‘ค้ามนุษย์โรฮีนจา’ ‘น้องแตงโม’  มโนเกินจริงไป ก็ไม่ยุติธรรม!

ยุติธรรมวิวัฒน์

“ค้ามนุษย์โรฮีนจา”“น้องแตงโม”  มโนเกินจริงไป ก็ไม่ยุติธรรม!

 

          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ระยะนี้มีปัญหาการกระทำความผิดทางอาญาที่ประชาชนให้ความสนใจกันอย่างมากอยู่หลายคดี โดยมีสองเรื่องที่พึ่งเกิดขึ้น โดยที่ประชาชนยังงุนงงและพากันวิพากษ์วิจารณ์ อยากรู้ความจริงอย่างยิ่ง

เรื่องแรกที่เกิดขึ้นล่าสุดก็คือ การเสียชีวิตของน้องแตงโม ดาราสาว

ตามข่าวส่วนใหญ่ได้รายงานว่า เธอ พลัดตกจากท้ายเรือขณะแล่นอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเวลาที่ได้ไปนั่งทำธุระส่วนตัวด้วยความจำเป็นซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ตกแล้วก็จมหายไปอย่างรวดเร็วกลางลำน้ำลึกบริเวณหน้าท่าเรือพิบูลสงคราม จ.นนทบุรี โดยกลุ่มเพื่อนที่ไปด้วยได้ตะโกนบอกคนขับเรือให้วกกลับมาทันที จ้องมองร้องเรียกหาอยู่หลายชั่วโมง

แต่ก็ไม่สามารถมองเห็นเธอและช่วยชีวิตเธอได้!

ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเศร้าสลดใจต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างยิ่ง

จากหลักฐานคำพูดคำให้การของ ประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ที่เป็นเพื่อนของเธอและผู้ขับเรือรวมทั้งหมด 5 คน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดถึง

แต่ด้วย พฤติกรรมอ้ำอึ้ง “ไม่พูดในสิ่งที่ควรพูด” ของเพื่อนเธอที่อยู่ในเหตุการณ์บางคน ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่ง มโนกันเตลิดเปิดเปิง ไปว่า น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรมากกว่านี้!

ส่วนตำรวจนนทบุรี สุดท้ายก็ ไม่ได้ชี้แจงอะไรให้กระจ่างอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เธอพลักตกจากเรือไปนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ได้แต่บอกว่า จะมีการแจ้งข้อหากับผู้เกี่ยวข้องว่า กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้บอกว่าคือใคร “ผู้ขับเรือ” หรือ “เพื่อนที่ไปช่วยดึงหรือรั้งตัวเธอไว้ในขณะทำธุระส่วนตัว”!

และพฤติการณ์ที่ว่าประมาทของแต่ละคน “การกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์” หรือ “งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล” คือป้องกันเหตุอาจทำให้เธอตกน้ำไป รวมทั้งตกแล้วก็ไม่จมตาย หากผู้รับผิดชอบได้ตรวจสอบให้มีการสวมใส่เสื้อชูชีพตลอดเวลาอย่างไรหรือไม่?

ประเด็นสำคัญที่ประชาชนทั้งประเทศอยากรู้ ตำรวจผู้รับผิดชอบได้แต่บอกว่า  เป็นความลับในสำนวนการสอบสวน ตามสูตร!

ซึ่ง จากข่าว คาดเดาเอาว่า น่าจะเป็นการแจ้งข้อหาต่อ“ผู้ขับเรือขณะเกิดเหตุ” ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย ที่ “พอจะถือได้ว่า” เป็นพฤติกรรมประมาทอย่างหนึ่งซึ่งทำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย

แต่สุดท้ายอัยการจะ “สั่งฟ้อง” และ “ศาลพิพากษาลงโทษ” อย่างไรหรือไม่นั้น เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

ซึ่งไม่น่าจะเป็นเพื่อนสนิทเธอคนที่หวังดีไปช่วยดึงรั้งตัวเธอไว้ขณะทำธุระส่วนตัวที่จำเป็นนั้นแต่อย่างใด หรือตำรวจอาจมีพยานหลักฐานข้อข้อเท็จจริงอะไรว่าเธอคนนี้กระทำประมาท ประชาชนก็ไม่อาจรู้ได้!

