บทเรียน’วิชา’จากคดี’บอส’:เมื่อไรความยุติธรรมซื้อได้ความทุจริตจะเกิดขึ้นทั้งแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่ได้พิจารณากรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ปี 2555 กล่าวปาฐกถาก่อนเริ่มเสวนา ถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรม ณ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
นายวิชา กล่าวว่า ขอเริ่มต้นการถอดบทเรียนคดีบอส อยู่วิทยา ในฐานะที่ได้ทำงานในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ด้วยคำที่มีความสำคัญกับการทำงานเรื่องนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำในความยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เมื่อได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้มีสื่อถามว่า มีปัญหาเยอะหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ได้ตอบไปสั้น ๆ ว่า ถ้าไม่เป็นปัญหาคงไม่ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจและอัยการ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา แต่ปัญหาของความยุติธรรมอยู่ที่ตรงไหน ตรงนี้เคยได้พูดไปแล้วว่า ปัญหาเป็นเรื่องของผู้คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย ตำรวจ อัยการ สิ้นสุดที่ศาล ปลายทางไปราชทัณฑ์ และมีส่วนเกี่ยวข้องคือ ทนายความ
กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาที่คนจริง ๆ เพราะประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของกระบวนการยุติธรรม ที่จะให้ความยุติด้วยความเป็นธรรม จะต้องอาศัยคนที่มีจิตใจที่สูงกว่าปกติ คนที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีมโนสำนึก ไม่มีจิตสำนึกที่ดีงาม ไม่มีความเสียสละ ไม่อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ไม่นึกถึงประชาชนที่ทุกข์ยาก ไม่ได้เด็ดขาด เพราะว่าจะมีองค์กรต่าง ๆ ที่มีผู้มีอำนาจเข้ามาครอบงำได้ตลอดเวลา บางองค์กรถึงกับต้องซื้อตำแหน่งมา ซึ่งเราก็รู้กันดีอยู่แล้ว ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่จะเข้ามาทำลายผู้คนซึ่งเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องมีหลักเกณฑ์คุณสมบัติ 4 อย่าง คือ 1.ต้องรอบรู้ ต้องรู้ลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้และรู้เท่าทันความทุจริต ความประพฤติไม่ชอบต่าง ๆ และรู้ทำทันเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้น 2.ต้องมีความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจเด็ดขาดในการดำเนินการ ถ้าไม่มีความกล้าจะเกิดความอ่อนแอในการทำงาน และไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างยุติธรรม
3.ต้องมีความพอประมาณ อย่าตึงเกินไป หย่อนเกินไป ต้องเดินทางสายกลาง ต้องคิดถึงประชาชนที่ถูกกดดันเป็นอันดับแรก เข้าใจหัวอกคนอื่น ถ้าตึงเกินไปก็จะเกิดความทรมานอย่างที่กล่าวกันว่า ในกระแสแห่งยุติธรรมยากจะหาความเกษมเปรมใจ และ 4.ต้องมีความยุติธรรม ถ้าเราขาดสิ่งนี้จะไม่ไม่มีความหมายเลยในกระบวนการยุติธรรม เพราะจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลเป็นการทั่วไป ต้องไม่มีอคติ ความลำเอียง เพราะฉะนั้น คนที่จะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความดีอันยิ่งใหญ่ทั้ง 4 อย่างนี้ จึงจะไม่โดนผู้มีอำนาจสั่ง บังคับ ขู่เข่นได้ ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วกับคดี บอส อยู่วิทยา
