‘การปกปิด’ ‘ไม่เปิดเผยพยานหลักฐาน’  เป็น ‘การสอบสวนที่ผิดกฎหมาย’ อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี

ยุติธรรมวิวัฒน์

“การปกปิด” “ไม่เปิดเผยพยานหลักฐาน”  เป็น “การสอบสวนที่ผิดกฎหมาย” อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี

 

                                                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) เป็นกฎหมายที่บัญญัติวางหลักเกณฑ์  ขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งในศาล ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้พิพากษา คู่ความ ทนายความ บุคคลที่มีส่วนได้-เสียหรือเกี่ยวข้องกับคดีความทั้งหลาย ตลอดจนบุคคลที่ต้องใช้สิทธิทางศาลต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการนั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) เป็นกฎหมายที่บัญญัติวางหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งในชั้นศาลและชั้นเจ้าพนักงาน ซึ่งมีทั้งพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการนั้น

กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเรียกกันโดยทั่วไปว่า “กฎหมายวิธีสบัญญัติ” หรือกฎหมายในทางปฏิบัตินั่นเอง

สำหรับในเรื่องของพยานหลักฐานนั้น ทั้ง ป.วิ.แพ่ง และ ป.วิ.อาญา ต่างก็มิได้บัญญัติให้ความหมายหรือคำจำกัดความว่า “พยานหลักฐาน” หมายถึงสิ่งใดหรือคืออะไร แต่เมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 84, 84/1 และมาตรา 85 แห่ง ป.วิ.แพ่ง และบทบัญญัติในมาตรา 131 แห่ง ป.วิ.อาญา แล้ว ก็อาจให้ความหมายได้ว่า

“พยานหลักฐาน” คือ “สิ่งใดๆ ที่แสดงให้เห็นหรือทราบข้อเท็จจริงใดข้อเท็จจริงหนึ่ง  หรือพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวอ้างหรือกล่าวหากันนั้นเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จ” ซึ่งความหมายนั้นเป็นที่รับรู้และยอมรับของผู้ใช้กฎหมายทุกคน

แม้กฎหมายนั้นจะมิได้ให้ความหมายของพยานหลักฐานไว้ แต่ก็สามารถที่จะแยกหรือจำแนกสิ่งใดๆ ให้เป็นพยานหลักฐานได้รวม 4 ชนิดด้วยกัน คือ พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานผู้เชี่ยวชาญ หรือที่เรียกกันว่า “พยานความเห็น” ซึ่งพยานหลักฐานแต่ละชนิดนั้นต่างก็มีลักษณะและคุณสมบัติของตัวแตกต่างกันไป

จากความหมายของพยานหลักฐานเช่นนั้น  แสดงว่าพยานหลักฐานกับข้อเท็จจริงเป็นสิ่งคู่กัน กล่าวคือ ในทางคดีความ เมื่อมีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงก็ย่อมต้องมีการกล่าวถึงพยานหลักฐาน และเมื่อมีการกล่าวถึงพยานหลักฐาน  ก็ย่อมต้องมีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเสมอ (พยานหลักฐานเท็จ ข้อเท็จจริงก็เท็จ ไม่มีพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงก็มีไม่ได้)

มาตรา 134 แห่ง ป.วิ.อาญา มีความว่า

“เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด  แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ

การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น

ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้

เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับ ฯลฯ……..

ความทั้ง 5 วรรคในมาตรา 134 นั้น ได้ถูกบัญญัติขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2547 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547)  โดยความเดิมที่มีอยู่เพียงวรรคเดียวได้ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 241 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม” (“ความเป็นธรรม” หมายถึง ความถูกต้อง เหมาะสม พอเหมาะ พอดี หรือพอควร”)

ซึ่งการที่จะให้ “ความเป็นธรรม” นั้นได้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา มาตรา 134 แห่ง ป.วิ.อาญา จึงได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์  ขั้นตอน และวิธีการที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาไว้อย่างชัดแจ้งและเคร่งครัด ดังความที่ปรากฏอยู่ในมาตรานั้น

ความในวรรคหนึ่งของมาตรา 134 ที่ว่า “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด” ย่อมหมายถึงข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐาน เพราะ “พยานหลักฐาน” คือ สิ่งใดๆ ที่แสดงให้เห็นหรือทราบข้อเท็จจริงใดข้อเท็จจริงหนึ่ง

ส่วน “ข้อหา” นั้น ก็คือข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นการกระทำอันมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ข้อหามีลักษณะเป็น “นามธรรม” ที่เข้ากันได้กับ ข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานซึ่งมีลักษณะเป็น “รูปธรรม” คือรู้สึกเห็นภาพนั้นได้

