‘วิชา’ขอต่ออายุกก.อีก30วันอ้างยังไม่ทำปฏิรูปกฎหมาย หลัง31ส.ค.ส่งแค่รายงานฉบับใหญ่คดี’บอส’ให้นายกฯ
ที่สำนักงานกฤษฎีกา เทเวศร์ วันที่ 26 ส.ค. 2563 นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เปิดเผยภายหลังการติดตามความคืบหน้ากรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า วันนี้ได้หารือกันเพื่อทำรายงานเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 โดยจะทำโครงสร้างและรวบรวมเพื่อนำไปสู่การทำรายงานฉบับใหญ่ เพราะครบกำหนด 30 วัน โดยจะดำเนินการยื่นในวันจันทร์หน้า
“บางประเด็นอาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะเวลา 30 วันที่ทำหน้าที่มาถือว่าน้อยมาก ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หยุด และถือว่าเป็นภาระอันหนักหนามาก เพราะต้องมารับฟังเรื่องหนักๆ ทั้งนั้น และถึงที่สุด ถือว่าเราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเสนอนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งการทำสำนวนคดีตั้งแต่แรกว่ามีข้อบกพร่องอะไร และขั้นตอนของอัยการก็ใช้เวลานาน เนื่องจากมีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง”
นายวิชา กล่าวว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ เราได้ขอความเห็นจากอดีตอัยการสูงสุดถึง 4 คน เพื่อให้ช่วยดูว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นกรณีที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่อย่างไร และควรจะปรับปรุงอะไรมาก ทั้งหมดก็ถือเป็นประโยชน์มาก จะนำไปสู่การประกอบความเห็นเพื่อให้แน่ใจว่าจุดบอด จุดบกพร่องของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน โดยยังเหลือเวลาอีก 5 วัน ที่เราจะต้องสรุปภาพรวมทั้งหมด เพื่อดูว่ามีประเด็นใดบ้างต้องแก้ไข แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดถึงการปฏิรูปกฎหมาย เพราะทราบว่าท่านจะให้ต่อเวลาอีก 30 วัน แต่ก็สุดแล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากมีร่างกฎหมายรอผ่านการพิจารณาในสภาอยู่ คือ ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา
“สำหรับการจัดทำข้อสรุปเรื่องนี้ เมื่อเราส่งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ หากท่านนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้เผยแพร่หรือไม่ ผมคงไปเที่ยวเผยแพร่เองไม่ได้ และขึ้นอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรีจะพิจารณา ผมคงไม่ทำอะไรล่วงละเมิดอำนาจท่านนายกรัฐมนตรี” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวด้วยว่า ในการจัดทำข้อสรุปคดีนี้ เราเพียงแต่ทำให้เห็นภาพว่าข้อบกพร่องขององค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับรายงานของเราที่บอกว่า การเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำสูงสุดขององค์กรต้องรับผิดชอบ จะไปสั่งการแล้วบอกว่าไม่ติดตามไม่ดูแลไม่ได้ แต่จะต้องลงลึกถึงตรงนั้น ส่วนจะรับผิดชอบแค่ไหนเพียงไรต้องไปดูรายละเอียด เพราะเราพูดกันมากว่า ถึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดระเบียบ ก็อาจจะผิดจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่าหากผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกดำเนินการเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบุคคลที่เข้าข่ายจริยธรรมมีกี่คน นายวิชา กล่าวว่า ยังแตกรายละเอียดอย่างนั้นไม่ได้ แต่มันรู้อยู่แก่ใจของเราว่ามีใครบ้างที่ควรจะต้องรับผิดชอบอย่างไร ถึงขนาดไหน ตรงนี้คือสิ่งที่การตรวจสอบจะต้องทำให้ปรากฏ อันนี้หนีไม่พ้น แต่เราไม่ได้บอกว่าเขาผิดอย่างนู้น อย่างนี้ แต่เราจะบอกว่า การกระทำของเขา มันส่อ หรือมันแสดงเห็นพฤติกรรมได้ว่า มันเป็นเช่นนั้น สมควรที่จะดำเนินการให้หน่วยงานใดที่จะตรวจสอบต่อไป เพราะจะต้องไปตรวจสอบในเชิงลึก
