ตำรวจสอบสวนทำให้บอส ‘พ้นคดี’ ป.ป.ช.ชี้มูล ‘ผิดวินัยไม่ร้ายแรง’ คุ้ม!
ตำรวจสอบสวนทำให้บอส “พ้นคดี” ป.ป.ช.ชี้มูล “ผิดวินัยไม่ร้ายแรง” คุ้ม!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
คดี บอส กระทิงแดง หรือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนคนตายแล้วหนีเมื่อปี 2555 ในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ทองหล่อ
ที่ตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับในขณะนั้น แสดงอาการขึงขัง ลูกเจ้าสัวใหญ่ขับรถชนตำรวจตาย “ยอมไม่ได้”!
เป็นข่าวดังขึ้นมาอีกครั้ง
หลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตำรวจ ผู้รับผิดชอบการสอบสวน ร่วมสิบคนในคดีนี้
เป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน
และปล่อยให้บางข้อหาที่เกี่ยวพันกับคดีสำคัญ ขาดอายุความ
ส่งเรื่องให้ตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งลงโทษทางวินัยตำรวจแต่ละ คนตามพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดต่อไป
มีทั้ง นายพลตำรวจ ระดับผู้บังคับการไปจนถึงสารวัตรยศพันตำรวจตรีในขณะนั้น และที่เกษียณอายุ สบายไปแล้ว หลายคน
ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนทำให้บอสพ้นจากการถูกดำเนินคดีข้อหา เมาแล้วขับ และ ขับรถเร็วเกินกำหนด
ก่อให้เกิดปัญหาและ เสียเวลา ต่อการฟ้องคดีหลักของพนักงานอัยการในความผิดฐาน “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 291 มีโทษจำคุกถึงสิบปี
รวมทั้งข้อหา “ชนคนตายแล้วหนี” ที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร มาตรา 78 มีโทษจำคุกถึงหกเดือนตามมาตรา 160 วรรคสอง แม้สุดท้ายจะพิสูจน์ได้ว่า ความตายของบุคคลนั้นจะไม่ได้เกิดความประมาทของตนก็ตาม
การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจที่ไม่ครบถ้วน
แต่ ยัดไส้ เสนอให้อัยการ สั่งฟ้อง หรือที่เรียกว่าเป็น การสอบสวนแบบไม่ตรงปก ดังกล่าว!
ทำให้อัยการต้อง เสียเวลา ในการสั่งให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม โดยไม่จำเป็น
สั่งให้แจ้งกองพิสูจน์หลักฐานคำนวณความเร็วของรถขณะชนตามหลักวิทยาศาสตร์โดยวิเคราะห์จาก สภาพรถหลังชน ยืนยัน
แทนการคำนวณจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทแล่นจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่ง รวมทั้งรอยเบรกที่ปรากฏบนพื้นทางซึ่งเป็นวิธีการที่กระทำกันปกติทั่วไป
แต่การสอบสวนกลับปรากฏว่า ไม่สามารถหาภาพจากกล้องมาคำนวณเช่นนั้นได้!
จริงหรือไม่??
ในข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่รถเกิดการชนกันขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตาย ได้ขี่รถเปลี่ยนช่องทางตัดหน้ารถที่นายบอสขับมาอย่างกะทันหัน
ในทางกฎหมายถือว่าเป็นพฤติการณ์ขับรถประมาทเช่นกัน
จึงได้มีการดำเนินคดีข้อหา ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหายด้วย
แต่คดีเป็นอันระงับไปด้วยเหตุแห่งความตายของเจ้าตัวผู้กระทำผิด
ฉะนั้น ถ้าการสอบสวนคดีไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้หรือยืนยันว่า “บอสขับรถขณะมึนเมา” หรือ “ขับเร็วเกินกำหนด” คือ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสำหรับในเขตชุมชนตามกฎหมาย
อัยการจะฟ้องคดีพิสูจน์ต่อศาลให้ลงโทษบอสข้อหาขับรถประมาทได้อย่างไร?
หากขืนสั่งฟ้องไป โอกาสที่ศาลจะพิพากษาลงโทษ ก็แทบเป็นไปไม่ได้
เพราะในเรื่องการหลบหนีไม่รีบแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน ก็ เป็นเพียงบทสันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายประมาท ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 วรรคสองเท่านั้น
ส่วนจะประมาทหรือไม่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ คือ “เมา” หรือ “ขับรถเร็ว” หรือ “ทั้งเมา ทั้งเร็ว”
แต่การสอบสวนกลับกลายเป็นสรุปว่า เมาหลังขับ?
และ ไม่สามารถพิสูจน์ความเร็ว ได้ว่าขับเร็วเกินที่กฎหมายกำหนดซึ่งถือว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือไม่?
