ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ‘ฉบับปฏิลวง’ ถ่วงเวลาปฏิรูปที่แท้จริง
ยุติธรรมวิวัฒน์
         

      ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับปฏิลวงถ่วงเวลาปฏิรูปที่แท้จริง

 

                                      พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ไม่มีใครเข้าใจว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกรงใจอะไร พวกนายพลตำรวจ หนักหนา? หรือว่า เข้าใจผิดต่อสาเหตุของปัญหาตำรวจในเรื่องอะไร?

อาจเป็นได้ว่า น่าจะหลงตามคำเท็จ เรื่องเงินเดือนน้อย ค่าตอบแทนต่ำ งบประมาณจำกัด ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ไม่พอใช้ ทำให้ขวัญและกำลังใจของตำรวจผู้น้อยถดถอย?

จึงได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป กว่า 7 ปี หลังจากที่ได้ยึดอำนาจ โดยที่ยังไม่ได้จัดการปัญหา หรือว่าดำเนินการปฏิรูปตำรวจและระบบงานสอบสวนอะไรตามเสียงเรียกร้องของ ประชาชนและตำรวจผู้น้อย อย่างแท้จริงเลย

นอกจากเน้นการเพิ่มตำแหน่ง หน่วยงาน รวมทั้งงบประมาณเพื่อการจัดซื้อจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์โน่นนี่ให้ ตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ร้องขออย่างไม่หยุดหย่อน!

แต่ปัญหาประชาชนเดือดร้อนจากการที่พนักงานสอบสวน ถูกสั่งไม่ให้รับแจ้งความออกเลขคดี เพื่อที่จะได้ไม่ปรากฏสถิติอาชญากรรมและต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการตรวจสอบควบคุมตามกฎหมาย

ก็ยังคงเกิดขึ้นมากมายในแทบทุกสถานีที่มีการพัฒนาให้สวยงามและทันสมัยในทางกายภาพทั่วประเทศ!

การ ทุจริตฉ้อฉลรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่ จากแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิงเริงรมย์ บ่อนการพนัน ตู้ม้า และผู้ประกอบธุรกิจรถบรรทุก สารพัด ก็ยังกระทำกันเป็นปกติ!

โดยที่ตำรวจสารพัดหน่วยซึ่งรัฐและประชาชนได้ใช้งบประมาณจำนวนมากจัดตั้งขึ้นมากมาย และออกกฎหมายให้มีอำนาจจับกุมและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานหาผู้กระทำผิด รวมทั้ง ขบวนการผู้อยู่เบื้องหลังที่ถือเป็นองค์กรอาชญากรรม ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนแต่อย่างใด

ประชาชนต้องร้องเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ หรือชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองนำกำลัง อส. ไปตรวจตราจับกุมแทนตลอดมากว่า 7 ปี

เหตุการณ์ ผู้กองปูเค็ม หรือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล   นายทหารนอกจากราชการได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและอาสาไปแก้ปัญหาตู้ม้าและตู้สลอต ซึ่ง ตั้งอยู่ที่สถานีขนส่งรถโดยสาร อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

หลังจากที่ได้ไลฟ์สดและแจ้งให้ตำรวจมาจับยกตู้สลอตไปแล้ว ตนเองกลับถูกกลุ่ม ทรชนนับสิบคนดักรุมกระทืบทำร้ายจนปางตาย!

นอกจากการส่งกระเช้าผลไม้ไปเยี่ยมผู้กองปูเค็มที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว

ก็ยังไม่ได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดว่า ผบก.ตำรวจจังหวัด ผบช.ตร.ภาค ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ซึ่งมีอยู่มากมาย แม้กระทั่ง ผบ.ตร.หายไปไหน?

ทำไมจึงไม่ได้ตรวจสอบหรือควบคุมให้แต่ละหน่วยจับกุมปราบปรามตามหน้าที่ของตน?

ปัญหา เครื่องจักรการพนัน ตู้ม้าและตู้สลอต ดูดเงินเด็กเยาวชนและคนยากจน หาเช้ากินค่ำมาอย่างยาวนานทั่วประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา กว่าสิบปีนี้!

ประชาชนและตำรวจส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่ามีใครเป็นเจ้าของ รวมทั้ง นายพลตำรวจ กลุ่มใดอยู่เบื้องหลัง!

การจัดการกับปัญหาเช่นนี้ อันที่จริงถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง

และในการแก้ปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายหรือรอให้มีการปฏิรูปตำรวจอะไร

ท่านสามารถ พูดออกสื่อ หรือเขียน “หนังสือสั่งการ” สองสามบรรทัดได้ง่ายๆ เพื่อจะทำให้สิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้หายไปในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น!