เช่น ข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานว่า  “ในเวลาค่ำของวันที่ 6 กันยายน 2566 นายหน่อง (ผู้ต้องหา) ได้ใช้อาวุธปืนพกชนิดกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. ยิง พ.ต.ต.ศิวกร ในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านกำนันนก ท่ามกลางฝูงตำรวจนับสิบคน และ พ.ต.ต.ศิวกรได้ถึงแก่ความตายจากการถูกยิงในเวลาต่อมาของคืนนั้น”

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว “ข้อหา” ตามข้อเท็จจริงนั้นก็คือ “ฆ่าผู้อื่น” ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ในมาตรา 288

จากความที่ได้กล่าวมานั้น ย่อมสรุปได้ว่า ข้อหานั้นเกิดมาจากข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงนั้นเกิดมาจากพยานหลักฐาน และอาจสรุปต่อไปได้ว่าข้อหานั้นมีที่มาจากพยานหลักฐาน ซึ่งข้อสรุปนั้นก็สอดคล้องกับความที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 134 ที่ว่า “การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น”

และ จากความในวรรคสองนั้นเอง ได้แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า พนักงานสอบสวนต้องมีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้กระทำผิดตามข้อหานั้นอยู่ก่อนแล้ว  คือต้องมีอยู่ก่อนที่จะแจ้งข้อหา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ถ้าพนักงานสอบสวนยังไม่มีพยานหลักฐานเช่นว่านั้น พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาไม่ได้

และจากความในวรรคสองอีกนั่นเอง หากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาก่อนแล้วค่อยไปแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานภายหลัง การสอบสวนนั้นย่อมเป็นการสอบสวนที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

ป.วิ.อาญา มาตรา 134 วรรคสี่ บัญญัติว่า “พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้”

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องกระทำอยู่ 2 ประการคือ 1.ให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหา และ 2.ให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหาเอง

การแก้ข้อหานั้น จะกระทำได้ก็แต่โดยการ “ยกข้อต่อสู้” หรือข้อโต้แย้งขึ้น (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 ประกอบกับ ป.วิ.อาญา มาตรา 15) ฉะนั้น  การให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะ “แก้ข้อหา” ก็คือ การให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะ “ยกข้อต่อสู้” นั่นเอง

การต่อสู้ของผู้ต้องหาย่อมหมายถึงการไม่ยอมรับหรือโต้แย้งว่า ตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาและข้อหาที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ทราบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงและข้อหาดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่เกิดและมีที่มาจาก “พยานหลักฐาน”

เมื่อพยานหลักฐานกับข้อเท็จจริงและข้อหาเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน ฉะนั้น  หากพยานหลักฐานเป็นสิ่งที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อเท็จจริงกับข้อหาก็ย่อมเป็นสิ่งที่แท้จริงและถูกต้อง เฉกเช่นเดียวกัน หากพยานหลักฐานนั้นเป็นเท็จ ข้อเท็จจริงและข้อหาก็ย่อมเป็นเท็จและไม่ถูกต้อง

การที่ผู้ต้องหาโต้แย้งหรือไม่ยอมรับว่าตนเป็นผู้กระทำผิดตามข้อเท็จจริงและข้อหาที่ถูกกล่าวหานั้น ก็เท่ากับโต้แย้งว่าพยานหลักฐานนั้นเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งการโต้แย้งเช่นว่านั้นจะเกิดเป็นผลได้ก็ต่อเมื่อผู้ต้องหาได้ทราบแล้วว่าพยานหลักฐานนั้นคืออะไร หรือสิ่งใด 

ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ข้อต่อสู้ก็อาจเกิดขึ้นได้ต่างๆ นานา เช่น พยานหลักฐานนั้นเป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ นำมารับฟังไม่ได้ หรือพนักงานสอบสวนแปลความหมายหรือตีความพยานหลักฐานนั้นผิดไป เป็นต้น

ส่วน “ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ต้องหาเองนั้น” ก็คือ ข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลประกอบข้อต่อสู้ หรือที่ ป.วิ.แพ่ง เรียกว่า “ข้อเถียง” เช่น ที่ผู้ต้องหายกข้อต่อสู้ขึ้นว่าพยานหลักฐานนั้นเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้อง ก็ต้องให้เหตุผลหรือคำอธิบายให้ได้ว่าพยานหลักฐานนั้นมันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นต้น ซึ่งเหตุผลนั้นเป็นข้อเท็จจริงเพื่อการหักล้างข้อหาหรือพยานหลักฐาน

ฉะนั้น การที่จะถือได้ว่าเป็นการให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ต้องหาเองได้นั้น พนักงานสอบสวนต้องให้ผู้ต้องหาได้ทราบถึงพยานหลักฐานอันเป็นที่มาของข้อหาด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า บทบัญญัติใน มาตรา 134 วรรคสี่ นั้น  เป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ทราบถึงพยานหลักฐานนั้น

