คณะรัฐมนตรี ออก พ.ร.ก.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนฯ จำเป็นต้องเห็นชอบหรือไม่?

ยุติธรรมวิวัฒน์

คณะรัฐมนตรีออก พ.ร.ก.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ      สภาผู้แทนฯ จำเป็นต้องเห็นชอบหรือไม่?

 

 พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ช่วงนี้เรื่องที่ประชาชนคนไทยต้องจับตา นอกจากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกันเป็นรัฐบาล จะได้มีอำนาจบริหารประเทศทำให้เศรษฐกิจของประชาชนรวมทั้งตัวเองและพรรคพวกดีขึ้นไปพร้อมกัน!

อีกหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อชาติและประชาชนมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิดก็คือ

การตรากฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2565 มีผลเมื่อครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือ 22 กุมภาพันธ์ 2566

กฎหมายนี้มีสาระสำคัญนอกจากเพื่อ ปราบเจ้าพนักงานของรัฐ ที่มีพฤติกรรมชอบปฏิบัติกันตามอำเภอใจโดยฝ่าฝืนกฎหมายในการ ค้น และ จับ หรือ ควบคุมบุคคล ตาม ป.วิ อาญา ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มาพักอาศัยในประเทศไทย

หัวใจของกฎหมายคือ กำหนดให้การกระทำความผิดกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีทำทารุณกรรม ทำร้าย หรือ ละเมิดในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน มีโทษจำคุกสูงขึ้น

ซึ่ง ประชาชนผู้รู้เห็น สามารถ แจ้งให้นายอำเภอท้องที่และอัยการจังหวัด ดำเนินการสอบสวนคดีได้หากไม่ไว้ใจตำรวจไม่ว่าหน่วยงานหรือระดับใด!

ในกรณีเกิดเหตุในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่อผู้อำนวยการสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรืออัยการเขตพื้นที่ให้สอบสวนคดีส่งฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาลได้เช่นกัน

เรียกว่า เป็น “มาตรการปราบปราม” เมื่อมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น

แต่มีอีกหมวดหนี่งซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากกว่าก็คือ หมวด 3

เป็น มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำผิด ไม่ว่าข้อหาใด

สาระสำคัญอยู่ใน มาตรา 22, 23, 24 และ 25

โดยเฉพาะ มาตรา 22 ถือว่ามีความสำคัญในการป้องกันมากที่สุด โดยบัญญัติว่า

ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกควบคุม

การควบคุมตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งให้พนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที สำหรับในกรุงเทพมหานครให้แจ้งพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง…………..

และนี่เป็นบทบัญญัติที่ “ตร.ผู้ใหญ่ไม่ต้องการให้ใช้” ไม่ว่าในขณะนี้หรืออีกกี่สิบปีในอนาคตก็ตาม!

เพราะจะทำให้การใช้อำนาจของตำรวจทุกระดับแบบมั่วๆ ในการขอตรวจค้นตัวและควบคุมประชาชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำไม่ได้อย่างสะดวกเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวคนยากจนเพื่อนำไป ตรวจฉี่ โดย ไม่มีเหตุอันควรเชื่อตามกฎหมาย ว่าบุคคลนั้นได้เสพสารเสพติดไม่ว่าชนิดใด              

หากตำรวจคนใดยังดื้อดึงทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เช้าขึ้นมาก็นำแผงเหล็กหรือกรวยยางมาขวางถนน “ตั้งด่าน” ขอตรวจค้นรถหรือค้นตัวประชาชน ขอตรวจฉี่กันอย่างป่าเถื่อนด้วยความเคยชินแบบเดิม

จะรับราชการตำรวจต่อไปได้อีกไม่นาน!

กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลทำให้วิธีการทำงานรักษากฎหมายของตำรวจไทยจะเกิดการปฏิรูปและปรับตัวครั้งใหญ่ โดยไม่ต้องอาศัย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไม่ว่าฉบับใดให้เสียเวลา

ด้วยเหตุว่า ตำรวจไม่ได้เป็นผู้กุมความลึกลับในการจับและควบคุมตัวประชาชนไม่ว่าข้อหาใด นำไปขังไว้โดยไม่ให้ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่ฝ่ายปกครองคือนายอำเภอและอัยการรู้ว่านำตัวไปคุมขังอยู่ที่ไหน มีชะตากรรมเป็นตายร้ายดีอย่างไรเช่นที่ผ่านมา!

