รองผบ.ตร.แจงกมธ.กฎหมายฯยันตำรวจไม่ตั้งธงหาแพะคดี’น้องชมพู่’ซักถาม900คนไม่ใช่การสอบสวน แพทย์นิติเวชชี้กำลังเดินผิดทาง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ก.ค. 2563 ที่ห้องประชุม 408 รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.การกฎหมายฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้เชิญพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการสอบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่
โดย นายสิระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการเรียกประชาชนเกือบ 1,000 คน เข้าให้ปากคำ และตรวจดีเอ็นเอจำนวนมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางคณะกมธ.จึงต้องการทราบข้อเท็จจริงถึงแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว
ด้านพล.ต.อ.สุวัฒน์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่ทำคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ข่าวทุกวัน แต่จะให้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อป้องกันความสับสน และเจ้าหน้าที่คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน รวมถึงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การทำงานในขณะนั้น เนื่องจากเราพบวัตถุพยานหลายอย่างจากร่างกายน้องชมพู่ที่สกัดเอาดีเอ็นเอออกมาได้ จึงต้องพยายามหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบ ซึ่งกรณีที่ดีเอ็นเอตรงกันก็ไมได้หมายความว่าเป็นคนร้ายเสมอไป ส่วนคน 900 กว่าคนที่เจ้าหน้าที่เรียกมาก็ไม่ได้ถูกสอบสวนทุกคน แต่เป็นการพูดคุยซักถาม หากคนใดมีประโยชน์จึงเข้าสู่กระบวนการสอบปากคำในลักษณะพยานในสำนวนการสืบสวน ประมาณ 63 ราย โดยไม่ได้บังคับแต่เป็นการพูดคุยด้วยความสมัครใจ และไม่มีการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครบอกว่าถูกตำรวจคุกคาม ในทางกลับกันชาวบ้านในหมู่บ้านอยากรู้ความจริงว่าเด็กขึ้นไปบนเขาได้อย่างไร
“การเก็บดีเอ็นเอ เราทำตามป.วิอาญา ม.131 โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมมา มีบันทึกความยินยอมทุกฉบับในการเก็บดีเอ็นเอ เรื่องนี้ถือเป็นคดีแรกในชีวิตที่ไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกที่เป็นประเด็นในข่าวทุกวันกว่า 60 วัน ผมไม่เคยเจอ แต่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่กดดัน เราทำตามพยานหลักฐาน เพียงแต่การทำงานยากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานด้วยความระมัดระวัง ขอให้เชื่อว่าเราดูเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ดูเป็นท่อนๆ ยืนยันว่า เราทำตามกฎหมายไม่ทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ ส่วนประเด็นตั้งธงหาแพะนั้น ยืนยันว่าการทำคดีไม่จำเป็นต้องจับคนร้ายได้ทุกคดี การสืบสวนสอบสวนมีเส้นทางของมัน หากไม่ได้จริงๆก็พักการสอบสวนตาม ป.วิอาญาได้ แต่อำนาจการสอบสวนยังอยู่ ซึ่งทีมสอบสวนของเราไม่ได้รู้สึกกดดัน” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.สอบถามถึงการชันสูตรศพ 2 ครั้งที่แตกต่างกัน ว่าเหตุใดจึงมีการตรวจซ้ำ โดย รองผบ.