เมื่อการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบได้เกิดขึ้นในทันทีเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด” แล้วตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 134 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.อาญา  ดังนั้น การแจ้งให้ผู้ต้องหาได้ทราบถึงพยานหลักฐานอันที่มาของข้อหานั้น ก็ต้องเกิดขึ้นในทันทีเมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแล้ว เพราะถ้าผู้ต้องหาไม่ได้ทราบถึงพยานหลักฐานในเวลานั้น ก็ย่อมจะไม่มีโอกาสที่จะแก้ข้อหาได้ ซึ่งอาจ กล่าวโดยสรุปได้ว่า การแจ้งข้อเท็จจริงฯ การแจ้งข้อหา  และการแจ้งให้ผู้ต้องได้ทราบถึงพยานหลักฐาน ต้องเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำแบบพิมพ์ “บันทึกคำให้การผู้ต้องหา” (แบบ ส.56-5) ไว้ให้สำหรับพนักงานสอบสวนใช้ ซึ่งแบบพิมพ์นั้นเป็นแบบที่รองรับบทบัญญัติในมาตรา 134 แห่ง ป.วิ.อาญา อยู่ในแบบพิมพ์บันทึกคำให้การผู้ต้องหาด้วยกัน การแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงพยานหลักฐานต่างๆ อันที่มาของข้อหาก็ต้องอยู่ในแบบพิมพ์นั้นด้วย เป็นการแจ้งตามลำดับก่อนหลังกันไป

เมื่อผู้ต้องหาได้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด, ข้อหา และพยานหลักฐานอันเป็นที่มาของข้อหานั้น และได้ให้การยกข้อต่อสู้ขึ้นพร้อมกับเหตุผลประกอบข้อต่อสู้แล้ว พนักงานสอบสวนย่อมต้องมีหน้าที่รวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อต่อสู้นั้นฟังได้หรือไม่อย่างไร อันเป็นการกระทำเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามที่มาตรา 131 แห่ง ป.วิ.อาญา ได้บัญญัติไว้ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย

สำหรับ “คดีกำนันนก” ต้องหาหรือถูกกล่าวหานั้น ได้มีทั้งพนักงานสอบสวน ตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคม และอดีตตำรวจผู้ใหญ่ที่ได้ มีผู้สถาปนาให้เป็นปรมาจารย์การสอบสวน ต่างได้ให้สัมภาษณ์หรือแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบสวนว่า พยานหลักฐานเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ากำนันนกเป็นผู้ใช้หรือจ้างให้นายหน่องฆ่า พ.ต.ต.ศิวกรนั้น ไม่อาจเปิดเผยได้ เพราะเป็นความลับในสำนวน หากกำนันนกและทนายความทราบถึงพยานหลักฐานนั้น จะนำเอาไปเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีที่ต้องหา ทำให้ “เสียรูปคดี”!

การไม่ให้กำนันนกซึ่งเป็นผู้ต้องได้ทราบถึงพยานหลักฐานที่แสดงข้อเท็จจริงว่า มีการกระทำอย่างไรที่ว่าเป็นการใช้หรือจ้างนายหน่องให้ฆ่า พ.ต.ต.ศิวกร และการกระทำเช่นว่านั้นได้เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ซึ่งถือเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับความผิดที่ต้องหา  เท่ากับพนักงานสอบสวนไม่ได้ให้โอกาสกำนันนกในการแก้ข้อหา

เมื่อพนักงานสอบสวนปฏิบัติขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่ว่าด้วยการสอบสวนอย่างชัดแจ้ง  และบทบัญญัตินั้นเป็นบทบังคับที่สำคัญให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติเพื่อความเป็นธรรมทั้งตัวผู้ต้องหาเองและบุคคลอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง  การปฏิบัติผิดต่อบทกฎหมายในสาระสำคัญเช่นนี้ ผลจึงเท่ากับในความผิดที่กำนันนกต้องหานั้น ไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน ทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี (ป.วิ.อาญา มาตรา 120)

หรือถ้าหากพนักงานอัยการฝืนฟ้องคดีไป แล้วความได้ปรากฏต่อศาลว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนที่ผิดกฎหมายในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ศาลก็ต้องพิพากษา “ยกฟ้อง”

การ “ฝืนฟ้องคดี” ไปของพนักงานอัยการเช่นนั้น นอกจากจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว ยังเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมฐาน

“เป็นพนักงานอัยการ กระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ตามมาตรา 200 วรรคสอง ซึ่งมีโทษสูงถึง “จำคุกตลอดชีวิต” อีกด้วย.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 25 ก.ย. 2566

About The Author