แต่สำหรับผู้ขับเรือที่ได้รับอนุญาต นอกจากมีหน้าที่ต้องควบคุมเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานการเดินเรือซึ่งมีข้อบังคับต่างๆ ในทางราชการอย่างละเอียดยิบยับแล้ว!

ยังจะต้องจัดให้มีและตรวจสอบหรือดูแลให้ผู้โดยสารทุกคนสวมเสื้อชูชีพให้ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือตลอดเวลาด้วย!

การที่ประชาชนบางส่วนมโนว่า การพลัดตกจากเรือรวมทั้งการพยายามช่วยชีวิตเธอหลังเกิดเหตุ มีเงื่อนงำหรือเบื้องหลังที่น่าสงสัยว่าอาจเป็น ฆาตกรรมอำพราง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

จึงเป็นเรื่องที่ ไม่ถูกต้อง และจะ ก่อให้เกิดอยุติธรรม กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การดำเนินคดีเมื่อปี พ.ศ.2558 กับ ขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจา

มีนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการตำรวจทหารจำนวนมากนับร้อยคนตกเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี ศาลมีคำพิพากษาจำคุกไปหลายสิบปีก็หลายคน ที่หลบหนีไปตามจับตัวไม่ได้จนกระทั่งป่านนี้ก็มีอีกจำนวนหนึ่ง

ซึ่งเรื่องนี้ การดำเนินคดีส่งผลทำให้ตำรวจผู้ทำหน้าที่เป็น หัวหน้าพนักงานสอบสวน ถึงขนาดต้อง ลี้ภัยจากรัฐบาลไทย ไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียเลยทีเดียว!

ถือเป็นคดีประเภท พนักงานสอบสวนหลบหนี!

โดยได้มีการออกมาบอกผ่านสื่อออนไลน์เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อาชญากรตัวใหญ่ยังไม่ได้ถูกจับดำเนินคดี  ซึ่งถ้าไม่ต้องลี้ภัยได้มีโอกาสดำเนินการสอบสวนต่อ ก็จะสามารถสืบสาวถึงตัวใหญ่ได้อีกมากมาย

ผู้ที่ได้ยินได้ฟังต่างก็สงสัย ปลาตัวใหญ่ ที่ว่านั้นคือใคร? เป็นข้าราชการตำรวจหรือทหารระดับใดหน่วยไหน  ยศอะไร จำนวนเท่าใด?

และ ใครคือผู้ขัดขวาง การสอบสวนดำเนินคดีไม่ให้มีการสาวถึงปลาตัวใหญ่และอาชญากรที่เกี่ยวข้องอีกมากมายนี้!

เรื่องการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าพนักงานรัฐโดยเฉพาะตำรวจและทหารผู้ใหญ่ในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาต่างๆ นั้น

ปัญหาสำคัญในการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ก็คือ การไม่สามารถหาพยานหลักฐานการกระทำผิดพอที่จะส่งให้อัยการสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษ

หรือ แม้แต่แค่จะแจ้งข้อหาก็ยังไม่สามารถทำได้ง่ายๆ

ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือ อาชญากรร้ายมักเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดนั้นเสียเอง

หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ของพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานนั้น

พนักงานสอบสวนคนใดดื้อรั้น หัวหน้าอาชญากรสั่งกันมาเป็นทอดๆ ให้ดำเนินคดีกับบุคคลเพียงเท่านั้นเท่านี้แล้ว “ไม่ทำ” “ไม่ฟัง” หรือ “ไม่หยุด”

ผลสุดท้ายก็คือ การสั่งย้าย ด้วยเหตุผลสารพัด ให้พ้นจากความเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นไป

ใน “ระบบการสอบสวนคดีอาญาที่ล้าหลังของประเทศไทย” ในปัจจุบัน การจับปลาหรือ “อาชญากรตัวใหญ่” ที่แท้จริง จึงไปได้ยากอย่างยิ่ง!

 อย่างไรก็ตาม  “การมโนกันเกินจริง” ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและก่อให้ “เกิดความอยุติธรรม” กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน.

พ.ต.อ.วิรุตม์

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 28 ก.พ. 2565 

About The Author