เมื่อถามว่าในรายงานที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรี จะระบุชื่อบุคคลชัดเจนหรือไม่ นายวิชา ตอบว่า “มีทั้งบุคคล มีทั้งคนที่เกี่ยวข้อง”
เมื่อถามย้ำอีกว่า เท่าที่ดูข้อเท็จจริงคดีนี้บุคคลที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรงเป็นฝ่ายอัยการหรือตำรวจ นายวิชา ตอบว่า “อย่าเพิ่งพูดตอนนี้เลย เพราะเรายังไม่ได้ลงมติกันเรื่องนี้”
นายวิชา กล่าวถึงหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบตำรวจเชิญ พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผบก.กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงเรื่องการถอนหมายแดงจากตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ว่า ทางด้านต่างประเทศแสดงให้เห็นเลยว่า พอเขาแจ้งมาว่าให้ถอนหมายจับ ท่านก็ได้ติดต่อเพื่อขอให้ถอนหมายแดงจากอินเตอร์โพล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไม่มีหมายแดงแล้ว มีแต่หมายจับของไทย แต่ไม่ได้ดำเนินการในด้านต่างประเทศ แต่ตนเชื่อว่าต่อไปทางตำรวจที่จะดำเนินการออกหมายจับใหม่ คงจะประสานทางอินเตอร์โพลในการขอออกหมายแดงอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่า สรุปแล้วใครสั่งให้ถอนหมายแดง นายวิชา ตอบว่า “เขาอ้างว่าเป็นไปตามวิธีปฏิบัติ เมื่อได้รับแจ้งมาว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วก็ขอถอนหมายจับ ขณะนั้น ยังไม่ได้มีการยืนยันโดยอธิบดีอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ เกี่ยวกับเรื่องหมายจับ
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ากระบวนการถอนหมายแดงเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่รู้ว่าหมายจับยังไม่ได้ถอนใช่หรือไม่ นายวิชาตอบว่า “ใช่ กลายเป็นว่า เขาเชื่อตามที่ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายพนักงานสอบสวนแจ้งมาว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว”
ถามต่อว่ากระบวนการออกหมายจับครั้งใหม่ของนายวรยุทธ เป็นผลพวงมาจากคณะกรรมการฯชุดนี้ใช่หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ก็ใช่ เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้แจ้งกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง
ส่วนการเชิญ พ.ต.อ.รณชัย รอดลอย ผกก.สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ มาชี้แจงเรื่องการเสียของนายจารุชาติ มาดทอง พยานคนสำคัญในคดีนี้ นายวิชา กล่าวว่า ทราบว่ามีการแยกคดีออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีอุบัติเหตุ ที่เขาไม่พบสิ่งผิดปกติ 2.กรณีพบสิ่งผิดปกติจากพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนหรือคนรอบข้างนายจารุชาติ ที่มาจากเรื่องของโทรศัพท์มือถือ ที่ได้ความว่าถูกทำลาย ที่ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่าถูกทำลายได้อย่างไร และอยู่ระหว่างการสอบรายละเอียดรวมถึงสอบเส้นทางการเงินด้วย
เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการประสานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายวิชา กล่าวว่า เราประสานไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ปปง. เพราะ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการที่จะต้องแจ้งให้ ปปง.รับทราบ เนื่องจากว่าจะมีผู้ร้องเรียนในเรื่องการทุจริตด้วย และจะประสานไปที่ ปปง. เพื่อดำเนินการต่อไป
เมื่อถามย้ำว่า คณะกรรมการฯจะเป็นคนยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า “ไม่ๆ มีคนร้องเรียนไปล่วงหน้า มันมีสำนวนของมันอยู่”