทางอาญา 3 ข้อหาตามที่มีผู้แจ้งความกล่าวโทษ ตั้งแต่ปี 2558 ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อหลายวันก่อน
ซึ่ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกว่า ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย เป็นการกระทำที่เสียมารยาทอย่างยิ่ง!
ต่อมาได้มีการเรียกตัวแทนทูตทั้งหมดมาฟังคำชี้แจงทำความเข้าใจที่กระทรวงการต่างประเทศ
ไม่ทราบว่าพูดกันรู้เรื่องหรือไม่อย่างไร? แต่สุดท้าย กลายเป็นว่า สถานทูตโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ว่า การไปสังเกตการณ์ดังกล่าว เป็นมาตรฐานการปฏิบัติของทูตทั่วไป ที่หากมีข้อสงสัยในเรื่องอะไรในประเทศที่ทำหน้าที่ ก็สามารถส่งคนไปหาข้อมูลด้วยตัวเองเพื่อความถูกต้องแน่ใจได้ ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐไทยกล่าวหาแต่อย่างใด?
เรื่องนี้จะไม่ให้นานาชาติเขาสงสัยกันได้อย่างไร เพราะคดีมีการแจ้งความกล่าวโทษตั้งปี 2558 ในช่วงที่ยังมีการประกาศใช้ กฎอัยการศึก อยู่ขณะนั้นด้วยซ้ำ
แต่เหตุใด ตำรวจจึงปล่อยให้คดีล่วงเลยมา เกือบสี่ปี?
ถ้าการสอบสวนมีหลักฐานว่าเขาทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ทำไมจึงไม่รีบออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อหา ภายในเวลาไม่เกินสองสามอาทิตย์เท่านั้น
เหตุผลที่ตำรวจอ้างว่า มีปัญหาการบริหารงานสอบสวนภายในสถานี? เนื่องจากมีการเปลี่ยนพนักงานสอบสวนกันหลายคน ทำให้เกิดความสับสนต้องล่าช้ามาจนป่านนี้นั้น ฟังขึ้นหรือไม่?
แล้วยังมีคดีอีกมากมายเพียงใดที่ตำรวจสามารถเก็บดองกันไว้ได้นานหลายปีเช่นนี้ และจะให้ประชาชนและประเทศต่างๆ เขามีความเชื่อถือเชื่อมั่นต่อระบบงานสอบสวนของไทยได้อย่างไร?
เราต้องยอมรับกันว่า แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น “สหภาพเมียนมา” ก็ยังไม่เชื่อมั่น
จะเห็นได้จากความพยายามในการที่รัฐบาลเขาได้เข้าช่วยเหลือและจัดหาทนายในการต่อสู้คดีที่ สองแรงงานชาวพม่า ถูกจับข้อหาฆ่าข่มขืนแหม่มสาวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าเป็นข่าวครึกโครมเมื่อหลายปีก่อน
และแค่นักการทูตต่างชาติเขานัดกันไปสังเกตการณ์คดีที่สงสัย ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรวบรวมพยานหลักฐานอะไร ถึงขนาดไปกล่าวหาเขาว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยได้อย่างไร?
ปัจจุบันใครๆ ไม่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติต่างก็รู้ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาร้ายแรงที่สุดอยู่ใน “ชั้นสอบสวน”
ตำรวจจะ “รับ” หรือ “ไม่รับคดี” ดำเนินการสอบสวนกันหรือไม่? จะออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหากัน “เร็ว” หรือ “ช้า” เพียงใด หรือไม่เรียก รวมทั้งจะถามและบันทึกปากคำบุคคลไว้ในสำนวนสรุปการสอบสวนหรือ “เลือกให้ข่าวหรือไม่ให้ข่าวต่อสื่อมวลชน” เพื่อหวังให้เกิดผลแบบใดก็ได้!
เนื่องจากเป็นการปฏิบัติราชการที่ไร้การตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนอย่างสิ้นเชิง!
ถือเป็น “ระบบการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลังอย่างยิ่ง” และส่งผลกระทบต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมของชาติรวมทั้งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนอย่างร้ายแรง เมื่อมองย้อนไปในอดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา การสอบสวนความผิดอาญาของไทยล้าหลังถึงขนาดใช้หลักคิดว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องสงสัยเป็น กรรม หรือ วัตถุแห่งการซักฟอก เมื่อมีการกล่าวหา ก็จะถูกจับไปสอบสวนด้วยวิธีการทรมานต่างๆ เพื่อให้รับสารภาพ หรือ พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน!
