เลขาธิการต้านคอร์รัปชันแฉ!ตำรวจบนโรงพัก แตะอะไรก็เป็นเงิน มีช่องทางโกงกิน สินบน ส่วย รีดไถ สารพัด
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2563 ดร. มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “ตำรวจบนโรงพัก แตะอะไรก็เป็นเงิน”มีรายละเอียดดังนี้
คอร์รัปชันในวงการตำรวจเกิดขึ้นมานานจนใครๆ ก็รู้ กระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจที่มีมาต่อเนื่องก็ยังไม่เป็นผลเพราะมีแรงต้านสูงจากผู้เสียประโยชน์ และแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบัญญัติให้ต้องปฏิรูปแต่ก็ไม่คืบหน้า ความจริงที่บ่อนทำลายสถาบันตำรวจและสร้างความรู้สึกในด้านลบต่อประชาชนเช่นนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร โดยใคร
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า “ตำรวจมีข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมมาอย่างต่อเนื่อง” เช่น คอร์รัปชันของ “ตำรวจบนโรงพัก” ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน มีช่องทางโกงกิน สินบน ส่วย รีดไถ แบ่งตามสายงาน ดังนี้
1) สายงานป้องกันปราบปราม ประกอบด้วย ตู้แดง สถานบริการ ม่านรูด ร้านทอง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ งบบริการ โรงงาน โต๊ะโทรศัพท์ ยักยอกของกลางและงดเว้นการจับกุม
2) สายงานสืบสวน ประกอบด้วย บ่อน ซ่อง รับจ้างจับผู้ต้องหา รับจ้างสืบสวนส่วนตัว ร้านค้าขายสื่อลามก หวยใต้ดิน ตู้ม้า โต๊ะสนุ๊กเกอร์เถื่อน สร้างสายปลอมเพื่อรับสินบน โต๊ะรับพนันบอล สินค้าหนีภาษี ร้านค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แรงงานต่างด้าว ยักยอกของกลาง งดเว้นการจับกุม และการสร้างผู้สนับสนุนปลอมเพื่อรับส่วนแบ่ง
3) สายงานสอบสวน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำสำนวนคดี ประกอบด้วย ไม่สอบพยาน ปิดสำนวนหลักฐาน ไกล่เกลี่ยคดี ส่วนแบ่งจากคู่กรณี บริษัทประกันและการประกันตัว
4) สายงานจราจร ประกอบด้วย วินมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง วินรถตู้ วินรถสองแถว การตั้งด่านผี รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาลเอกชน ร้านอาหาร อู่รถแท็กซี่ อู่รถตุ๊กตุ๊ก และการสร้างผู้แจ้งเบาะแสปลอมเพื่อรับส่วนแบ่งสินบนนำจับ
5) สายงานอำนวยการ ประกอบด้วย คอมมิชชัน การประมูลร้านขายอาหารบนโรงพัก ค่าธรรมเนียมขายใบอนุญาต การอำนวยความสะดวก น้ำมัน เงินค่าล่วงเวลา
ขณะที่สถิติตำรวจที่ถูกดำเนินคดีทางวินัย มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นในแต่ละปี
คอร์รัปชันโดยตำรวจมีทั้งที่เกิดขึ้นโดยเจตนาของตัวบุคคลนั้นเอง หรือเกิดจากการกดดันของผู้บังคับบัญชา บ้างก็เกิดจาก “ประชาชน” มารุมเร้าหรือหว่านล้อมให้ตำรวจคิดเข้าข้างตนเองว่าการทุจริตนั้นเป็นความชอบธรรม เช่น ขอให้ช่วยเรื่องคดี เหมือนกับที่หลายคนชอบปฏิบัติเวลาทำผิดกฎจราจร สรุปคือ ตัวเองนั้นมีความโลภ อยากได้ อยากมี แถมยังโดนเจ้านายและนักการเมืองคอยกดดัน
ปัญหาของตำรวจ เป็นปัญหาจากโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร ที่มีการรวมศูนย์อำนาจไว้มากเกินไป ทำให้ทุกอย่างล่าช้า ไม่ทันใจประชาชน เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ทำให้การเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดระบบเส้นสายและการซื้อขายตำแหน่ง แม้แต่อำนาจการบริหารของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ถูกแทรกแซงจากนักการเมือง การมีอำนาจบังคับตามกฎหมายมากมายแต่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ย่อมทำให้คนหลงผิด
มีรายละเอียดและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจอีกมากในงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ: กรณีศึกษาระดับสถานีตำรวจ” โดย ผศ. พ.ต.ท. ดร. ดิฐภัทร บวรชัย อาจารย์ (สบ.3) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะตำรวจศาสตร์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ทุนวิจัยจาก สนง.คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (ดาวน์โหลดเอกสาร https://bit.ly/326ElxS)
เรื่องเหล่านี้แม้ผมเคยฟังมาบ้าง เนื่องจากมีเพื่อนหลายคนเป็นนายตำรวจ และเคยได้รับเชิญไปบรรยายที่กองบัญชาการการศึกษา สตช. หลายหลักสูตร ทำให้เข้าใจถึงคำว่าตำรวจมืออาชีพและเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ต้องดูแลอนาคตครอบครัวของคนในเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
แต่งานวิจัยที่ค้นคว้าและสังเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์โดยนักวิชาการที่เป็นตำรวจด้วยกันเองเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างเป็นระบบและเห็นโอกาสในการแก้ไขมากขึ้น
ในเร็ววันนี้จะมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง คงต้องถามท่านว่า พร้อมหรือไม่ที่จะให้สัญญากับประชาชนและเพื่อนตำรวจของท่าน ว่าจะกวาดล้างตำรวจที่รีดไถรังแกประชาชนให้หมดไป เพื่อเรียกศักดิ์ศรีของตำรวจกลับคืนมา