การจับและควบคุมตัวประชาชนผู้กระทำผิดกฎหมายทั้งผู้จำหน่ายยาเสพติด หรือผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า นำมาต่อรองเรียกค่าไถ่ตามผู้บังคับบัญชาพอใจแล้วปล่อยตัวไป

จะทำได้ยาก

เป็นที่มาของการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้รายงาน พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจบริหารในการออกพระราชกำหนดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ชะลอการใช้กฎหมายมาตราสำคัญนี้ออกไป

โดย หลงเชื่อ ตาม คำเท็จ ของ ตร.ผู้ใหญ่ที่ให้ข้อมูลว่า มีปัญหาไม่ได้เตรียมงบประมาณ 3,500 ล้านไว้ซื้อกล้องประจำตัวและประจำรถตำรวจจำนวน 171,000 ชุด

ซึ่ง ข้อเท็จจริงไม่มีความจำเป็นต้องซื้อมากมายกันขนาดนั้นแต่อย่างใด?

แต่จุดประสงค์แท้จริงคือ ความต้องการให้ชะลอการใช้ วรรคสองของมาตรา 22 ไว้ ในเรื่องที่ต้องแจ้งการจับและการควบคุมตัวประชาชนให้อัยการและนายอำเภอท้องที่ทราบทันทีที่สามารถทำได้

แค่ตำรวจผู้รับผิดชอบการจับใช้โทรศัพท์มือถือแจ้งให้อัยการและนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองทราบทันทีที่มีการควบคุมตัวประชาชน

แต่ละคนจะปฏิบัติกันยากเย็นอะไรหนักหนา?

จึงถึงขนาดเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรายงานนายกฯ ออกพระราชการกำหนด  ชะลอการใช้กฎหมายมาตรานี้และอีกหลายมาตราที่สำคัญออกไป เพื่อที่ตำรวจจะได้จับและคุมตัวประชาชนโดยไม่ให้หน่วยงานใดแม้แต่ฝ่ายปกครองและอัยการรู้เช่นเดิมต่อไป

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ดีใจหาย

ตำรวจบอกว่ามีปัญหาอะไร โดยไม่รู้ว่าเหตุผลจริงหรือเท็จ ก็จัดการให้หมด

แม้กระทั่งใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกพระราชกำหนดชะลอการใช้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภาได้พิจารณาอย่างรอบคอบและเห็นชอบพร้อมกันให้ตราเป็นกฎหมายและกำลังจะใช้อีกแค่สองสามวันเท่านั้น

แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้อำนาจรัฐบาลในการออกกฎหมายเหนือกว่ารัฐสภา โดยมาตรา 172 วรรคสามบัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีต้องส่งพระราชกำหนดนั้นให้สภาอนุมัติโดยมิชักช้า

ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกมนตรี จำเป็นต้องส่งพระราชกำหนดฉบับนี้ให้สภาพิจารณา ปรากฏตามหนังสือที่ นร 0503/4948 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ นายชวน หลีกภัย

เป็นช่วงเวลาใกล้จะประกาศปิดประชุมสภาสมัยสามัญอยู่พอดี

แต่เมื่อได้รับหนังสือของนายกรัฐมนตรีฉบับนี้และยังมีเวลาประชุมสมัยสามัญได้

ทำให้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำ พ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าพิจารณาว่าจะอนุมัติ พระราชกำหนดที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นี้หรือไม่?

นับเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต้องจับตาการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรทุกคนในเขตพื้นที่ของท่านว่า จะลงมติเห็นชอบทั้งๆ ที่เป็นพระราชกำหนดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน?

เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

รวมทั้งเป็นกรณีที่ฉุกเฉินและมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้แต่อย่างใด.                  

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2566

About The Author