‘วิชา’ฟันธงปฏิรูปตำรวจต้องแยกงานสอบสวนออกจากสตช.เหมือนทั่วโลกไม่ใช่เอาคนจับมาสอบสวนด้วย

 

“สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอีกเรื่องนอกจากระบบอุปถัมภ์ และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ผมคิดว่าทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเดินรุดหน้าไปได้ เพราะคนใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมากกว่าสิ่งที่มันควรจะปรับให้กลายเป็นประโยชน์ของประชาชน เพราะเวลาทำงานจะทำงานเพื่อตำแหน่ง เพื่อยศ เพื่อเกียรติ เพื่อหน้าที่ แต่ไม่ได้มองว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ระบบอวยยศ อวยตำแหน่ง กลายเป็นคำถามว่า ตำรวจจับได้กี่คน ทำคดีค้างเสร็จไปแล้วเท่าไร นับผลงานเป็นจำนวน แต่ไม่ได้นับผลงานจากความสงบสุข การอวยยศพนักงานสอบสวนที่แล้วมา จึงไม่ได้แยกออกจากระบบใหญ่ทั้งหมด

 

ถ้าต้องการให้ตำรวจเป็นตำรวจจริงๆ ต้องแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั่นคือสิ่งที่ทั่วโลกเขาทำ คือไม่ใช่เอาคนจับมาสอบสวนด้วย เป็นการใช้อำนาจรวบศูนย์ ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งคอร์รัปชัน จึงไม่ควรให้ตำรวจมาดำเนินการด้านสอบสวน เพราะกระบวนการสอบสวน ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถมาก ต้องแยกออกจากองค์กรที่ทำงานด้านปราบปราม

 

 

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ (ชั้น 1) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร .พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย ปัญหาแท้จริงอยู่ตรงไหน? ในงานเสวนา วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย นายกฯ ต้องปฏิรูปอะไรและอย่างไร จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ Innocence International Thailand  (IIT)

 

.พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวว่า สำหรับคำว่าปฏิรูปนั้น นับว่าเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจที่ต้องพูด เพราะส่วนใหญ่จะใช้คำว่าปฏิลูบปฏิคลำ ไม่ใช่ปฏิรูปจริงๆ เพราะการปฏิรูปต้องเริ่มจากการคิดใหม่ทำใหม่ แต่ที่ผ่านมา ถ้าองค์กรคิดว่าทำดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ก็จะไม่เกิดการปฏิรูป ทว่าปัญหาอีกอย่างของการปฏิรูปคือ มักมีการคิดว่าหน่วยงาน องค์กรของตัวดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปให้ต่างไปจากเดิม เรารู้ดีว่ากระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นสมัยใหม่จริงๆ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่ปี 2477 ถ้าเปรียบเป็นคน อยู่มาถึงปัจจุบันก็ฟันฟางหัก กินอะไรไม่ได้ สังขารแย่เต็มที ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกันมาเป็นระยะ เป็นการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ต้องการดำเนินการ

 

วันนี้ถ้าเราไปศึกษาดูให้ดี กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกไม่เหมือนเดิม ทั้งระบบกล่าวหา ระบบไต่สวน ที่ได้มีการเคลื่อนเข้าหากัน มีการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ปรับปรุงใช้จนกลมกลืนกันทั้งสองระบบ แต่ของเรายังยึดแบบเดิม คือองค์กรต่างๆ ล้วนทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีความยึดโยงกัน นั่นเป็นปัญหา

 

ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราต้องคิดถึงการตั้งโจทย์ให้ถูกต้องก่อน ต้องมีความเห็นถูกก่อน หรือที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ถ้าตั้งโจทย์ไม่ถูก เราก็จะเป๋ ไม่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง โจทย์แรกคือเราตั้งสมมติฐานตั้งแต่โบราณ คือ ผู้ต้องหาทุกคนสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด หลักนี้ใส่ไว้ใน ป.วิอาญามาตรา 227 ตั้งแต่ปี 2477 แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นเป็นความจริงเลย แต่มันเป็นแค่ข้อสันนิษฐานที่ไม่ได้เป็นความจริง เพราะในทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะตำรวจ อัยการ ศาล เมื่อถูกจับมาเป็นผู้ต้องหา เขาจะถูกตราหน้าตราบาปว่าเป็นคนชั่ว คนผิด คนเลว

 