ทำให้พนักงานอัยการจำเป็นต้องสั่งให้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมดังกล่าว
และข่าวการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมของอัยการที่ปรากฏออกมา กลายเป็นทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า
คดีนี้ดำเนินไปอย่างล่าช้าใช้เวลาเกือบห้าปีจนบางคดีขาดอายุความ ก็เพราะการที่อัยการผู้รับผิดชอบสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมนั่นเอง!
และการได้หลักฐานการขับรถเร็วของบอสที่คำนวณจากสภาพได้ว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
จะทำให้อัยการสามารถใช้เป็นหลักฐานในการสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษบอสได้อย่างแน่นอน
บอสเห็นท่าไม่ดีจึง “หนี” ไปประเทศอังกฤษดีกว่า!
รอให้คดีขับรถประมาทชนคนตายขาดอายุความในปี 2570 แล้วจึงค่อยกลับมาประเทศไทย หลังการชี้มูลของ ป.ป.ช.ดังกล่าว สื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ตื่นเต้นกันใหญ่
พากันพาดหัวว่า ป.ป.ช. “ฟัน” วินัย ตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวน บกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้บอสพ้นจากการถูกดำเนินคดีหลายข้อหาหลายระดับหลายคน
รวมทั้งได้ผสมกับผลการประชุม ก.ตร.ที่ นายกรัฐมนตรี ได้ไปนั่งเป็นประธาน มีมติให้ลงโทษไล่ออก ปลดออกตำรวจที่กระความผิดวินัยร้ายแรงในกรณีต่างๆ อีกจำนวนมากร่วม 40 คน
ก่อให้เกิดการเข้าใจว่า ได้มีการลงโทษตำรวจผู้กระทำอาญาและวินัยร้ายแรงต่างๆ อย่างจริงจังตลอดมา
แต่หารู้ไม่ว่า ที่ ก.ตร.มีมติไล่ออก ปลดออกดังกล่าว ล้วนแต่เป็นกรณีที่ตำรวจผู้น้อยขาดราชการเกินกว่า 15 วัน ไม่ต่างจากกรณีของหมู่อาร์มที่ออกมาเปิดเผยเรื่องการทุจริตในหน่วยทหาร
รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแล้วเป็นส่วนใหญ่
ไม่เคยได้ยินว่ามีใครถูกไล่ออก ปลดออก เพราะการรับส่วยสินบน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีบ่อนการพนัน ตู้ม้า และแหล่งอบายมุขในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบสั่งให้ “สอบสวนล้มคดี” ช่วยผู้กระทำผิดให้ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายเลย
สำหรับความผิด วินัยไม่ร้ายแรง สำหรับผู้รับผิดชอบการสอบสวน
ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูล แล้วส่งให้ตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งลงทัณฑ์ในกรณีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่ครบถ้วน และปล่อยให้บางข้อหาขาดอายุความ
โดยไม่ได้รวมถึง พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ คือผู้บังคับบัญชาที่มักสั่งการด้วยวาจาขโมงโฉงเฉงอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายอะไรในคดีนั้น
แม้กระทั่ง ผู้รับผิดชอบการสอบสวนระดับต่างๆ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ากระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง
ก็ ไม่ได้รู้สึกเป็นเรื่องใหญ่โตที่ตำรวจผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบต้องวิตกทุกข์ร้อนถึงขั้นนอนไม่หลับหรือจะทำให้หลายคนที่ยังไม่เกษียณต้องหมดอนาคตในชีวิตราชการอะไร?.
เนื่องจากความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงตามที่ ปปช.ชี้มูลมา
ทำให้ผู้บังคับบัญชาสามารถออกคำสั่งเลือกลงทัณฑ์ได้ถึงสี่สถานคือ (๑) ภาคทัณฑ์ (๒) ทัณฑกรรม (๓) กักยาม (๔) กักขัง และ (๕) ตัดเงินเดือน อย่างหนึ่งอย่างใด
ไม่สามารถลงโทษไล่ออก หรือแม้กระทั่งปลดออกในกรณีที่ชี้ว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรงได้
โทษกักขังของตำรวจแบบเดียวทหาร ในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีการนำตัวไปขังกันอย่างจริงจังอะไร
เพราะหัวใจ คือเพียงทำให้ไม่สามารถเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีนั้นได้
ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่ออกคำสั่ง “ภาคทัณฑ์” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นเช่นนั้น
ก็ยังมีสิทธิได้เลื่อนเงินเดือนหนึ่งขั้น ตามปกติเช่นเดียวกับตำรวจที่ไม่กระทำผิดทั่วไปทุกคน!
ขอบคุณที่มาภาพจาก newtv18
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2563