‘เบี้ยเลี้ยงตำรวจ’และ’ทุกงบค่าใช้จ่าย’นาย’หักหัวคิว’เป็นเรื่องธรรมชาติ!

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                เบี้ยเลี้ยงตำรวจ และ ทุกงบค่าใช้จ่าย นาย หักหัวคิว” เป็นเรื่องธรรมชาติ!   

                                                                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่ใช้ชื่อว่า คณะราษฎรปลดแอก ซึ่งประกอบไปด้วยเด็กเยาวชนและคนหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษา และผู้มีความคิดก้าวหน้าเป็นส่วนใหญ่

เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก

โดยบอกเหตุผลสำคัญว่า เป็นบุคคลผู้ ไม่ได้มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง!

หากแต่หลังทำรัฐประหารได้ใช้วิธี วางหมากกลในการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจโดย ผ่าน ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งจำนวนมากเป็นอดีตตำรวจและทหารชั้นนายพลผู้คุ้นเคย!

ซ้ำยังได้ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ “เพื่อสืบทอดอำนาจและโครงสร้างสังคมเดิมไว้” นานถึง 20 ปี!

นอกจากนี้ ก็เป็นผู้ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาร้ายแรง ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ผู้คนได้รับความเดือดร้อนมีรายได้ไม่พอกินพอใช้

ในด้านสังคม ก็ ปล่อยปละละเลยให้ตำรวจผู้ใหญ่ “รับส่วยสินบน” จากแหล่งอบายมุข ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดขึ้นมากมาย!

รวมทั้งไม่ดำเนินการปฏิรูปประเทศอะไรจริงตามคำมั่นสัญญา แม้กระทั่งตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง บัญญัติไว้ในเรื่อง ตำรวจ และ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่มีปัญหาอย่างร้ายแรงยิ่งปัจจุบัน

เด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ต่าง มองไม่เห็นอนาคต!

ลาออกแล้ว ก็เปิดทางให้มีการตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงโดยเร็ว

เรื่อง การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ นั้น ทุกคนต้องยอมรับกันว่าถึงเวลาต้อง แต่งตัวกันใหม่ คงจะอยู่กันแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ต้องช่วยกันคิดว่า จะออกแบบโครงสร้างและระบบบริหารราชการบ้านเมืองอย่างไร? เพื่อให้ทุกหน่วยและทุกองค์กรเกิดความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานในทุกเรื่องได้ สอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งปัจจุบันและอนาคต

ในสถานการณ์การชุมนุม มีปัญหาหนึ่งซึ่งตำรวจหน่วยต่างๆ ทั้งที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงและมาจากต่างจังหวัดผู้ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย  ต้อง บ่น หรือ แอบแสดงออกผ่านทางสื่อออนไลน์ ในหลายรูปแบบแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของประชาชนกลุ่มใดก็คือ

การได้รับเบี้ยเลี้ยงไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่รัฐจัดให้

รวมไปถึงงบพิเศษต่างๆ แม้กระทั่ง งบตั้งด่านป้องกันโรคในช่วงโควิด เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา  

ก็มีปัญหาตำรวจผู้น้อยบ่นว่าได้รับกันไม่ครบตามสิทธิคนละประมาณ 10,000 บาทเช่นกัน 

โดยส่วนใหญ่บอกว่า ได้รับจริงเพียงสามสี่พันเท่านั้น!

บางพื้นที่แม้ตำรวจแต่ละคนได้เซ็นรับกันจนครบถ้วนตามจำนวนแล้ว

กลับต้องเบิกถอนจากบัญชีตู้เอทีเอ็มนำไป คืนให้เจ้านาย ตามที่ถูกสั่งไว้ก็มี ซึ่ง จเรตำรวจแห่งชาติ ก็ได้บอกว่าผลการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้!

สุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายการเงิน กลายเป็น  แพะ ถูกตั้งกรรมการสอบสวน ฐานเป็นคนเรียกเงินคืนมาเก็บรวมไว้ ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงเป็นเพียงผู้รวมนำไปส่งให้หัวหน้าสถานีตามที่สั่งเท่านั้น 

แต่ปัจจุบันนี้ได้ยินว่า หลายแห่งถูกกำหนดให้ รวมส่งที่หัวหน้าตำรวจจังหวัดโดยตรงเป็นส่วนใหญ่

เพื่อตัดปัญหา หัวหน้าสถานีบางแห่งมีพฤติการณ์ ยึกยัก เก็บไว้เอง ไม่ยอมส่งให้ตามกำหนด ต้องติดตามทวงถามกันวุ่นวาย ไม่สามารถส่งต่อไปตามลำดับชั้นได้ ทำให้ตำรวจผู้ใหญ่เสียเวลาและอารมณ์!

เรื่องเบี้ยเลี้ยงราชการไม่ว่าหน่วยงานพลเรือนและทหารตำรวจทุกหน่วยนั้น อันที่จริง รัฐได้จัดไว้ให้เฉพาะในกรณีที่แต่ละคนต้องเดินทางไปปฏิบัติงานค้างแรมต่างพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเป็นหลัก 

ซึ่งนอกจากจะทำให้มีสิทธิเบิก ค่าเช่าที่พัก ได้แล้ว ก็ยังจัดเงินพิเศษที่เรียกกันว่า เบี้ยเลี้ยง ให้

ด้วยเหตุผลว่า เมื่อผู้ปฏิบัติงาน ไม่ได้กลับไปนอนที่บ้านพักอาศัย ก็ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินสิ้นเปลืองขึ้น

แต่หากผู้ใดไม่ได้ถูกสั่งให้ไปราชการต่างจังหวัดหรือต่างพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องพักค้างคืน

ก็ไม่มีเหตุผลที่รัฐจะต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ข้าราชการคนนั้นแต่อย่างใด

ในอดีตเมื่อกว่า “ห้าสิบปี ที่ผ่านมา มีหลายพื้นที่แม้กระทั่งอำเภอเดียวกันซึ่งการคมนาคมทุรกันดาร  ตำรวจที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปพักค้างแรมเพื่อตรวจตำบลและหมู่บ้านต่างๆ เป็นประจำ

เช่นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือกาญจนบุรีซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ การปฏิบัติงานมีความจำเป็นต้องขี่ช้างม้าหรือลงเรือล่องแม่น้ำไปยังหมู่บ้านต่างๆ นอนค้างกันหลายวันหรือแม้กระทั่งครึ่งค่อนเดือน

เป็นที่มาทำให้รัฐต้องจัดสรรเบี้ยเลี้ยงให้ตำรวจผู้ต้องไปตรวจท้องที่และนอนพักค้างแรมเช่นนี้ แม้จะเป็นกรณีที่อยู่ในเขตอำเภอเดียวกันก็ตาม

แต่ปัจจุบันความจำเป็นในการไปนอนค้างแรมของตำรวจในเขตอำเภอ อาจกล่าวได้ว่าหมดไปเกือบสิ้นเชิง

การปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นการตรวจท้องที่หรือ ตั้งด่านตรวจค้น ที่ ข้อเท็จจริงเป็นการสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน เป็นอุปสรรคต่อระบบคมนาคมของประเทศ และหมิ่นเหม่ว่าเป็น นโยบายของตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และแทบทุกด่านก็ตั้งอยู่ไม่ไกลหรือ แม้กระทั่งหน้าสถานี

จึงไม่ใช่เรื่องที่มีเหตุผลว่าตำรวจคนใดจะต้องได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงเหมือนกับการเดินทางไปราชการพักแรมต่างพื้นที่ต่างอำเภอแต่อย่างใด

ฉะนั้น การที่รัฐยังคงจัดสรรเงินเบี้ยเลี้ยงให้ตำรวจแห่งชาติในภารกิจต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นในเทศกาลรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเจ็ดวันอันตราย  หรือในกรณีตั้งด่านตรวจโควิด โดยที่ไม่ได้มีการเดินทางไปปฏิบัติราชการนอกพื้นที่มีความจำเป็นต้องพักค้างแรม หรือแม้กระทั่ง มีการปฏิบัติอย่างครบถ้วนจริง นั้น

ทำให้ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลระดับต่างๆ “จ้องมองกันตาเป็นมัน ในแทบทุกรายการ!