ตร. ชี้แจงว่า ที่ต้องผ่า 2 ครั้ง เพราะครั้งแรกญาติยังติดใจสงสัย ว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญอื่นหรือไม่ ครอบครัวจึงร้องขอให้ผ่าเป็นครั้งที่ 2 หากผลขัดแย้งกันก็ต้องหาคำอธิบาย ยืนยันว่าคดีนี้มีแต่ข่าวที่นำเสนอไปเองว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ ตำรวจยังไม่เคยสรุปแบบนี้ เพราะการผ่าครั้งที่ 2 ผลอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การขนย้าย ซึ่งแพทย์ที่ชันสูตรมีคำอธิบายอยู่แล้ว ขอย้ำว่าทุกวันนี้เป็นการสรุปคดีกันเอาเอง ส่วนที่ต้องเก็บดีเอ็นเอสื่อมวลชนด้วยนั้น เพราะวันนั้นสื่อตามขึ้นไปทำข่าวด้วย ไม่ใช่การเก็บเรื่อยเปื่อยที่ทำมีเหตุผลสนับสนุน ส่วนที่ประชาชนร้องเรียนว่าถูกคุกคาม ตำรวจก็พร้อมปรับการทำงาน และสามารถร้องเรียนมาที่ตำรวจได้
“ประเด็นละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวน ส่วนศพน้องไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร มีแค่ 2 ทาง คือ ไปเองหรือมีใครพาไป ดังนั้น ต้องมาดูเปอร์เซ็นความเป็นไปได้ว่าน้องสามารถไปเองได้หรือไม่ แต่ตำรวจยังไม่เคยสรุปว่า ศพไปอยู่ตรงนั้นวันไหนเมื่อไหร่ เพราะอาจจะไปพักที่อื่นมาก่อนก็ได้ เส้นผมขาดได้อย่างไร ยืนยันว่าตำรวจยังไม่ได้ตัดประเด็นเหล่านี้ เพราะทุกอย่างต้องมีคำตอบ แม้ว่าจะจับคนร้ายได้หรือไม่ก็ตาม แต่ต้องมีเหตุผลอธิบายได้ ย้ำว่าทุกฝ่ายอย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไร ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีกรรมการขึ้นมาเปรียบเทียบการผ่าศพ 2 ครั้ง เหมือนกับคดีนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ เพื่อผ่าครั้งที่ 3 ว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งให้แพทยสภารับผิดชอบเรื่องนี้ได้ เพราะคดีนี้พฤติการณ์ตายยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่กลับมีการข้ามขั้นไปตรวจดีเอ็นเอหาสาเหตุการตายแล้วซึ่งเป็นเป็นเรื่องยาก เพราะศพเน่าไปแล้ว ดังนั้น ต้องหาสาเหตุการตายให้ได้ก่อนว่ามีข้อสันนิษฐานอย่างไร
ด้านนพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่สื่อ เพราะสื่อเข้าไปถามข้อมูลจากพยานถึงเรื่องในครอบครัว ดังนั้น คดีนี้มีความกดดันอย่างแน่นอน ส่วนการผ่าศพ 2 ครั้ง ยืนยันว่า ในทางนิติเวชไม่มีทางจะได้ข้อมูลมากกว่าครั้งแรก แต่ครั้งที่ 2 อาจถูกชี้นำได้ ในทางการแพทย์ ไม่มีใครอยากผ่าซ้ำ และการผ่าครั้งที่ 2 ผ่าได้ยากมาก แต่ในทางสังคมมักเชื่อไปเองว่าครั้งที่ 2 จะได้ผลมากกว่าครั้งแรก
“ส่วนตัวคิดว่าคดีนี้กำลังมาผิดทาง เพราะเมื่อได้ผลจากครั้งแรกไม่พอใจต้องส่งไปผ่าครั้งที่ 2 เสมอ ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจในการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และเมื่อผลออกมาต่างกัน คำตอบก็จะไปออกในผลที่น่าพอใจมากที่สุด ทั้งที่ไม่รู้ว่าผลครั้งไหนถูกต้อง และคดีนี้จากการชันสูตรสาเหตุการตายว่ามาจากการขาดอาหารก็มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าจะถามว่าใครพาขึ้นไป ทางการแพทย์ไม่สามารถตอบได้ และขอให้ตำรวจแยกสิ่งตรวจพบ และความเห็น โดยเฉพาะสื่อที่พอหาคำตอบไม่ได้ ก็ไปหาความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีจนเกิดความสับสน”นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว