‘เสี่ยคลั่ง’ ยิงตำรวจตาย ชอบยิงปืนในบ้าน ‘ตำรวจผู้ใหญ่’ บอก ‘ไม่ผิดกฎหมาย’ จริงหรือ?

ยุติธรรมวิวัฒน์

“เสี่ยคลั่ง” ยิงตำรวจตาย ชอบยิงปืนในบ้าน “ตำรวจผู้ใหญ่” บอก “ไม่ผิดกฎหมาย” จริงหรือ?

 

                                                                                          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

สังคมไทยในปัจจุบันนั้นมีปัญหาเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยที่ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้

คนชั่วทั้งมีและไม่มีเครื่องแบบ กระทำการละเมิดกฎหมายกันจนร่ำรวย แต่สร้างความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสมากมาย

เมื่อไปแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจ พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่กระวีกระวาดรวบรวมพยานหลักฐานนำตัวผู้กระทำผิดส่งให้อัยการฟ้องศาลลงโทษตามกฎหมาย

สังคมไทยจึงอยู่ในสภาพไม่ต่างจาก อนาธิปไตย!

คือเป็นสภาวะที่ คล้ายไม่มีกฎหมาย

รัฐควบคุมคนชั่วไม่ให้กระทำผิดอาญาไม่ได้ ส่งผลทำให้สังคมระส่ำระสายเกิดความวุ่นวายและอาชญากรรมร้ายในทุกพื้นที่ไม่หยุดหย่อน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ เสี่ยใหญ่จิตใจไม่ปกติในพื้นที่ สน.ท่าข้าม ได้ใช้อาวุธปืนยิงขู่คนในครอบครัวและจับลูกบางคนเป็นตัวประกัน

และเมื่อตำรวจพยายามเข้าเจรจาระงับเหตุร้าย กลับถูกเสี่ยใหญ่ยิงสวนออกมาถูกตำรวจระดับรองผู้กำกับเสียชีวิตทันที

หลังเกิดเหตุได้มีนักข่าวถามตำรวจผู้ใหญ่ถึงการปฏิบัติงาน รวมไปถึง ปัญหาการที่เสี่ยชอบยิงปืนขู่คนในบ้านว่า ทำไมถึงไม่จัดการดำเนินคดีให้เข็ดหลาบมาก่อนนั้น

นายพลตำรวจ บอกว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะ การยิงปืนในบ้านไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร!

นับเป็นคำตอบที่น่าตกใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคำพูดของบุคคลที่ราชการไทยเรียกกันว่า

“ตำรวจชั้นผู้ใหญ่”

ถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่ากฎหมายอาญาของไทยมีปัญหาเรื่องการยิงปืนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

การยิงปืนในบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ผิดกฎหมายตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลพูดต่อสื่อมวลชนจริงหรือ?

ถ้าอย่างนั้น การยิงปืนในห้องพักคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ในบ้านจัดสรร หรืออาคารสถานที่ส่วนบุคคล ทุกคนก็สามารถทำได้ ไม่มีความผิดกฎหมายข้อหาใดด้วยเช่นกัน!

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 บัญญัติว่า “ผู้ใดยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้าน หรือชุมชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ในข้อเท็จจริง บ้านทุกหลังย่อมตั้งอยู่ในเขตเมือง หมู่บ้านหรือชุมชนแห่งหนึ่งแห่งใดทั้งสิ้น

 ฉะนั้น การยิงปืนในอาคารหรือบ้านพักอาศัยในทุกสถานที่ก็ย่อมถือเป็นการยิงปืนในเมืองหรือหมู่บ้านด้วย

เมื่อเป็นการยิงที่ไม่มีเหตุอันสมควร เช่น การซ้อมยิงในสนามยิงปืนตามกฎหมาย การป้องกันตัวจากคนหรือสัตว์ร้ายที่กำลังก่ออันตรายที่ใกล้จะถึงอย่างหนึ่งอย่างใด

ย่อมถือเป็นการยิงปืนในเมืองหรือหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีความผิดกฎหมายอาญามาตรา 376 ทั้งสิ้น