พวกเขาต่างมองว่า เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุผลที่ตำรวจคนใดจะต้องได้รับเงินเต็มจำนวน ควรมีน้ำใจแบ่งให้ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ด้วย!

เป็นที่มาของปัญหา เบี้ยเลี้ยงและเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายแทบทุกประเภทที่ไม่มีเหตุผล รวมทั้ง เงินกองทุนสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจ เดือนละหนึ่งแสนบาท

จะถูกเจ้านายระดับจังหวัด ขอแบ่ง หรือหักไว้ส่วนหนึ่ง อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ ตลอดมา!

ที่เหลือก็ถือ เป็นสิทธิ หัวหน้าสถานี จะมีวิธีบริหารแจกจ่ายให้เป็นธรรม หรือแม้กระทั่ง นำเข้ากระเป๋าตนเอง 50 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจมากน้อยกว่านั้นกันอย่างไรก็ได้!

รัฐได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องผู้บังคับบัญชา อมเบี้ยเลี้ยงตำรวจ โดยกำหนดให้จ่ายด้วยวิธีโอนเข้าบัญชีของแต่ละคนโดยตรง ไม่ต้องผ่านมือผู้บังคับบัญชาหรือว่าตำรวจฝ่ายการเงินคนใดมาเดินแจกให้

ข้าราชการหน่วยอื่นรวมทั้งประชาชนได้ยินข่าวเรื่องตำรวจถูกหักเบี้ยเลี้ยงทั้งที่ใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงแล้ว ต่างงุนงงว่ายังถูกเบียดบังได้อย่างไร ไม่เข้าใจ?

แต่หารู้ไม่ว่า ตำรวจไทยอยู่ในระบบยศ ซึ่งมีระบบการปกครองและวินัยเช่นเดียวกับทหาร!

การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา จะก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองมากมาย และกลายเป็น ตำรวจนอกคอก ในหน่วยนั้นไปทันที!

และแต่ละคนก็อาจ ถูกสั่งลงโทษทางวินัย, ถูกสั่งย้าย หรือ ถูกสั่งเปลี่ยนหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีอนาคตบทบาทในการทำงานและมีสิทธิได้รับ เศษเงิน อะไรอีกต่อไปในเวลาชั่วข้ามคืนเท่านั้น!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจกลุ่มที่ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า ชั้นประทวน

การลุกขึ้นพูดความจริงอะไรเพื่อให้รัฐบาล สภาและประชาชนรับรู้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้

หลายคนจึงใช้วิธีโพสต์ข้อความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงบ่น หรือแม้กระทั่ง ก่นด่า ขึ้นมาลอยๆ ในสังคมโซเชียล

เช่น กรณีตำรวจ ตชด.คนหนึ่งชูป้ายซึ่งตามภาพน่าจะในอาคาร บช.น. มีข้อความว่า ทำงานแทบตาย นายแดกหัวคิว

ซึ่งน่าจะหมายถึงเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางจากต่างจังหวัดมารักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของประชาชน วันละ 440 บาท

ได้ถูกหักเป็นค่าอาหารวันละ 240 บาท ให้ บช.น.ไปบริหารส่งเสบียงให้ ส่วนที่เหลืออีก 200 เจ้านายหลายหน่วยบอกว่าเป็น ค่ากาแฟและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

แต่เมื่อได้เกิดเรื่องเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้น ผลการสอบสวนกลับกลายเป็นการ ชูป้ายเล่นๆ หนุกๆ ของตำรวจคนดังกล่าวไป

ซ้ำยังเลวร้ายและน่าอายถึงขนาด โยนความผิดให้เด็กและผู้ชุมนุม ว่าเป็นผู้เขียนและจัดทำนำไปติดไว้ที่รถตำรวจอีกด้วย!.

เบี้ยเลี้ยงตำรวจ
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2563

 

About The Author