จำได้สมัยเป็นผู้พิพากษา และประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ตรวจคำพิพากษาของผู้พิพากษาศาลฎีกา มีท่านหนึ่งเขียนในคำพิพากษาว่า ถ้าไม่ผิด เขาจะจับมาหรือ ผมก็สะท้อนใจมาก และได้โต้แย้งคัดค้านไปว่าไม่ตรงกับหลักกฎหมาย ป.วิอาญา และในที่สุดก็ต้องเปลี่ยน เพราะไม่อย่างนั้นจะเท่ากับว่าเรายอมทำตามความคิดที่ผิด

 

เรื่องของผู้ต้องหามันไกลถึงขั้นที่ว่าเขาจะมีโอกาสแก้ตัวได้หรือไม่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสุดท้ายที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้คือ กระบวนการยุติธรรมที่มีการฟื้นฟู กรณีอย่างนี้จะไม่มองว่าผู้ต้องหาคือผู้ที่มีความเลวร้ายในสังคม แต่จะมองว่าเขาจะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างไร แต่กระบวนการกลับคืนสู่สังคมของ Restorative justice ที่เป็นระบบของชุมชน ไม่ใช่ระบบของสถาบันที่มีตำรวจอัยการศาลอีกต่อไป ขณะนี้หลายประเทศมีวิธีคิดไว้ว่าชุมชนมีความสำคัญมาก เราไม่เคยแตะเลย เราไม่เคยพูดถึงเลยว่า หากมีคดีเกิดขึ้นแล้วให้มาปรึกษาหารือกันระหว่างผู้ต้องหา ผู้ปกครอง หรือคนที่อยู่ด้วย และผู้ที่เป็นฝ่ายเสียหาย หรือระบบสมัยใหม่ที่เราพูดถึงเหยื่อ เราก็ไม่รู้จัก แม้กระทั่งคนที่ติดยาเสพติดที่เราเรียกว่าเป็นเหยื่อ เพราะเขาเข้าไปสู่กระบวนการที่เรียกว่าเป็นคนไข้ ไม่ใช่อาชญากร

 

ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาไปมาก แต่ไทยยังทำแบบครึ่งๆ กลางๆ อาจจะมีแตะบ้าง แต่ไม่ได้เข้าไปถึงเนื้อในรายละเอียด และระบบของไทยเป็นระบบของสถาบัน ความเป็นสถาบันแข็งตัวมาก ไม่สามารถมานั่งเจรจาหรือเชิญมาพูดคุยกันได้ เป็นระบบที่ต้องออกหมายเรียก หมายจับ สารพัด กระบวนการทั้งหมด หากมาเชิญคุยกันแบบไม่เป็นทางการจะถือเป็นเรื่องผิดหมดในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะการทำงานของตำรวจไทยมันแข็งตัวอย่างยิ่ง ต่างจากหลายประเทศในคดีทั่วไป จะต้องให้ชุมชนจัดการ ตำรวจก็เป็นตำรวจของชุมชน ไม่ใช่ตำรวจแบบแข็งตัว ที่เห็นแล้วจะต้องจับอย่างเดียว เขาจะใช้ตำรวจแบบนั้นเฉพาะคดีร้ายแรง โดยจะใช้เฉพาะตำรวจ เช่น นครบาล ตำรวจปราบก่อการร้าย ยกตัวอย่างตำรวจญี่ปุ่น มีการใช้ระบบตำรวจชุมชน ซึ่งมีความเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อคนแปลกหน้าโผล่ไปในพื้นที่ ก็จะไปเยี่ยม แนะนำตัวอย่างเป็นมิตร

 

นั่นเพราะตำรวจเราเป็นสถาบัน ไม่ใช่ชุมชน หากจะเปลี่ยนแปลงเราต้องใช้กระบวนการยุติธรรมชุมชน ให้คดีเล็กๆ น้อยๆ ได้รับการบริหารจัดการแบบชุมชน ไม่ใช่ระบบปกติ ผู้พิพากษาทำหน้าที่เพียงให้คำแนะนำ กระบวนการยุติธรรมต้องไม่มองทั้งผู้ต้องหาและเหยื่อว่าผิดหรือถูก ดังนั้น สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอย่างยิ่งคือกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นของชุมชน ที่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แคนาดา มีกฎหมายในลักษณะนี้ หมายความว่าคดีเล็กน้อยให้หลุดจากระบบปกติ ให้ไปถูกบริหารจัดการโดยชุมชน

 

อีกอุปสรรคสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอีกเรื่องหนึ่ง คือ ระบบอุปถัมภ์ ที่แทรกซึมในกระบวนการยุติธรรมจนแยกไม่ออก เพราะเราพึ่งพาอาศัยกับผู้มีอำนาจสูงสุดกันมา ไม่ว่าจะผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางการปกครอง ผู้นำด้านองค์กรปกครองท้องถิ่น หรืออะไรก็ตาม ฉะนั้นใครที่เอาชนะเหนือกฎหมายได้ ก็สามารถเป็นใหญ่ เป็นที่พึ่งพาอาศัย กระบวนการยุติธรรมจะใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะความยุติธรรมเป็นเรื่องของความเท่าเทียม เป็นระบบที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องใช้หลักนิติธรรม ต้อง respect to the law ไม่ใช่ respect to the man ไม่อย่างนั้นจะผิดหลักนิติธรรม และจะกลายเป็นกระบวนการไม่ยุติธรรม เพราะพึ่งบุคคล หมายความว่าพึ่งอำนาจ พึ่งพาการสั่งการ ว่าฉันต้องการแบบนี้ แก่ไปเปลี่ยนมา

 

เมื่อไรที่ตำรวจ อัยการ ศาล ถ้ามีแนวความคิดในกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากหลักนิติธรรม ก็จะไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม คือการใช้เหตุผลไม่เป็นหลัก ไม่ใช้อำเภอใจเป็นหลัก กระบวนการยุติธรรมจึงได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเรื่องลึกลับดำมืด หมายความว่าใครมีอำนาจที่จะทำเรื่องการจับกุมใครก็ยุ่งไม่ได้ สอบสวนใครก็ยุ่งไม่ได้ หรือแม้แต่ฟ้องคดีก็ยุ่งไม่ได้ ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของเราไม่เป็นองค์รวม ทำงานแยกส่วน จึงกลายเป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม เพราะไม่ได้ปรึกษาหารือหรือช่วยกันแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าเป็นไปเพื่อความยุติธรรม เช่น จับคนผิด เราไม่มีระบบการแก้ไขที่สมบูรณ์แบบ เราไม่สามารถทำได้เหมือนศาล ที่เมื่อสั่งการผิด ยังมี ป.วิอาญา มาตรา 27 แก้ไขได้ แล้วทำไมตำรวจ อัยการ จึงเปลี่ยนไม่ได้ ในที่สุดแล้ว จึงต้องหาทางออกโดยใช้การร้องขอความเป็นธรรม นำมาซึ่งการผิดปกติ

 

จะให้ดี กระบวนการของเราอัยการน่าจะคุยกับตำรวจได้ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร ขณะนี้เราได้เริ่มต้นทำในร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ที่เตรียมเข้าสู่สภา เป็นจุดเริ่มต้นว่า หากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ พนักงานสอบสวนต้องบอกให้อัยการมาทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตั้งแต่เริ่ม ซึ่งในระบบทั่วโลก ไม่มีใครให้ตำรวจสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ขอยืนยันว่าไม่มี ต้องให้อัยการเข้ามาร่วมด้วยเสมอ

 

จะเล่าให้ฟังว่า มีอัยการบ่นเหมือนกันว่า ทำไมฉันจะต้องมาทำงานกับเขาด้วย ในเมื่องานของฉันคือการรับในสิ่งที่เขาส่งมาให้ และสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แล้วมาทำให้ฉันเหนื่อยเพิ่มได้ไง ทว่าความเป็นจริงแล้ว ระบบของสหรัฐ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฯลฯ ไม่มีใครให้ตำรวจสอบสวนฝ่ายเดียว ยืนยันว่าไม่มี ต้องให้อัยการเข้ามาร่วมด้วยเสมอ ผมเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น อัยการเป็นคนถือข้อมูลอาชญากรรมทั้งประเทศ เพราะเป็นคนตรวจสอบดูแลตั้งแต่แรก ฐานข้อมูลชัดเจนมาก จึงคลุมได้หมดว่า ถ้าจะจัดการอาชญากรรมในท้องที่ต้องทำอย่างไร แต่ไทยไม่มีนิสัยทำงานร่วมกันแบบนี้ตั้งแต่ต้น ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องจัดการปัญหาด้วยกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างจัดการ

 

สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอีกเรื่องนอกจากระบบอุปถัมภ์ และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ผมคิดว่าทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเดินรุดหน้าไปได้ เพราะคนใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมากกว่าสิ่งที่มันควรจะปรับให้กลายเป็นประโยชน์ของประชาชน เพราะเวลาทำงานจะทำงานเพื่อตำแหน่ง เพื่อยศ เพื่อเกียรติ เพื่อหน้าที่ แต่ไม่ได้มองว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ระบบอวยยศ อวยตำแหน่ง กลายเป็นคำถามว่า ตำรวจจับได้กี่คน ทำคดีค้างเสร็จไปแล้วเท่าไร นับผลงานเป็นจำนวน แต่ไม่ได้นับผลงานจากความสงบสุข การอวยยศพนักงานสอบสวนที่แล้วมา จึงไม่ได้แยกออกจากระบบใหญ่ทั้งหมด

 

ถ้าต้องการให้ตำรวจเป็นตำรวจจริงๆ ต้องแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั่นคือสิ่งที่ทั่วโลกเขาทำ คือไม่ใช่เอาคนจับมาสอบสวนด้วย เป็นการใช้อำนาจรวบศูนย์ ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งคอร์รัปชัน จึงไม่ควรให้ตำรวจมาดำเนินการด้านสอบสวน เพราะกระบวนการสอบสวน ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถมาก ต้องแยกออกจากองค์กรที่ทำงานด้านปราบปราม

 

ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่ถึงขั้นนั้น เราก็ต้องพยายามลดอำนาจตำรวจฝ่ายปราบปรามให้ทำหน้าที่สอบสวนน้อยลง เพราะวันนี้เรามีทั้งฝ่ายปกครองและกรมสอบสวนคดีพิเศษที่สามารถสอบสวนได้ เราต้องการการสอบสวนที่ดี คืออยู่ในมือคนที่เป็นอิสระ ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าพยานบุคคล ซึ่งหลายประเทศมองว่าพยานบุคคลถือเป็นพยานที่ด้อยค่า สามารถเปลี่ยนคำพูดได้ ประเทศไทยต้องปรับปรุงหลักนิติวิทยาศาสตร์อย่างใหญ่หลวง เรากำลังเสนอเกี่ยวกับด้านนี้ โดยให้สามารถใช้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมได้ ไม่ใช่ใช้ของตำรวจอย่างเดียว โดยผู้ต้องคดีสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของใคร

 

สิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปคือการเปิดเผยข้อมูล กระบวนการยุติธรรมของไทย เป็นความลึกลับดำมืด อยู่แต่เพียงองค์กรตัวเอง ไม่บอก ไม่เปิดให้ใครรู้ ไม่นำไปสู่หลักการธรรมาภิบาล กระบวนการนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การบันทึกทุกอย่างในกระบวนการสอบสวน จะต้องบังคับงานทุกชิ้นต้องอยู่ในโฟลเดอร์ เพราะถ้ายังดำมืดอยู่ มีวัฒนธรรมการปกปิดอยู่ ความยุติธรรมก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

 

การปฏิรูปต้องเริ่มจากมายเซตของผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่คนทั่วไปก็ยังไม่เห็นพ้องกับการปฏิรูปถ้าเห็นว่าตัวเองจะเสียประโยชน์ คิดว่าต่อจากนี้ไป ต้องพยายามให้ความรู้กับประชาชน ให้ประชาชนได้ความรู้ ความคิดใหม่ๆ สร้างเครือข่าย เพื่อการปฏิรูป

 

ผมจะพูดถึงความลับอย่างหนึ่ง ว่ากฎหมายที่ระบุว่าจะต้องพิจารณาคดีใหม่ได้ก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่นั้น เขียนขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีคดีใหม่ และจะต้องผลักดันให้มีการแก้ไข เพราะในต่างประเทศ ผมยืนยันว่าไม่ใช่แบบนี้ ไม่ได้หมายความจะต้องได้พยานหลักฐานใหม่เอี่ยมเลยถึงจะพิจารณาใหม่ เพราะถึงแม้จะตัดสินไปแล้ว แต่ถ้าพบว่าไม่มีความผิด เขาต้องได้รับการพิจารณาใหม่ ได้รับการเยียวยา ออกจากระบบ โดยหลักฐานใหม่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นหลักฐานใหม่ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ โปรดไปแก้ไขกฎหมายนี้ด้วย ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ทุกข์ยาก.

 

วิเชียร วิชา

 

วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย

About The Author