ตำรวจบังคับให้’พิมพ์มือบันทึกประวัติอาชญากรรม’  ประชาชน ‘ไม่ทำ’ ได้หรือไม่?
ยุติธรรมวิวัฒน์
                           

ตำรวจบังคับให้ พิมพ์มือบันทึกประวัติอาชญากรรม  ประชาชน “ไม่ทำ” ได้หรือไม่?

 

                                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                ขณะนี้การสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ น้องชมพู่ ซึ่งเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ มีผู้คนสนใจติดตามความคืบหน้ากันมากมาย ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร?

จะมีใครในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นพี่ป้าน้าอา เช่น ลุงพล หรือแม้กระทั่ง พ่อ แม่ ตกเป็น ผู้ต้องหา ว่าฆ่าหลานหรือแม้กระทั่งลูกของตนเองตามที่มีตำรวจผู้ใหญ่ ตั้งข้อสันนิษฐานไว้แรกพบศพ       

รวมทั้ง “ยิ่งแน่ใจ” เมื่อผลการตรวจครั้งที่สองของสถาบันนิติเวชตำรวจรายงานว่าพบบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ หรือไม่?

หรือว่าสุดท้ายจะพากัน กลับลำ ลงจากเขาเหล็กไฟ แยกย้ายกันกลับที่ตั้งของแต่ละคนไป!

ปล่อยให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบระดับสถานี  ทำ สำนวนชันสูตรพลิกศพ ส่งให้อัยการจังหวัดมุกดาหารยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนและวินิจฉัยตามกฎหมาย

โดยสรุปว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติโดยไม่ทราบเหตุที่แน่ชัด

และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทำให้ตายซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่จะต้องเรียกใครไปสอบสวนในฐานะพยานอย่างวิปริต เกือบหนึ่งพันคน!

และจำนวนกว่าหนึ่งร้อยสามสิบคนเป็น ผู้ต้องสงสัย   ถูก ไล่เก็บดีเอ็นเอ เพื่อไปตรวจเปรียบเทียบ ซึ่งไม่รู้ว่า กับวัตถุพยานอะไร? จนทำให้ผู้คนเกิดความวุ่นวายกันทั้งหมู่บ้าน?

ต่อปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวนที่ล้าหลังของประเทศไทยเช่นนี้ มีอีกปัญหาหนึ่งซึ่งผู้คนรู้สึกอึดอัดหรือแม้กระทั่งคับแค้นใจอย่างยิ่งก็คือ

กรณีที่ถูกตำรวจแจ้งข้อหา หรือว่าถูก ออกหมายเรียก ให้ไปพบ รวมทั้งกรณีที่ ถูกจับตามหมายศาล ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาร้ายแรงหรือลหุโทษ แม้กระทั่งคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวที่ผู้ต้องหาปฏิเสธมีข้อต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่มีการกล่าวหา แม้กระทั่ง พ.ร.บ.จราจร!   เรื่องหนึ่งซึ่งทุกคนต้องเผชิญกันตลอดมาและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การถูกบังคับให้พิมพ์มือเพื่อตรวจสอบและบันทึกประวัติอาชญากรรม!

เป็นกระบวนการที่สร้างความหวาดหวั่นให้ผู้คน โดยเฉพาะบุคคลหนุ่มสาวและชาวต่างประเทศอย่างยิ่ง

เนื่องจากระบบการสอบสวนคดีอาญาประเทศไทย  รัฐบาลทุกยุคสมัย ได้ปล่อยให้ตำรวจมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลไปแจ้งข้อหา หรือเสนอศาลออกหมายจับกันแสนง่าย!

ไร้การตรวจสอบพยานหลักฐานโดยพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีเหมือนวิธีปฏิบัติในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง!           

นอกจากนั้น ระบบประวัติอาชญากรรมในราชการตำรวจไทย หากใครถูกบันทึกว่ามีประวัติเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาในคดีอะไร

แม้ผลสุดท้ายอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือแม้กระทั่งศาลยกฟ้อง

แต่ประวัติว่าเคยเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในเรื่องนั้น ก็จะปรากฏอยู่ตลอดไป

และซ้ำร้ายในหลายคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง หัวหน้าสถานีผู้รับผิดชอบก็ไม่ได้สนใจในการติดตามนำผลคดีไปรายงานให้มีการบันทึกไว้ในประวัติอาชญากรรมนั้นแต่อย่างใด?

