ตำรวจทำอะไร?ฝ่ายปกครองทลายบ่อนการพนันกลางเมืองภูเก็ต2แห่ง จับผีพนันร่วมร้อยมั่วสุมเย้ยพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ลั่นไม่รับเคลียร์ธุรกิจสีเทาใดๆทั้งสิ้น
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 เพจเฟซบุ๊ก ”ปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง”เผยแพร่ปฏิบัติการจับกุมบ่อนการพนันกลางเมืองภูเก็ต โดยระบุว่า เมื่อ 30 มิ.ย. 2563 เวลา 15.30 น. นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง พร้อมพนักงานฝ่ายปกครอง และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เปิดปฏิบัติการ “ดีบุก” ทลาย 2 บ่อนใหญ่กลางเมืองภูเก็ต หลังจากประชาชนร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมและร้องสื่อมวลชนหลายสำนัก ว่ามีบ่อนการพนันผุดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เปิดบ่อนพนันโปปั่น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บ่อนกุ้ง – ปลา” อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย เปิดให้นักพนันเข้าไปเสี่ยงโชคทั้งวันทั้งคืน โดยไม่สนใจคำสั่งปิดแหล่งมั่วสุม ห้ามร่วมกลุ่ม ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่อย่างใด
หลังได้รับการร้องเรียน กรมการปกครองจึงส่งพนักงานฝ่ายปกครองเข้าไปทำการสืบสวนพบว่าบ่อนพนันจุดแรก ตั้งอยู่กลางเมืองภูเก็ต ที่ลานกว้างหลังตึกแถวย่านพูนผล ถนนพูนผล ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พบว่ามีการลักลอบเปิดบ่อนการพนันโปปั่น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า กุ้ง, ปลา, แมงดา, ดอกไม้ ซึ่งเป็นการพนันยอดนิยมบนเกาะภูเก็ต สภาพบ่อนเป็นพื้นที่โล่ง มีการล้อมรั้วด้วยกำแพงสังกะสีรอบทิศทางเพื่อบิดบังสายตาคนทั่วไปมิให้มองเห็นกิจกรรมภายในบ่อน โดยมีทางเข้าเป็นประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ สามารถรองรับรถยนต์กว่า 30 คัน ขับเข้าไปแอบซ่อนจอดเพื่อเล่นพนันภายในบ่อนได้ ซึ่งจะมีคนเฝ้าประตูคอยดูต้นทางตลอดเวลา ภายในบ่อนพบนักพนันกว่า 40 คน กำลังเบียดเสียดกันเข้าไปวางเดิมพันและลุ้นผลพนันอย่างสนุกสนาน
จุดที่สอง ที่บริเวณใกล้สี่แยกเขาล้าน ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พบว่ามีการลักลอบเปิดบ่อนพนันโปปั่นเช่นเดียวกัน บ่อนนี้มีรั้วสังกะสีกั้นเพื่อป้องกันมิให้คนภายนอกมองเห็นกิจกรรมเล่นพนันด้านในเช่นกัน โดยมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดอยู่ภายในจำนวนมาก ภายในบ่อนพบนักพนันกว่า 40 คน กำลังรวมกลุ่มเล่นพนันอย่างครึกครื้น และมีนักพนันจากภายนอกเดินเข้าออกบ่อนตลอดเวลา
เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองชุดสืบสวนพบการกระทำผิดชัดแจ้งแล้ว จึงได้ขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดภูเก็ตก่อนเข้าไปจับกุม
ทันทีที่ชุดจับกุมเข้าไปถึง เมื่อนักพนันรู้ตัวต่างพากันแตกตื่น ทิ้งสิ่งของวิ่งหนีกระจัดกระจายกันไปคนละทิศ คนละทาง แต่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองได้วางกำลังไว้รอบด้าน ปิดทางหนีทุกด้านไว้แล้ว จึงสามารถรวบตัวนักพนันได้ทันที
จุดแรก ที่อำเภอเมืองภูเก็ต สามารถจับกุมนักพนันได้ 45 คน แยกเป็น ชาย 30 คน หญิง 15 คน เงินของกลาง 62,420 บาท และทองคำหนักหนึ่งบาท
จุดสอง ที่อำเภอถลาง สามารถจับกุมนักพนันได้ จำนวน 42 คน แยกเป็นชาย 22 คน หญิง 20 คน เงินของกลางในบ่อน 64,260 บาท และยังพบบัญชีเงินหมุนเวียนบ่อนละกว่าหนึ่งล้านบาทต่อวัน รวมทั้ง 2 จุด เป็นจำนวน 87 คน เงินของกลาง 126,680 บาท
