‘ความลับในสำนวน’ เรื่อง ‘ลวงโลก’ ของ ตร.ผู้ใหญ่ ใน ‘ขบวนการอยุติธรรม’
“ความลับในสำนวน”เรื่อง“ลวงโลก” ของ ตร.ผู้ใหญ่ ใน “ขบวนการอยุติธรรม”
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ น้องแตงโม-ภัทรธิดา ดาราสาวผู้ มีอุปนิสัยเปิดเผยตรงไปตรงมาเปี่ยมไปด้วยจิตใจที่เมตตาทั้งต่อ “เบิร์ด” “คนรัก” รวมทั้ง เพื่อนและพี่น้องในวงการนักแสดงดารา
และเป็นบุคคลที่ กล้าหาญ ในการแสดงออกถึง จุดยืนความคิดและจิตสำนึกทางสังคมและการเมือง ในเรื่องต่างๆ ที่เธอสนใจในหลายประเด็น
จึงนับเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจประชาชนผู้สนใจบทบาทการแสดงและชีวิตส่วนตัวครอบครัวรวมทั้งความรักที่เต็มไปด้วยความทุกข์และอุปสรรคมากมาย
โดยเพิ่งได้มีโอกาส พบความสุขกับความรักอันแสนบริสุทธิ์และเรียบง่าย แต่ก็ในเวลาที่ แสนสั้นเพียงไม่ถึงสองปี!
ความตาย ที่เป็นปริศนาของเธอจึงเป็นเรื่องซึ่งประชาชนแทบทั้งประเทศเสียใจและอยากรู้ว่า เธอตกจากเรือจนกระทั่งจมน้ำตายโดยที่ไม่มีใครสามารถช่วยชีวิตได้ไปด้วยเหตุใด?
เป็นการตกไปจากท้ายเรือตามคำบอกของ แซน พยานผู้เห็นเหตุการณ์จริงหรือไม่?
และอะไรเป็นมูลเหตุทำให้เธอต้องก้าวข้าม แนวกั้นอันตราย ไปอยู่ ณ จุดที่สุดเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำอย่างยิ่ง เช่นนั้น?
เรื่องความต้องการไปปัสสาวะในขณะที่ บนเรือเร็วก็มีห้องน้ำขนาดเล็ก สามารถที่ขอใช้ในเวลาฉุกเฉิน แม้จะเก็บของเล็กๆ น้อยๆ ไว้ ก็สามารถหยิบฉวยย้ายออกได้
นับเป็นเรื่องที่ผู้คน ข้องใจ ว่า เธอไม่ได้กระซิบบอกกระติกคนสนิท ปอ หรือใครรู้เลยหรือว่าต้องการทำธุระส่วนตัวที่จำเป็นเช่นนั้น และอยู่ในวิสัยที่ผู้ควบคุมเรือสามารถแก้ปัญหาให้ได้แสนง่าย
และการตรวจไม่พบสารยูเรียในผ้าอนามัย ก็ก่อให้เกิดความสงสัยเรื่องการปัสสาวะว่าจริงหรือไม่?
รวมทั้ง บาดแผลสำคัญขนาดใหญ่ บริเวณขาขวาช่วงบน ที่เกิดขึ้นก่อนตาย เนื่องจากถูกใบพัดหรือฟินเรือบาดเอาหลังจากพลัดตกลงไป เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่เรือแล่นขนานไปกับตัวเธอจริงหรือ?
แต่ จนถึงขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถชี้แจงหรือยืนยันให้ผู้คนยอมรับและเชื่อถือได้
อีกทั้งบาดแผลขนาดเล็กและใหญ่อีก 22 ตำแหน่งตามรายงานการตรวจชันสูตรศพของสถาบันนิติเวชตำรวจที่เป็น “ความลับราชการ” ตลอดมา ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่เคยรู้มา ก่อน หาก แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ไม่นำมาพูดหรือขยายให้ฟัง!
ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจากตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวนคนใดด้วยเช่นกัน
ส่วนการแจ้งข้อหาต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มในเรื่องให้การเท็จเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม รวมทั้งการทำลายพยานหลักฐานเอาขวดและแก้วไวน์ทิ้งน้ำไป
ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผู้คนสนใจใคร่รู้ว่า เธอตกจากเรือตรงจุดและเวลาใดกันแน่แต่อย่างใด
ปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในระบบการสอบสวนการรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิดทางอาญา หรือว่าการสอบสวนหาสาเหตุและ พฤติการณ์แห่งการตายอย่างผิดธรรมชาติ ของประเทศไทยในทุกคดี ก็คือ
การที่ตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการสอบสวนแต่เพียงหน่วยเดียวมักอ้างว่า สำนวน และ การสอบสวนเป็นความลับทางราชการ?
หากเปิดเผยหรือชี้แจงอะไรเกี่ยวกับการสอบสวนหรือการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไป อาจจะกระทบหรือเกิดความเสียหายต่อ รูปคดี?
ซึ่งคำว่า รูปคดี ที่ว่า หน้าตามันเป็นอย่างไร? ก็ไม่มีใครสามารถอธิบายให้ผู้คนเข้าใจได้
บางคดีเป็น ความลับสุดยอด ถึงขนาด บุคคลที่เป็นญาติพี่น้องของคนตายซึ่งถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ก็ยังให้ล่วงรู้ความเคลื่อนไหวในการสอบสวนอะไรไม่ได้!
และสำหรับ ประชาชนทั่วไปซึ่งถือว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายในคดีที่กระทำผิดต่อรัฐด้วยเช่นกัน ยิ่งแล้วใหญ่ จะบอกอะไรให้รู้ไม่ได้เลย เดี๋ยวเสียรูปคดี!
จริงหรือไม่ที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบพูดให้เหตุผลว่า การสอบสวนเป็นความลับราชการ?
เขาอ้างบทกฎหมายฉบับหรือมาตราใดรองรับการปกปิดการปฏิบัติราชการในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเช่นนั้น
การอ้างกันแต่ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 29 บทที่ 1 ข้อที่ 1 ซึ่งหารู้ไม่ว่า ปัจจุบันนั้นนำมาใช้ไม่ได้!
เพราะหลังจากที่ได้มีการตรา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 ขึ้น ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2540
เรื่องใดที่ถือว่าเป็นความลับทางราชการเปิดเผยกับบุคคลใดที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ได้ จะต้องเป็นไปตาม มาตรา 16 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 อย่างเคร่งครัด
ต้องจัดให้มี นายทะเบียนเอกสารลับ เป็นผู้เปิดผนึกและจัดเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย จะส่งไปที่ใดต้องผนึกในซองสองชั้น ป้องกันการล่วงรู้หรืออยากดูของคนที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ว่าระดับใด
ซึ่ง ระเบียบดังกล่าวในข้อ 16 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ก็ไม่ได้กำหนดชั้นความลับของสำนวนการสอบสวนไว้ว่า “ให้อยู่ในชั้นความลับระดับใด”
ไม่ว่าจะเป็น “ลับ” “ลับมาก” หรือ “ลับที่สุด”
ฉะนั้น สำนวนการสอบสวนจึงไม่ใช่ความลับของทางราชการตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบอ้างกันอย่างมั่วๆ ตลอดมา ซึ่งแม้แต่ผู้เสียหายก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าการสอบสวนได้พยานหลักฐานอะไรไปแล้วบ้าง
รวมทั้งผลการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ และแม้แต่เอกสารการตรวจชันสูตรศพคนถูกฆ่าตาย ญาติพี่น้องก็ขอหรือดูรู้เห็นกันไม่ได้เช่นปัจจุบัน!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 4 เม.ย. 2565