บันทึกภาพเสียงการควบคุม แจ้งอัยการ นายอำเภอและกรมการปกครองทราบ ต้องทำทุกกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ‘คุมตัว’ ประชาชน
บันทึกภาพเสียงการควบคุม แจ้งอัยการ นายอำเภอและกรมการปกครองทราบ ต้องทำทุกกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ‘คุมตัว’ ประชาชน
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
หลัง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 ได้มีเจ้าพนักงานของรัฐหลายฝ่ายที่ใช้อำนาจทั้งตาม ป.วิ อาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวประชาชนตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ ยังไม่เข้าใจชัดแจ้งว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องนี้
โดยเฉพาะกรณีมาตรา 22 บัญญัติให้ต้อง บันทึกภาพและเสียง รวมทั้งแจ้งการควบคุมตัวประชาชนให้อัยการ นายอำเภอ และกรมการปกครองทราบ
จึงขออธิบายให้ประชาชนและเจ้าพนักงานรัฐทุกฝ่ายได้เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องรวมทั้งเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนดังนี้
จับ เป็นคำกริยาที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไปว่า หมายถึง อาการที่ใช้มือแตะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กำไว้ หรือยึดไว้
แต่ การจับในทางกฎหมาย หาได้มีความหมายเพียงเท่านั้น
หากหมายถึง การกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ตัวบุคคล ซึ่งกฎหมายเรียกว่า ผู้ถูกจับ ไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่ง
ผู้มีอำนาจจับก็คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน และจะจับบุคคลได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งหรือหมายจับของศาล หรือเมื่อพบบุคคลใดกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมี เหตุสำคัญจำเป็นต้องรีบจับ โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายจับ
ส่วนราษฎรจะมีอำนาจจับผู้อื่นก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า เฉพาะตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ อาญา
ซึ่งเป็นความผิดอาญาร้ายแรงที่กระทบต่อความรู้สึกและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เป็นการจับที่เกิดจากสามัญสำนึกที่ดีของมนุษย์ทุกคน
เมื่อมีการจับแล้ว เจ้าพนักงานผู้จับมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ถูกจับไป ส่งพนักงานสอบสวน ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวนทันที ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง
การจับก่อให้เกิดอำนาจควบคุม หรืออีกนัยหนึ่ง อำนาจควบคุมเป็นผลของการจับ ซึ่งเป็นอำนาจในการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของ ผู้ถูกจับ
ฉะนั้น เมื่อมีการจับก็ย่อมต้องมีการควบคุมเกิดขึ้นเสมอ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ อาญา มาตรา 87 วรรคหนึ่งว่า “ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี”
ป.วิ อาญา มาตรา 2 (21) บัญญัติว่า “ควบคุม” หมายถึง การคุม หรือ กักขังผู้ถูกจับ โดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน
“ควบคุม” จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของผู้ถูกจับใน 2 วิธีคือ “การคุม” กับ “การกักขัง”
กักขัง คือ การจำกัดเสรีภาพการเคลื่อนที่ทางร่างกายโดยการ ให้อยู่ในที่จำกัด เช่น ห้องควบคุมสถานีตำรวจ
ส่วน การคุมผู้ถูกจับ นั้น มิใช่เป็นการจำกัดเสรีภาพ ในที่จำกัด แต่ เป็นการกระทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ร่างกายของตนได้โดยอิสระหรือตามใจอยาก
ผู้ถูกจับที่มีฐานะเป็นผู้ต้องหาแล้วและถูกควบคุม มีสิทธิได้รับการ “ปล่อยชั่วคราว” หรือที่เรียกกันว่า “ประกันตัว” ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 106
คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” กับ “ปล่อยตัว” จึงมีความหมายคนละอย่างกัน
พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 3 บัญญัติความหมายของคำ “ควบคุมตัว” ไว้ หมายถึง การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือการกระทำด้วยประการอื่นใดอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล
มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ควบคุม” ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 2 (21)
การขัง ก็มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ อาญา มาตรา 2 (22) ซึ่งหมายถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล
เป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลที่เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาให้อยู่ในสถานที่จำกัด เช่น เรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ใช้อำนาจตามหมายขังของศาล
ส่วน การกักตัว นั้น เป็นการ จำกัดการเคลื่อนที่ทางร่างกายของบุคคลไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ที่ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจ กักตัว ผู้ขับขี่ที่ไม่ยอมให้ตรวจสอบว่าเสพยาเสพติดหรือไม่
หรือในมาตรา 142 ที่ให้มีอำนาจ กักตัว ผู้ขับรถที่ไม่ยอมทดสอบว่าขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่
โดยเมื่อผู้ขับรถนั้นได้ยอมให้ตรวจสอบหรือทดสอบแล้วและไม่พบการกระทำผิด ก็ต้อง ปล่อยตัว ไป
การคุมตัว ขัง กักตัว หรือกักขัง จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้ง
นอกจากนั้น ก็ยัง มีการกระทำอื่นตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในการแสวงหาหลักฐานที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพทางร่างกายของบุคคลอยู่ในตัวอีกหลายกรณี
เช่น การค้นบุคคลในที่สาธารณะเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อพบสิ่งผิดกฎหมายตาม ป.วิ อาญา มาตรา 93
การกระทำดังกล่าวเป็นการจำกัดเสรีภาพทางร่างกายของบุคคลในลักษณะที่เป็น “การคุมตัว” ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อได้ทำการค้น ตรวจสอบหรือทดสอบแล้วไม่พบความผิด ก็ต้อง ปล่อยตัว ไป
พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ มาตรา 22 บัญญัติว่า
“ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว
การควบคุมตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที……….”
คำว่าควบคุมตัวดังกล่าวจึงย่อมมิได้หมายถึงการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลโดยการขัง หรือ กักขัง
เนื่องจากข้อความที่ว่า “หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป”แสดงว่าบทบัญญัตินี้ต้องใช้ในกรณีที่มีการคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการจับด้วย
โดยความตามนัยดังกล่าว การค้นบุคคลในที่สาธารณะ การตรวจสอบผู้ขับรถว่าเสพยาเสพติด การทดสอบว่าเมาสุราแล้วไม่พบว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิด ต้องปล่อยตัวไป
เจ้าพนักงานรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพ เสียง อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจ้งให้อัยการ นายอำเภอ และกรมการปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ด้วยเช่นกัน
เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันมิให้ประชาชนผู้ถูกเจ้าพนักงานรัฐคุมตัวไว้ทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย “ไม่สามารถช่วยตัวเองได้” ถูกละเมิดไม่ว่าในรูปแบบใด
ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายที่เข้าข่าย “การกระทำทรมานฯ”
รวมทั้ง “ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มีโทษจำคุกถึงสามปี.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 21 ส.ค. 2566