จากนั้นได้นำตัวผู้ถูกจับทั้งหมดมาทำบันทึกจับกุม ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองภูเก็ต และที่ว่าการอำเภอถลาง ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันลักลอบจัดให้มีการเล่นอันระบุไว้ใน บัญชี ก. หมายเลข 2 (โปปั่น) เพื่อพนันเอาทรัพย์สินกันโดยผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง เปิดเผยว่า บ่อนพนันทั้ง 2 แห่ง ที่เราเข้าจับกุมในวันนี้ เคยเปิดเป็นบ่อนพนันมานานแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่เขาเดือดร้อนจนนำมาร้องเรียนออกสื่อมวลชนเป็นข่าวใหญ่โต ทำให้บ่อนปิดตัวไปชั่วคราว แต่พอเรื่องเงียบแล้วก็กลับมาเปิดบ่อนใหม่ซ้ำอีกครั้งในสถานที่เดิม โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย แม้จะอยู่ในสถานการณ์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเราพบว่าบ่อนพนันทั้ง 2 แห่งนี้ เปิดพร้อมกับมาตรการคลายล็อก เฟส 4 และปล่อยปละละเลย ให้นักพนันเข้ามั่วสุมเล่นพนันกันได้โดยไม่มีการคัดกรองป้องกันโรคแต่อย่างใด
ซึ่งจากนี้ไป ฝ่ายปกครองจะได้กวดขันจับกุมแหล่งอบายมุขอย่างต่อเนื่อง ฝากถึงผู้เกี่ยวข้องขอให้ประกอบธุรกิจให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคมเกินควร หรือท้าทายกฎหมายอย่างชัดแจ้ง หากประชาชนมีเบาะแสบ่อนการพนันหรือแหล่งอบายมุขสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ สามารถแจ้งได้ที่ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองในท้องที่ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบยังไม่มีการปฏิบัติ สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย
อนึ่ง ที่ผ่านมามีข่าวสารว่า ได้มีบุคคลมิจฉาชีพ อ้างตัวเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง หรืออ้างเป็นนายหน้าตัวแทน ออกตระเวนตบทรัพย์เรียกรับผลประโยชน์จากบ่อนการพนัน และธุรกิจสีเทาต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนยอมที่จะจ่ายทรัพย์สินแก่กลุ่มมิจฉาชีพ
ซึ่งชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองขอประกาศให้ทราบว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองไม่มีนโยบายในการเรียกทรัพย์สินกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจผิดกฏหมายเพื่อรับเคลียร์ใดๆทั้งสิ้น กำลังพลของศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง(ศกปค.)ซึ่งเป็นกำลังหลักที่ปฏิบัติภารกิจในนามของชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง มีกำลังเพียง 30 นาย มีภารกิจที่จะต้องวางแผนออกปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่มีเวลาที่จะไปตระเวนเรียกรับผลประโยชน์ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่กล่าวอ้างว่าเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง หรือเป็นตัวแทนของชุดปฏิบัติการพิเศษ
หากผู้ประกอบการผิดกฎหมายรายใดยอมที่จะจ่ายหรือเคลียร์กับกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว ซึ่งอ้างตัวว่าเกี่ยวข้องกับชุดตรวจการพิเศษกรมการปกครอง และหากมีข่าวสารออกมาว่าเคลียร์กับชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองแล้ว ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองจะเข้าจับกุมสถานประกอบการนั้นทันที
ทั้งนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองปฏิบัติงานภายใต้กรอบภารกิจดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
1.ภารกิจที่มีผู้ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน ผ่านศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และหรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล และได้มีการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่ามีมูล
2.ภารกิจที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสั่งการ
3.ภารกิจที่หน่วยงานของรัฐ มีหนังสือประสานร้องขอมาอย่างเป็นทางการ
ดังนั้น หากไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าว ก็ไม่อยู่ในกรอบการปฏิบัติของชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง