ตำรวจไทยเป็นทั้ง ‘ผู้รักษากฎหมาย’ และ ‘คนร้าย’ ในร่างเดียวกัน!


พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หาความขัดแย้ง ของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี กรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา โดยมอบหมายให้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน
ผลการตรวจสอบก็เป็นไปตามคาด คือ ไม่มีอะไรในก่อไผ่ นอกจากหน่อไม้!
คือได้ความสรุปจากการแถลงของนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีว่า มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นจริงและมีมานานมากมายหลายระดับ ส่วนเรื่องใครทำความผิดอาญาหรือวินัยอะไร ก็ว่าไปตามกฎหมาย!
ถือเป็นผลการตรวจสอบและคำตอบแบบ กำปั้นทุบดิน คือ ทุบลงไปแล้วโดนแน่นอน
เพราะใครๆ ก็รู้ว่าที่ไหนๆ ในทุกองค์กรก็ล้วนมีความขัดแย้งกันทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการชุดใดสอบให้เสียสมองเสียเวลาประชาชนและสื่อมวลชนต้องไปให้ความสนใจอะไร
น่าเสียดายที่นายฉัตรชัยไม่ได้ใช้โอกาสนี้เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่าควรจัดการหรือปฏิรูปองค์กรตำรวจเป็นครั้งที่ 500 อย่างไร เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งที่ผิดกฎหมายในองค์กรตำรวจจนนำไปสู่ความวุ่นวายอับอายขายหน้าประชาชนไปทั่วโลกเช่นนี้
รวมทั้งเสนอให้มีการกำหนดมาตรการหรือต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอะไรในการป้องกันมิให้ตำรวจผู้ใหญ่ทุกระดับมีโอกาสกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าการ “รับส่วยสินบน” หรือจนกระทั่งบางคนกลายเป็นโจรร้ายร่วมมือกับอาชญากรเสียเองกันมากมายเช่นปัจจุบัน
ส่วนประเด็นปัญหาที่สื่อมวลชนและประชาชนสนใจอยู่ขณะนี้ก็คือ คำสั่งของ รรท.ผบ.ตร.ที่ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรงนั้น ชอบตามกฎหมายหรือไม่?
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้มีเงื่อนแง่อะไรที่สลับซับซ้อนอย่างที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกต จนเป็นเหตุให้เกิดการเข้าใจผิดตีความกันจนวุ่นวายแต่อย่างใด!
เพราะเป็นการใช้อำนาจตามปกติของ ผบ.ตร.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 131 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า
“ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือ ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดประมาทหรือลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 มีอำนาจ สั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัยได้……….”
หมายความว่า การสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ใช่การลงโทษทางวินัย
เป็นเพียงมาตรการทางการบริหารในการป้องกันมิให้ตำรวจทั้งผู้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงโดยเฉพาะผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา มีสถานะเป็นตำรวจผู้รักษากฎหมายชั่วคราวระหว่างรอผลการสอบสวนทางวินัยที่จะต้องมีคำสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการไป โดยไม่จำเป็นต้องรอผลให้คดีอาญาถึงที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี
เพราะการกระทำความผิดอาญาจนถูกออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหาหรือว่าศาลออกหมายจับ นั่นหมายถึงการมีพยานหลักฐานจากการสอบสวนตามสมควรน่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิดข้อกล่าวหาตามที่ ป.วิ อาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 124 วรรคสอง
โดยหลักการถือว่ามีพยานหลักฐานเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงที่จะต้องถูกลงโทษไล่ออกปลดออกจากราชการไปพร้อมกัน
แต่ถ้าเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงเรื่องเดียวไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา เช่น ท้าชกกับผู้บังคับบัญชา หรือว่าประมาทเลินเล่อปล่อยให้คนร้ายมาลักเรือน้ำมันของกลางไปขาย โดยไม่ได้รู้เป็นใจ ฯลฯ
หากจะสั่งให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน มาตรา 120 วรรคท้าย บัญญัติให้ “ต้องทำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย” และระหว่างนั้นจะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใดให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนมิได้ เช่น ไม่สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน อ้างเป็นเหตุไม่เลื่อนตำแหน่ง หรือสั่งย้ายเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงาน ฯลฯ
เป็นการสร้างหลักประกันมิให้ผู้บังคับบัญชาผู้ลุแก่อำนาจบางคนที่มีพฤติกรรมเป็นโจรร้ายสามารถกลั่นแกล้งตำรวจดีด้วยการหาเรื่องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย แล้วสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ง่ายๆ
จึงกำหนดให้ต้องมีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสียก่อน
การที่ตำรวจทำผิดทางวินัยโดยไม่ถูกดำเนินคดีอาญาถือเป็นปัญหาในหน่วยงาน ไม่ได้กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสังคมโดยตรง
การรอเวลาให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นไม่ว่าจะเป็นหนึ่งหรือสองเดือน จึงไม่ได้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประชาชนอะไร
แต่ในกรณีที่ตำรวจตกเป็นผู้ต้องคดีอาญา นั่นหมายความว่าได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง มีโทษถึงจำคุกหรือบางฐานความผิดโทษสูงถึงประหารชีวิตด้วยซ้ำ!
