‘อสุรกาย’ แฝงตัวเข้าเป็นตำรวจ หรือ ‘ระบบตำรวจไทย’ สร้าง ‘อสุรกาย’

ยุติธรรมวิวัฒน์

“อสุรกาย”แฝงตัวเข้าเป็นตำรวจ หรือ“ระบบตำรวจไทย”สร้าง“อสุรกาย”

 

                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์ “สังหารหมู่” เด็กอายุเพียง ๓-๕ ขวบ ถึง 22 คน พร้อมครูพี่เลี้ยงและประชาชนทั้งหญิงชายรายทางทั้งด้วยมีดและปืน รวม 37 คน ที่จังหวัดหนองบัวลำภูอย่างน่าหดหู่สยดสยอง โดย อดีตตำรวจที่เพิ่งถูกไล่ออกจากราชการ คนหนึ่งนั้น

นับเป็นเรื่องสะเทือนขวัญคนไทยทั้งประเทศทุกเพศวัยและชาวโลกอย่างยิ่ง!

ตามติดมาจากปรากฏการณ์กราดยิงที่โคราชโดย จ่าทหารในราชการ คนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเกิดไปเมื่อไม่นานประมาณสองปี โดยไม่มีการแถลงหรือชี้แจงรายละเอียดถึงสาเหตุที่แท้จริงแต่อย่างใด

แต่ถูก สรุปแบบใส่ความกันง่ายๆ จากทุกฝ่าย รวมทั้งสื่อว่า จ่าคลั่ง?

พร้อม เงื่อนงำแห่งความตายของเขา “รวมทั้งตัวประกัน” ที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่หลายคนซึ่งไม่แน่ชัดว่า ใครเป็นคนทำให้ตายในแต่ละคนแต่ละราย  “ด้วยอาวุธและวิธีการตามกฎหมายอย่างไร” ผลการไต่สวนของศาลเป็นเช่นใด?

คำประณาม หรือคำพูดว่า เสียใจ ไม่ว่าจากใครในทั้งสองเหตุการณ์ รวมทั้งเงินของรัฐและบริจาคของบุคคลจำนวนเท่าใด ก็ไม่อาจทดแทนความรู้สึกของผู้สูญเสียหรือช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ ในความรู้สึกส่วนลึก ของประชาชนทั่วไป

รวมไปถึงพฤติกรรมของบางคนในการพยายามพูด ปรามประชาชนและสื่อมวลชน ว่าไม่ควรเสนอภาพข่าวหรือขุดคุ้ยขยายประเด็นให้เป็นเรื่องใหญ่ และอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิและผิดกฎหมายได้

อยากจะให้ลืมๆ กันไป โดยอ้างว่าจะสะเทือนใจเด็กๆ และผู้คนที่ได้รับผลกระทบไม่จบสิ้น!

แต่สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่และชาวโลกต้องการรู้ก็คือ  สาเหตุที่แท้จริงของการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญชาวโลกทั้งสองเหตุการณ์ โดยเฉพาะอดีตตำรวจรายหลังนี้คืออะไร?

รวมไปถึง “การแสดงความรับผิดชอบ” ของผู้มีอำนาจระดับต่างๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. รวมไปถึงผู้บัญชาการตำรวจภาคและผู้บังคับการตำรวจจังหวัด ผู้มีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ โดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือควบคุมการทำงานของพวกเขาได้แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน!

หรืออย่างน้อยหาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดถึง ปัญหาตำรวจและการปฏิรูปตามเสียงเรียกร้องของประชาชนบ้าง ก็ยังดี

การปัดสวะของผู้มีอำนาจแต่ละคนเพื่อให้พ้นตัวว่า จะให้ทำอย่างไรในเมื่อปัญหาเกิดจากการติดยาเสพติดและได้ไล่ออกจากราชการไปแล้วนั้น คงไม่ใช่เหตุผลที่แต่ละคนจะนำมาอ้างให้ประชาชนยอมรับได้

จึงมีแต่เสียงก่นด่าตามมามากมาย และ คนโง่ บางรายก็เรียกร้องให้นำ นโยบายฆ่าตัดตอน แบบรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มาใช้ บอกว่าได้ผลดีกว่ารัฐบาลชุดไหน?

“ตำรวจนักฆ่า” อยากยิงหรือกำจัดใครที่คิดว่าเป็นภัยต่อสังคม ก็ขึ้นบัญชีเป็นผู้ค้ายาเสพติด และต่อมาถูกคนร้ายซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครยิงตาย ทำเป็นสำนวน “ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด” ปิดคดี!

มีประชาชนถูกฆ่าตายไปกว่า 2,500 คน ในช่วงเวลาแค่สามเดือนในปี 2547

คำถามที่ต้องการคำตอบจากผู้รับผิดชอบลำดับแรกซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครก็คือ เหตุใดบุคคลผู้มีพฤติการณ์เสพยาเสพติดจึงสามารถเข้าเป็นตำรวจได้ และทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมายในสถานีสำคัญต่างๆ ทั้งในนครบาลและภูธรอยู่ นานถึงสิบปี?

อันที่จริงการเสพยาเสพติดของประชาชนแม้จะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ใช่เรื่องชั่วร้ายถึงขนาดที่ผู้คนต้องประณามหยามเหยียดหรือกีดกันมิให้เขาประกอบอาชีพต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อะไร

เพราะเมื่อรัฐปล่อยให้ยาเสพติดทุกชนิดหาได้ง่าย ผู้คนสามารถ ซื้อขายและสูบเสพกันใน “บ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฏหมาย” ซึ่งมีอยู่มากมายในราคาที่แสนถูกอย่างสะดวกสบาย

โดย หัวหน้าสถานีตำรวจส่วนใหญ่ก็มีรายได้จากการเก็บส่วย รวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนก็จับและรีดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดกันจนร่ำรวย  “นำไปส่งส่วยให้ตำรวจผู้ใหญ่” ที่เรียกว่า “บิ๊กนั่น บิ๊กนี่” กันเป็นทอดๆ ไป

หรือบางคนก็สะสมไว้ เตรียมใช้เป็นทุนซื้อตำแหน่งหรืออำนาจทางการเมือง แล้วจะไม่ให้ลูกหลานไทยเสพและติดยาฯ กันทั่วประเทศได้อย่างไร?

และแม้กระทั่งตัวตำรวจเองก็มีจำนวนไม่น้อยที่ เสพ หรือ ติด ยาเสพติดไม่ว่าประเภทใด และมีอยู่เป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ไม่มีใครสามารถประเมินหรือบอกเป็นตัวเลขที่แท้จริงได้!

เพราะในความเป็นจริง ตราบใดที่เขาไม่ก่อเรื่องเสียหายหรือมีพฤติการณ์คุกคามเพื่อนร่วมงานหรือทำท่าจะชักปืนยิงผู้บังคับบัญชา ก็ไม่ได้มีใครสนใจหรือเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องจัดการจริงจังแต่อย่างใด

สำหรับรายของอดีตตำรวจผู้เป็นฆาตกรโหดรายนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเขาจงใจไปฆ่าเด็กที่นอนหลับเรียงรายในเวลากลางวันกันอยู่ถึง 22 คน ด้วยเหตุจูงใจอะไร?

และพฤติกรรมก็ ไม่ใช่คนเมายาบ้า อย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่ รายงานกันมั่วๆ และให้ข่าวจนทำให้ผู้คนเข้าใจผิดกันไปทั้งประเทศ เพราะคนเมายาเสพติดไม่ว่าชนิดใดจะไม่สามารถวางแผนและก่อเหตุฆ่าคนอย่างต่อเนื่องเช่นนั้นได้แน่นอน

สอดคล้องกับการตรวจหาสารเสพติดในศพ ก็ไม่พบว่าเขาได้มีการเสพยามาก่อนก่อเหตุด้วย และก็ไม่จำเป็นต้อง ตรวจซ้ำเพื่อทำให้พบจนได้ เหมือนในกรณีการตรวจศพ “น้องชมพู่” ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความวุ่นวายตามมา!