แม้จะมีโทษต่ำจำคุกไม่เกินสิบห้าวัน

แต่ถ้าตำรวจสนใจในการดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างน้อยเสี่ยใหญ่ก็ต้องถูกศาลพิพากษาลงโทษด้วยการปรับเงินตามจำนวนที่กำหนด

ถ้าทำหลายครั้ง และมีการสอบสวนดำเนินคดีเพิ่มโทษทุกกรณี ในที่สุดศาลก็อาจลงโทษถึงจำคุกโดยไม่รอลงอาญาได้

หรือว่าสามารถขอให้ศาลสั่งใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย ห้ามการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ครอบครัวและสังคมไม่ปลอดภัย

รวมไปถึงการเสนอให้กระทรวงมหาดไทยนายทะเบียนถอนใบอนุญาตการมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองได้

ซึ่งจะทำให้เสี่ยใหญ่ ไม่มีปืนอยู่ในความครอบครองตามกฎหมาย หรือ ไม่กล้ายิง ขู่คน หรือแม้กระทั่งยิงเล่นๆ เช่นที่กระทำแทบจะเป็นปกติอยู่ตลอดมา

ปัญหาสำคัญในการรักษากฎหมายประเทศไทยปัจจุบันก็คือ การที่ตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับที่เรียกกันว่า หัวหน้าพนักงานสอบสวน ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย!

หลายคนกล้าทำกันแม้กระทั่งสั่งให้พนักงานสอบสวน ไม่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ จากประชาชนผู้เป็นพลเมืองดีที่แจ้งว่า ได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นไม่ว่าข้อหาใดง่ายๆ

พนักงานสอบสวนคนใดที่รีบรับคำร้องทุกข์จากประชาชนตามกฎหมาย จะถูกเจ้านายเรียกไปด่าว่าเป็นตัวก่อปัญหา ทำให้ผู้บังคับบัญชาถูกเพ่งเล็งว่าไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่รับผิดชอบได้

ขอให้ช่วยกัน ป้องกันตัวเลข ด้วยการไม่รับหรือประวิงการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษจากผู้เสียหาย เพื่อทำให้สถิติคดีในแต่ละเดือนแต่ละปีไม่สูงขึ้น!

เช่นผู้เสียหายบางรายไปแจ้งความร้องทุกข์ว่ารถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อหายเพราะมีคนร้ายมาลักเอาไป

พนักงานสอบสวนก็จะ ประวิงเวลา ด้วยการอ้างว่าไม่สามารถร้องทุกข์ได้ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ขอให้กลับไปติดต่อบริษัทผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้ทำหนังสือมอบอำนาจมา

ซ้ำตำรวจผู้ใหญ่บางคนยังเข้าใจโดยสุจริตคิดว่าผู้ครอบครองทรัพย์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะสามารถร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนได้ก็มี

ตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่รู้กฎหมายและมีนิสัยใช้อำนาจสั่งแบบทหารพวกนี้ เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง

พนักงานสอบสวนจะรีบสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยไม่ชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้ ก็ทำไม่ได้

ทำตามกฎหมาย แต่ขัดใจเจ้านาย ก็ อยู่ไม่ได้

ส่วนใหญ่จึงสมัครใจที่จะทำผิดกฎหมาย เพื่อให้ชีวิตราชการของตนได้อยู่รอด!

จึงไม่น่าแปลกใจที่พบในการสำรวจของหน่วยงานตำรวจเองปี พ.ศ.2566 ว่า ในจำนวนพนักงานสอบสวนทั่วประเทศประมาณ 12,000 คน นั้น มี ถึง 2,819 คน ที่ไม่มีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบเลยแม้แต่คดีเดียว

ส่วนผู้ที่มีคดีรับผิดชอบ ต่ำกว่า 35 คดี มีถึง 2,603 คน

ข้อมูลนี้ตีความได้เป็นสองนัยคือ ไม่มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 2,819 คน สอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายเลย

หรือ ข้อเท็จจริงเป็นว่า มีประชาชนผู้เสียหายเดือดร้อนไปแจ้งความร้องทุกข์มากมาย แต่พนักงานสอบสวน 2,819 คนเหล่านี้ไม่ได้มีการสอบสวนตามกฎหมายให้ประชาชนเลยแม้แต่รายเดียว!.

ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 29 ก.ค. 2567

About The Author