โดยทั่วไปตำรวจไทยมักเรียกประชาชนโดยเฉพาะคนจนที่เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาทุกข้อหากันว่า “คนร้าย” บางคนชอบนำตัวมานั่งถามนำไปออกสื่อประจานกันก็มากมาย
ฉะนั้น เมื่อตำรวจเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาไม่ว่าระดับใด ถูกออกหมายหรือศาลออกหมายจับ ประชาชนจึงสามารถเรียกว่า “คนร้าย” ได้เช่นกัน
หลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีที่สำคัญก็คือ จะปล่อยให้ข้าราชการของรัฐทุกคนเป็นคนร้ายไปพร้อมกันไม่ได้
โดยเฉพาะตำรวจผู้รักษากฎหมายมีหน้าที่ตรวจตราป้องกันอาชญากรรมจับกุมคนร้าย ซ้ำระหว่างปฏิบัติหน้าที่สามารถพกพาอาวุธปืนทั้งของราชการและส่วนตัวได้
ทั้งตำรวจด้วยกันเองและประชาชนจะแยกแยะไว้ใจ บุคคลมียศที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี เหล่านี้ได้อย่างไร
ผู้เสียหายบางคนถูกตำรวจที่เป็นผู้ต้องหาแต่งเครื่องแบบพกปืนพาสมัครพรรคพวกไปนั่งอยู่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน มารอกราบกรานขอร้องให้แก้ไขคำให้การที่กล่าวหาไว้จนทำให้ถูกดำเนินคดีก็มีมากมาย
มาตรการในการสั่งให้ตำรวจผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาพักราชการหรือออกจากราชการไว้ก่อนด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการชุดใด จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องกระทำเพื่อความคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะและประชาชนโดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้เสียหายในทุกคดี
ต่างไปจากกรณีทำผิดวินัยร้ายแรงเรื่องเดียวโดยไม่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดอาญาต่อรัฐและประชาชน
เรื่องนี้ถ้ากฤษฎีกาไม่ งง จนขนาดทำเป็นข้อสังเกตส่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่มีปัญหาประชาชนและสื่อมวลชนต้องตีความให้กันวุ่นวายแต่อย่างใด
ปัญหาที่นายกรัฐมนตรีและสังคมควรสนใจก็คือ ยังมีตำรวจผู้ใหญ่อีกจำนวนมากที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรง
แต่กลับไม่ได้มีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือแม้แต่พักราชการแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นคดี “เป้รักผู้การ 140 ล้าน”
หรือคดีตำรวจสระแก้ว ล่ามโซ่เอาถุงคลุมหัว เปิดแอร์ทรมานลุงเปี๊ยก ให้รับสารภาพ และอีกมากมาย
รัฐบาลจะปล่อยให้บุคคลผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐให้เป็นตำรวจทำหน้าที่รักษากฎหมาย เป็น “คนร้าย”
ในร่างเดียวกันเช่นทุกวันนี้ไปอีกนานเท่าใด?.
ที่มา:นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ : เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ ฉบับวันที่ 24มิ.ย.2567