นับเป็นวิธีการค้นหาความจริงทางอาญาที่ป่าเถื่อนโหดร้ายไม่เป็นที่ยอมรับของชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายกับสยามประเทศมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
ประเทศอังกฤษหรือสหภาพราชอาณาจักรนับเป็นชาติแรกที่ได้มีการเรียกร้องขอ สิทธิพิเศษทางกฎหมายผ่านการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ลงนามโดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียกษัตริย์แห่งอังกฤษใน พ.ศ.2398 หรือที่เรียกว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritorial right) เมื่อมีการกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ไม่ขอเข้ารับการไต่สวนหรือสอบสวนรวมทั้งลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ขอให้คนชาติเดียวกันชำระความเอง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาติมหาอำนาจตะวันตกเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นทุกขณะ พระองค์เกรงว่า หากไม่มีการปฏิรูปการปกครองประเทศให้ทันสมัยเช่นนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม โดยเร็วแล้ว อาจเป็นเหตุให้ต่างชาติโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครองเป็นอาณานิคมเช่น พม่า ที่เพิ่งถูกอังกฤษเข้ายึดครองใน พ.ศ.2429 ได้
เป็นที่มาของการปฏิรูประบบการปกครองประเทศครั้งใหญ่ ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมได้เปลี่ยนหลักคิดในการสอบสวนแบบ จารีตนครบาล ที่ป่าเถื่อนมาเป็นแบบตะวันตกที่ยึดหลักว่า ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือ Presumption of Innocence ไว้ก่อน
ได้มีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสยามประเทศในยุคนั้นพัฒนาขึ้นระดับหนึ่ง โดยการสอบสวนในส่วนภูมิภาคให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 ซึ่งได้ใช้เรื่อยมาจน พ.ศ.2478 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน จึงได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทน โดย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ออกข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการสอบสวนให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติ
กำหนดให้ฝ่ายปกครองคือกระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการและนายอำเภอเป็น “หัวหน้าพนักงานสอบสวนจังหวัดและอำเภอ” รับผิดชอบการสอบสวนในส่วนภูมิภาคทั้งหมด สำหรับตำรวจให้มีอำนาจสอบสวนเพียงในเขตพระนครและธนบุรีตาม ป.วิ อาญา มาตรา 18
ส่วนอัยการเป็นกรมหนึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบงานสอบสวนให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
งานสอบสวนคดีอาญาส่วนภูมิภาคในอดีตจึงเป็นระบบพลเรือน ไม่ใช่ข้าราชการที่มีชั้นมียศและวัฒนธรรมการทำงานแบบทหาร เช่น ตำรวจแห่งชาติปัจจุบันที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะ “ถูก” หรือ “ผิด” เช่น ไม่ให้รับคำร้องทุกข์ออกเลขคดีกันง่ายๆ หรือกรณีเมาแล้วขับรถชนตาย ก็ให้แจ้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่น”! แทนกระทำโดยประมาท?
นับว่า แต่เริ่มแรก ป.วิ อาญา ได้สร้างระบบงานสอบสวนแยกจากตำรวจ ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีชั้นยศแบบทหาร และมีระบบตรวจสอบโดยพนักงานฝ่ายปกครองและอัยการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในระดับหนึ่ง
แต่ต่อมาระบบงานสอบสวนได้ถูกทำลายลงด้วยอำนาจเผด็จการช่วงปี พ.ศ.2500 และ พ.ศ.2506 รวมทั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยในเวลาต่อมาเป็นระยะๆ
จนทำให้งานสอบสวนปัจจุบันอยู่ในมือตำรวจผู้มีชั้นยศและระบบการบังคับบัญชาแบบทหารเพียงฝ่ายเดียว โดยขาดการตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง!
ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจึงได้รับความเดือดร้อนกันแสนสาหัสและขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงและนำไปสู่ความขัดแย้งกันมากมายในปัจจุบัน.
ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ Monday, April 15, 2019