รองโฆษกอสส.อ้างกรณีไม่ฟ้อง’บอส-กระทิงแดง’เพิ่งทราบข่าวที่ปรากฏทางสื่อเผยอสส.ตรวจราชการที่ภาค4สั่งตรวจสอบสำนวนคดีแล้ว

 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2563 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) สั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ทุกข้อกล่าวหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า ขณะนี้นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ยังคงตรวจราชการที่อัยการภาค 4 จะกลับ กทม.สัปดาห์หน้า เกี่ยวกับข่าวการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ ทางอัยการสูงสุดก็เพิ่งทราบเรื่องนี้จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อ และได้สั่งการให้ตรวจสอบสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว

 

 

นายประยุทธ กล่าวถึงหลักกฎหมายว่า คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องเอง และกรณีที่คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการในกรุงเทพมหานคร  ถ้าไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ต้องเสนอสำนวนไปให้ ผบ.ตร.พิจารณาทำความเห็นแย้ง ถ้าตำรวจเห็นพ้องกับอัยการจึงจะเป็นคำสั่งเสร็จเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม กฎหมาย ป.วิ.อาญา ยังบอกว่าหากมีพยานหลักฐานชิ้นใหม่ ก็สามารถสอบสวนและดำเนินคดีอีกได้ในอายุความ ในส่วนรายละเอียดของคดีนั้น ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในขณะนี้ เนื่องจากติดภารกิจอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่เห็นสำนวนคดี

 

ทั้งนี้นายประยุทธ เพชรคุณ  ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการข่าวค่ำ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท  ด้วยว่า  “ผมเองก็เพิ่งทราบจากอัยการสูงสุดเหมือนกันว่า ท่านเองก็ไม่ทราบเรื่องมาก่อน และก็ได้สั่งการด่วนให้มีการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้ก็ต้องเรียนว่ายังไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่สั่งไม่ฟ้อง”

 

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ทางรองโฆษกฯเคยแถลงข่าวถึงความคืบหน้าคดี ไม่ได้มีการตรวจสอบสำนวนว่า ปลายเดือนมิ.ย.มีการสั่งฟ้องหรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า “ผมไม่ทราบจริงๆ ขอยืนยันว่าไม่เห็นสำนวนที่สั่งไม่ฟ้องเมื่อใดและเป็นอย่างไร ขอตรวจสอบก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ และสั่งเมื่อไหร่ มีเหตุผลอย่างไร”

 

เมื่อถามว่า สังคมมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการมุบมิบพูดคุยตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.ของทางตำรวจและอัยการ โดยไม่มีแถลงเรื่องนี้ แต่เกิดจากสื่อซีเอ็นเอ็นทราบและเสนอข่าว จึงเป็นที่มาสื่อไทยติดตามเสนอข่าว นายประยุทธ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่จริงๆ เวลาที่มีการสั่งสำนวนของพนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องไปแถลงข่าวให้เป็นที่ปรากฏทุกเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันถ้าสื่ออยากรู้ ประเด็นไหน คดีไหนเป็นอย่างไร ก็เป็นหน้าที่อัยการชี้แจงกับสื่อมวลชนและสังคมอยู่แล้ว แต่เรียนว่าการสั่งสำนวนของอัยการจังหวัดทั่วประเทศมีจำนวนในประเทศก็ไม่ได้มาแถลง แต่เรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสังคมให้ความสนใจต้องขอตรวจสอบก่อน ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อทางสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็จะได้มีการแถลงต่อสื่อมวลชนและสื่อสารไปยังสังคมอย่างแน่นอน

 

ถามอีกว่า คดีนี้มี 5 ข้อหา แต่ขณะนี้หลุด 4 ข้อหาแล้ว ส่วนที่เหลือ 1 ข้อหาก็สั่งไม่ฟ้อง เป็นเรื่องที่มีความผิดปกติหรือไม่ นายประยุทธ ตอบว่า กล่าวอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการสั่งสำนวนนั้น หลักการก็คือว่าไปตามพยานหลักฐาน ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทางคดี หากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเป็นจริงอย่างที่ปรากฏบนสื่อ แต่แน่นอนว่าเมื่อทางอัยการสั่งไม่ฟ้องนั้นกฎหมายบอกว่าต้องเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถ้าไม่ถูกต้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือทั้งเหตุผล ท่านก็ต้องแย้งอยู่แล้ว แต่การสั่งสำนวนอย่างที่ผมได้ทราบตอนสื่อมวลชนนำเสนอ

 

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลง ท่านพูดถูกต้องเรื่องการสั่งสำนวน นั้นบางทีพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ตรงกับสำนวนตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ ขอตรวจสอบก่อน ผมก็รู้สึกตกใจที่ช่วงตี 5 หกโมงเช้าสื่อไม่เคยโทรมากระหน่ำขนาดนี้ 300-400 สาย ก็รู้ว่าน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้ผมอยู่จ.ขอนแก่น จะเดินทางกลับวันอาทิตย์แล้วจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเสนอสื่อมวลชนและสังคมต่อไป”

 

เมื่อถามอีกว่า ผบ.ตร.ยังมีเวลาที่จะเห็นแย้งอัยการหรือเห็นด้วยระยะเวลาอีกนานแค่ไหนขณะที่คดีความอายุ 2570 นายประยุทธ กล่าวว่า “ผมพูดในแง่มิติกฎหมายสำหรับกระบวนการสั่งคดีนี้ ถ้าพนักงานอัยการที่สั่งคดีไม่ใช่อัยการสูงสุดนั้นตามกฎหมายกำหนดว่า ถ้าอยู่ในกทม.ต้องเสนอสำนวนไปที่ผบ.ตร. หากเห็นพ้องต้องกันก็ถือคำสั่งนั้นเป็นที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง แต่ถ้าผบ.ตร.เห็นแย้งสำนวนนั้นก็จะถูกส่งต่อไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด ซึ่งคดีนี้ทางผบ.ตร.เห็นพ้องกับอัยการก็เป็นที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง

 

“การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนั้นต่างกับคำพิพากษาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของศาล ถ้าผู้พิพากษาตัดสินเด็ดขาดแล้วเรื่องนั้นจะรื้อฟื้นเอามาฟ้องกันอีกไม่ได้ ขณะที่ชั้นอัยการถ้าหากมีหลักฐานและข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปหรือมีเหตุผลควรจะเชื่อได้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่อัยการสั่งมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องหรือตำรวจเห็นพ้อง ก็สามารถที่จะหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาได้อีกภายในอายุความ โดยในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ และผู้เสียหายสามารถไปฟ้องได้ภายในอายุความ ซึ่งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องไม่ได้ห้ามเหมือนกรณีศาลตัดสิน แต่ถ้าศาลตัดสินแล้วไม่สามารถไปฟ้องซ้ำได้”

 

เมื่อถามอีกว่า ทำไมอัยการที่มีคำสั่งไม่ฟ้องจึงเป็นคนเดียวกับที่สั่งไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ ลูกอดีตนายกฯ นายประยุทธ กล่าวว่า “ผมตรวจสอบก่อน ยังไม่ทราบ ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบรายละเอียดแล้ว”

About The Author