และในเมื่อเขาไม่ได้ก่อเหตุเพราะฤทธิ์ยาเสพติด แล้วเหตุจูงใจในการเอามีดไปฟันและแทงเด็กที่นอนหลับอยู่เพราะอะไร  จึงยังคงเป็นปริศนาที่ผู้คนไม่สามารถหาคำตอบจากใครอย่างมีเหตุผลรับฟังได้กระทั่งบัดนี้?

ประวัติส่วนตัว เขาสำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากมหาวิทยาลัยของรัฐ แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายในระดับที่ใช้ได้และน่าจะมีมากกว่าผู้เป็นเจ้านายยศนายพลหลายคนด้วยซ้ำ!

แต่ในปี 2555 ได้ยอมสมัครเข้าเป็นตำรวจระดับที่ผู้คนใน สังคมไทยเรียกกันเหยียดหยามว่า “ชั้นประทวน” ยศนายสิบ รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ ม.6 อยู่นานถึงสิบปี โดยไม่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นเป็นสัญญาบัตรที่ดูหรูหราและเงินเดือนมากกว่าแต่อย่างใด

ไม่ต่างจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและอีกหลายสาขาที่ทำงานเป็น “ตำรวจชั้นประทวน” กันอย่างไร้อนาคตอยู่หลายหมื่น หรือ “อาจนับแสนคน” ในปัจจุบัน!

ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านบอกว่า เมื่อครั้งเขาเป็นเด็กและวัยรุ่น ก็ดูเป็นคนเรียบร้อยดี

เพิ่งเริ่มเห็นว่ามีปัญหา หลังจากเป็นตำรวจแล้ว มีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น มีปัญหาไม่พอใจอะไรก็ได้แต่ชักปืนออกมาขู่จะยิงคนนั้นคนนี้!

และยิ่ง มีอาการดุร้ายมาก หลังถูกจับข้อหาครอบครองยาเสพติด ถูกดำเนินคดีอาญาและถูกไล่ออกจากราชการ เช่น มีการใช้ปืนยิงสุนัขหรือยิงขึ้นฟ้าอยู่บ่อยครั้ง

ปัญหาน่าจะเกิดจากเขารู้สึกคับแค้นใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะตำรวจคนอื่นก็เห็นทำชั่วกันสารพัดมากมาย โดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับที่มีพฤติกรรมรับส่วยสินบนหรือซื้อขายตำแหน่ง เขาก็คงรับรู้หรือเห็นมาจนชินเมื่อครั้งเป็นตำรวจนครบาลอยู่ที่ สน.ยานนาวา และ เป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ สน.ลุมพินี

แต่ไม่เห็นมีใครถูกไล่ออกจากราชการแบบเขาที่ครอบครองยาบ้า แค่ 1 เม็ด เท่านั้น

ความแค้นแน่นอกของเขาได้ถูกระบายให้เพื่อนร่วมวงเหล้าฟังว่า ให้คอยดูจะทำให้ดังยิ่งกว่ากรณีที่โคราชอีก!

แว่วๆ ว่าเขาวางแผนจะก่อเหตุใหญ่ใน วันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็น วันตำรวจ ที่มีตำรวจผู้ใหญ่ไปชุมนุมทำพิธีในทุกสถานี ทุก บก.และ บช.

แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดเขาจึงไม่สามารถรอจนถึงวันนั้นได้

เด็กเล็ก 22 คน ที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็ก รวมทั้งครูผู้ดูแลและประชาชนจำนวนมากจึงกลายเป็นผู้เคราะห์ร้าย

เป็นทางระบายความคับแค้นที่เขาเข้าใจว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจาก ระบบตำรวจที่วิปริต

ซึ่ง ยังไม่มีใครคิดปฏิรูปอย่างจริงจัง “แบบยกเครื่อง” ครั้งใหญ่แต่อย่างใด?.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 ต.ค. 2565

About The Author