ส่งผลทำให้ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ไม่ได้รับความเป็นธรรม และหางานทำรวมทั้งทำธุรกิจการค้ากันด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะผู้ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง

ต้องไม่ถูกบันทึกไว้ให้ปรากฏในประวัติอาชญากรรมไม่ว่าในหน่วยงานใดทั้งสิ้น

แม้กระทั่งผู้ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้ลงโทษ  ไม่ว่าจะจำคุกหรือปรับหนักเบาเพียงใด

ก็ควรได้รับการพิจารณาว่าจะลบประวัติอาชญากรรมของเขาได้ เมื่อพ้นโทษมานานแล้วเท่าใด ด้วยเช่นกัน?  ต่อปัญหานี้ที่มีผู้คนได้รับความเดือดร้อนจากการที่ตำรวจไทยได้ออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา หรือเสนอศาลออกหมายจับอย่างไม่ธรรม เนื่องจากมั่นใจว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา

หนทางหนึ่งซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อจำเป็นต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกหรือถูกจับตามหมายศาลก็คือ การปฏิเสธไม่พิมพ์มือเพื่อบันทึกหรือเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติรับรองไว้

การพิมพ์ลายนิ้วมือ ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.วิ อาญา มาตรา 132 ที่บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมพยานหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้” (1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจค้นตัวผู้ต้องหาฯ หรือ พิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า ซึ่งน่าจะทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น”

ซึ่งบทบัญญัตินี้ย่อมหมายความว่า เป็นการกระทำเพื่อนำไปตรวจเปรียบเทียบกับลายมือหรือลายเท้าของคนร้ายที่เก็บจากที่เกิดเหตุเพื่อการพิสูจน์การกระทำผิดเป็นสำคัญ          อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งการปฏิเสธของบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดโทษอาญาไว้แต่อย่างใด       หากเพียงแต่ถือว่า จะถูกสันนิษฐานในทางที่เป็นผลร้ายแก่ตนเองเท่านั้น

แต่ตำรวจไทยส่วนใหญ่สำคัญผิดในเจตนารมณ์ของ ป.วิ อาญา ในเรื่องนี้ ทำให้มีการนำผู้ต้องหาทุกคนไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปบันทึกประวัติอาชญากรรมด้วย ซ้ำบางคนยังเข้าใจว่า การปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์มือ มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอีกด้วย

โดยอ้างว่ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในฟ้องเพิ่มโทษของพนักงานอัยการ มิฉะนั้น จะไม่รับสำนวนไปฟ้องคดี

แต่เมื่อมีกรณีที่ ผู้ต้องหาบางคนที่หวงแหนสิทธิเสรีภาพของตน ไม่ยอมพิมพ์มือเกิดขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร?

ในปี พ.ศ.2549 หลังการยึดอำนาจ จึงได้มีการเสนอให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ออกประกาศฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา  เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549

กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิพม์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

ผู้ฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ในเรื่องนี้ สรุปว่า

ประกาศ คปค.ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง (รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม) มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้) และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง (บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน)

มาตรา 5 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นใช้บังคับมิได้

ส่งผลทำให้นับจากนี้ ตำรวจไทยต้องปฏิรูประบบการบันทึกประวัติอาชญากรรมครั้งใหญ่ เพราะจะมีผู้ต้องหาที่ปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์มือเพิ่มมากขึ้น! 

 วิธีตรวจสอบว่าบุคคลที่ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับตามหมายศาลคนใดเคยถูกดำเนินคดี หรือเคยมีประวัติต้องโทษในฐานความผิดใดมาก่อนหรือไม่ ปัจจุบันสามารถกระทำได้ง่ายๆ โดยพนักงานสอบสวนเองผ่านระบบ Polis และวิธีการอื่นใดที่ต้องได้รับการพัฒนาขึ้น

ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาไป “พิมพ์มือหน้าห้องขัง” กันด้วย หมึกดำ ให้เกิดความหวั่นไหวและล้างเช็ดกันวุ่นวายอีกต่อไป.  

พิมพ์มือ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 ก.ค. 2563

About The Author