“คดีความนี้เป็นกระบวนการที่สมคบคิดกันระหว่าง ตำรวจ อัยการ ทนายความ และบุคคลอื่นที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ลากจูงกันไปสู่เหวนรก ซึ่งลึกมากเพราะว่าไม่ละอาย หรือเกรงกลัวต่อบาปเลย”
มีคำกล่าวขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ให้ระวังถึงที่สุดในกระบวนการยุติธรรม การทุจริตหวาดกลัวต่อการเผชิญหน้าต่อความจริง เช่น ทำผิดไปแล้วพยายามที่จะดำเนินการให้พ้นจากความผิดนั้นโดยไม่ยอมสารภาพผิด ไม่ยอมเผชิญหน้าต่อความจริง เมื่อทำผิดแล้วไม่ยอมไปสู่กระบวนการคนหาความจริง ของตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาจะตัดสินตามความเป็นธรรม เราจะเห็นได้เลยว่าเขาไม่ยอมเผชิญหน้ากับความจริง โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าฉันจะไม่ขึ้นศาล ให้จบลงที่พนักงานอัยการให้ได้
การทุจริตที่คิดว่าความยุติธรรมซื้อได้ เมื่อไรที่คนคิดว่าความยุติธรรมซื้อได้ เมื่อนั้นความทุจริตจะเกิดขึ้นทั้งแผ่นดิน มีบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาในอดีต ยุคที่เจ้าพ่อมาเฟียขึ้นครองประเทศ พวกที่เป็นเจ้าพ่อซื้อความยุติธรรมทุกระดับ ไม่เคยขึ้นศาลเลยหรือขึ้นศาลก็หลุดคดีหมด เพราะคิดว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องซื้อได้ จนกระทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงโคนล้มเจ้าพ่อ แต่จะโคนล้มไม่สำเร็จ ถ้าไม่กันบุคคลที่อยู่ในกระบวนการทุจริตร่วมกันเอามาเป็นพยาน เพราะฉะนั้นจึงเกิดกรณีกฎหมายกันไว้เป็นพยาน เป็นตัวอย่างของการเอาชนะเหนือความทุจริต
การทุจริตเกิดจากจุดที่อ่อนแอที่สุด เราก็จะเห็นได้แล้วว่าจุดที่อ่อนแอที่สุดของประเทศในขณะนี้ของกระบวนการยุติธรรม คือองค์กรไหน บอกได้เลยคือ ตำรวจ เป็นจุดอ่อนที่สุด เพราะตั้งแต่เขาเข้ามาทำงาน เขาไม่ได้เข้ามาเพราะความรู้ความสามารถ ได้เข้ามาเพราะมีเส้นมีสาย ระบบอุปถัมภ์ การเลื่อนตำแหน่ง ถูกครอบงำด้วยผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น กระบวนการเหล่านี้หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เข็มแข็งขึ้น แต่องค์กรกลับมองว่าจุดอ่อนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยปกป้องพวกเขาได้ ด้วยความเกรงใจใน ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่ถูกโจมตีมากสุดในคดีของ บอส อยู่วิทยา เพราะว่าตั้งต้นก็รวบรวมพยานหลักฐานแบบอ่อน ให้สามารถแก้ไขได้ การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ก็อ่อนแอ ไม่เข็มแข็งอย่างเพียงพอ
“การตรวจสอบทางการนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ เป็นจุดที่แข็งที่สุดของกระบวนการยุติธรรมกลับถูกทำให้อ่อนแอที่สุด เพราะใช้หลักซื้อได้ ฉะนั้นการตรวจสอบหลักวิทยาศาสตร์จึงมีความโอนเอียง มีคนมาบอกว่าอาจารย์ท่านนี้ มีวิธีคำนวณความเร็วรถใหม่ การตรวจสอบจะตรวจสอบเหลวไหลแบบนี้ไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ได้ ”