สำหรับความคืบหน้าในการปฏิรูปตำรวจ ตามสัญญา!

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแทนฉบับคณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างขึ้น ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ซึ่งในร่างฉบับมีชัย แม้จะไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจอะไรที่แท้จริง เนื่องจากยังไม่ปรากฏโครงสร้างสำคัญเรื่อง ตำรวจจังหวัด

ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผ่าน “คณะกรรมการตำรวจจังหวัด” ตามหลักสากล และ สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชนและตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้สายการบังคับบัญชาตำรวจสั้นลงโดยจบที่จังหวัดเท่านั้น

แต่การปฏิรูปเพียงแค่ตามร่างของนายมีชัย สุดท้ายก็ยังไม่สามารถผ่านไปถึงสภาได้

ร่างที่ตำรวจผู้ใหญ่เสนอดังกล่าว จึงถือว่าไม่มีที่มาที่ไปตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 260  ที่ให้การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยจำกัดสัดส่วนผู้เป็นตำรวจไว้ เพื่อไม่ให้มีบทบาทในการครอบงำทิศทางปฏิรูปเช่นที่ผ่านมา

และสาระสำคัญตามร่างฉบับมีชัยได้ถูกตำรวจผู้ใหญ่แก้ไขและตัดออกไปหลายประเด็น เช่น

องค์ประกอบของ คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ  ตามร่างฉบับมีชัย ในมาตรา 15 ให้ยุบ ก.ตช. และ ก.ตร. รวมเข้าด้วยกัน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร.ฝ่ายป้องกัน สอบสวน บริหาร และจเรตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย  ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  อดีตตำรวจระดับ ผบช.ขึ้นไปห้าคน

และบุคคลภายนอกสามคนที่ ผ่านการเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนร่วมเป็นกรรมการ

กลับถูกแก้ไขในมาตรา 14 ให้ ผบ.ตร. เป็นรองประธานและ รอง ผบ.ตร.ทุกคน จเรตำรวจแห่งชาติ  เป็นกรรมการ ซ้ำยัง ลดสัดส่วนของอดีตตำรวจระดับ  ผบช.ขึ้นไปที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจเหลือเพียง 3 คน

การกำหนดให้ ผบ.ตร.เป็นรองประธาน ก.ตร. แทนที่จะเป็นอัยการสูงสุดหรือปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีฐานะเป็นเพียงกรรมการนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมราชการที่ถือว่าทั้งสองตำแหน่งมีสถานะสูงกว่า ผบ.ตร. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงฐานะความเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา รวมทั้งอำนาจในการสั่งคดีที่ ผบ.ตร.ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

นอกจากนั้นสิทธิในการเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน  ที่กำหนดให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนมีสิทธิเลือก  ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการให้มีส่วนร่วมของตำรวจส่วนใหญ่

ก็กลับถูกแก้ไขให้เป็นตำรวจระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป เป็นการตัดสิทธิของตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรถึงสารวัตรทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวน รวมกว่าห้าหมื่นคนอย่างไม่มีเหตุผล และไม่สามารถสะท้อนความต้องการของตำรวจที่ส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริงเท่าร่างเดิม

ที่สำคัญ องค์ประกอบของ ก.ตร.ที่มีสัดส่วนของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการถึง 9 คนจาก 18 คนดังกล่าว โดยเฉพาะ รอง ผบ.ตร.ทุกคนซึ่งมีฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. โดยตรง

จะส่งผลทำให้การออกกฎและระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจหลายเรื่องที่ถูกร่างฉบับ แปลงสาร ดังกล่าวกำหนดให้กระทำโดยมติ ก.ตร. เช่น ให้ตำรวจบางหน่วยไม่มียศ การโอนตำรวจเฉพาะทางกว่าสิบหน่วย เช่น งานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เป็นไปได้ยาก

และเรื่องสำคัญคือ การแยก งานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหากงานตำรวจ  ป้องกันการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่ายเช่นที่เป็นปัญหาอยู่ปัจจุบัน

ก็ถูกตัดออกไปพร้อมกับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจแต่ละคนโดยภาคประชาชน ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีจึงควรใช้ความกล้าหาญและเด็ดขาดในการปฏิรูปตำรวจ

โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่คณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้วมากมายแม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง เสนอต่อสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

แทน  “ฉบับปฏิลวงถ่วงเวลา” ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปตามกฎหมาย

 และไม่ได้เป็นการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แท้จริงแต่อย่างใด

ร่างพรบ.ตำรวจ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 21 ก.ย. 2563

About The Author