กระบวนการพิสูจน์จึงเป็นกระบวนการที่อ่อนแอที่สุดในขณะนี้ และเป็นจุดที่ต้องแก้ไขให้ถึงที่สุด เพราะหลักฐานพยานทางบุคคลจะเปลี่ยนไปได้ถ้าถูกซื้อ แต่วิทยาศาสตร์ซื้อไม่ได้ เช่น กรณีวันที่เกิดกระบวนการแก้ไขพยานหลักฐาน เพื่อให้เห็นได้ว่าเป็นวันเวลาที่สมควรนำมาประกอบการพิจารณาของอัยการสั่งไม่ฟ้อง จากที่สั่งฟ้อง วันที่มีการบันทึกรูปภาพเอาไว้ในโทรศัพท์ หลังการให้การบันทึกพยานใหม่นั้น จะไม่หายไป โทรศัพท์สามารถกู้ข้อมูลได้ จึงได้มีการหน้าแตก ว่าวันที่ 26 ก.พ.ได้บันทึกพยานบุคคลไว้ แต่ในโทรศัพท์บอกว่าไม่ใช่ เป็นวันที่ 29 ก.พ. โดยการยืนยันโดยสถาบันนิติวิทายาศาสตร์ 2 แห่ง โดยสถาบันของกระทรวงยุติธรรมและสถาบันสารสนเทศของรัฐบาล ได้ยืนยันและสามารถใช่ได้ถึงศาล เป็นพยานที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม ในคดีนี้เห็นได้ชัดว่าใช้เวลาเดินทางถึง 8 ปี จากที่เกิดเหตุรถชนกัน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต กระบวนการยุติธรรมได้เดินทางไปโดยที่ไม่นำตัวผู้ต้องมาฟ้องร้อง ปล่อยให้เลื่อนไปเรื่อย ๆ โดยอยู่ที่ตำรวจ 6 เดือน หลังจากนั้นร้องขอความเป็นธรรมถึง 14 ครั้ง การร้องข้อความเป็นธรรมใช้เวลารวมกัน 8 ปี ในระหว่างที่ความเป็นยุติธรรมเดินทางอย่างล่าช้านั้น การแทรกแซงอำนาจภายนอกก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าความยุติธรรมเดินช้าให้ตัดสินเลยว่า มีความทุจริตแทรกซ้อน เข้าไปสู่กระบวนการที่ว่า ความยุติธรรมสามารถซื้อได้
แขนต้องแข็งแรงแล้วเท่ากัน หรือ ต้องมีความเท่าเทียมกัน คำนี้มาจากประเทศอังกฤษ เพื่อให้มองเห็นภาพว่า มือใครยาวกว่า มีพลังอำนาจมากว่า พลังงานเศรษฐกิจมากกว่า ก็จะได้ประโยชน์จากการเอาชนะในคดีนั้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นคนที่ยากจนกว่าจะเอาอะไรไปสู้ ตัวอย่างเช่น สู้ไม่ได้เพราะไม่มีเงินประกันตัวออกจากเรือนจำ แต่คนรวยจะได้การปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อจะได้ออกมาวิ่งเต้นคดีได้ เพราะฉะนั้นคู่ความต้องได้รับความเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูล อังกฤษได้สร้างกฎหมายที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งด้านร้ายและด้านดีสำหรับจำเลย
“กระบวนการในการเปิดเผยข้อมูล ไม่มีเลยในคดีบอส เราจะเห็นได้ว่าปกปิดไว้ มารู้เมื่อสื่อต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลว่ามีการสั่งไม่ฟ้อง แม้แต่อัยการสูงสุดยังแถลงในวันรับตำแหน่งว่า ต้องดำเนินการติดตามตัวเอามาลงโทษให้ได้ แต่วันนั้นเองได้มีการสั่งไม่ฟ้องไปเรียบร้อยแล้ว คิดดูแล้วกันว่า กระบวนการยุติธรรมที่ลึกลับดำมืดขนาดนี้ มันคือความไม่ยุติธรรม”
ข้อมูลของทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา ต้องได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน ต้องมีการเปิดเผยข้อมูล การสอบสวนทุกอย่างต้องถูกบันทึกเอาไว้ เปิดเผยในชั้นอัยการ ให้รับรู้ทั่วถึงกัน โดยที่เรากำลังจะมีร่างพระราชบัญญัติพิจารณาความคดีอาญา ที่กำลังดำเนินการออกกฎหมายอยู่ในขณะนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้มีส่วนร่วม จะผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้โดยทั่วถึงกัน
การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ องค์กรนี้ต้องเป็นองค์กรอิสระ แต่ความอิสระนี้ต้องอยู่บนรากฐานของการกลั่นกรองคดีด้วยความชอบทางกฎหมายด้วยหลักยุติธรรม ในคดีนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549 จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่มีความสำคัญมาก การใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการต้องอยู่ในความสมเหตุสมผล ต้องมีกรอบด้วยความชอบกฎหมาย ซึ่งสามารถจะชี้แจงได้ เทียบเคียงได้กับการตัดสินของศาล
ปัญหาการมอบอำนาจตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาของการบริหารทุกเรื่อง รวมถึงการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมด้วย ในมาตรา 40 ของระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ระบุว่า ให้ผู้มอบอำนาจพิจารณาถึงความสะดวกแก่ประชาชน ความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ การกระจายความรับผิดชอบตามสภาพของตำแหน่งผู้รับมอบอำนาจ แลผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ตามผู้รับมอบอำนาจ เพราะฉะนั้นหลักของการมอบอำนาจ ต้องไม่ทำเกินกว่าผู้มอบอำนาจให้ไว้ ในวรรคที่ 2 ให้ผู้มอบอำนาจตรวจสอบติดตามผลข้อการปฏิบัติราชการ และเปลี่ยนตัวผู้รับมอบอำนาจได้ ถ้าไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม
“โดยกระบวนการสอบสวนที่ได้รายงานต่อท่านนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการสมยอมคบคิดกัน โดยองค์กรระดับชาติ คือคณะกรรมาธิการหนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้มีอดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ รวมอยู่กับผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงของสำนักงานพิสูจน์พยานหลักฐาน แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาเปลี่ยนความเร็ว”
เราจะเห็นได้เลยว่า ถ้าท่านรองอัยการที่ได้รับมอบอำนาจ ได้ตรวจดูตามหลักวิชา ใช้ความรู้ความสามารถของท่าน ที่เป็นอัยการมาในระยะเวลายาวนาน ท่านต้องเห็นแล้วว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะว่ามีที่ทีมงานอัยการตรวจสอบแล้วพบว่าสมควรสั่งไม่ฟ้อง แต่กลุ่มดังกล่าวเป็นรุ่นเด็ก ที่มีความกล้าหาญมาก แต่คนสั่งกลับบอกว่าไม่ได้ดู บอกว่าไม่สนใจ กระบวนการรับมอบอำนาจจึงเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ไม่ดูอยากรอบครอบถี่ถ้วน เช่นเดี่ยวกัน ตำรวจ ที่ด้าน ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งไม่ฟ้อง ก็บอกว่าไม่ได้ดูเอกสาร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ได้บอกเหมือนกันว่า มอบขาดอำนาจไปแล้ว ไม่รู้เรื่องเลย เรื่องใหญ่ๆแบบนี้ไม่ได้มีการติดตาม ตั้งข้อสังเกต แสดงให้เห็นว่าระบบเสื่อมถึงที่สุดแล้ว
การปกครองบ้านเมืองที่ปล่อยให้ดำเนินไม่มีหลักการ ข้อกำหนด ขาดสติ ไม่มีความรอบครอบ ถือว่าเข้าข่ายรัฐเสื่อมแล้ว ถ้าไม่แก้ไขจะเป็นปัญหาต่อคดีอื่น มากมายมหาศาล มีคดีเช่นนี้นับ 100 คดี ที่พิจารณาเรื่องของการขอความเป็นธรรม ตามระเบียบอัยการ และมีการพิจารณาให้ถอนฟ้องด้วยซ้ำไป
“กระบวนการทั้งหมดนี้ เราต้องแก้ไขทั้งคนที่ต้องมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งระบบที่การเข็มแข็งในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีอาญา จะต้องมีการถ่วงดุลอย่างไร จะเติมเต็มแต่ละสิ่งให้สมบูรณ์อย่างไร ประเทศไทย มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่บังเอิญว่าคนที่ใช้กฎหมายขาดความสุจริต ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่ละอายต่อบาป ไม่เข็มแข็งเพียงพอ มีความรู้น้อย ความประมาทมาก ขาดสติ ยั้งคิด เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขทั้งคนและระบบไป พร้อม ๆ กัน”
ขอบคุณข้อมูล จาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) และภาพประกอบจากมหาวิทยาลัยรังสิต