ครป.หวั่น’ไวรัสโควิด-19ลามเรือนจำเรียกร้องปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับการพิจารณา หนุนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบแก้ปัญหาที่ต้นทาง
เมื่อวันที่2 เม.ย.2563 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความยุติธรรมในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านฉุกเฉิน ระบุว่า จากกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสหรือโควิด 19 รัฐบาลได้ออกมาตรการฉุกเฉินหลายประการที่จำเป็นเพื่อหยุดยั้งการแพร่ขยายตัวของเชื้อโรคอุบัติใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกันในภาวะวิกฤต
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกคนในการปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อนำพาสังคมไทยที่ปลอดโรคภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีมีความปลอดภัยกลับคืนมาสู่ประเทศไทยร่วมกันโดยเร็ว และสังคมไทยต้องร่วมใจกันฝ่าฟันสถานการณ์ในครั้งนี้โดยไม่ปล่อยให้ใครฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ร่วมกันสอดส่องดูแลปัญหาอาชญากรรมและการเอาเปรียบสังคม “ช่วยเหลือกันและกัน ฝ่าฟันไปให้ได้”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ยังต้องคลี่คลายปัญหาคือ ระบบยุติธรรมในประเทศไทยจะถูกปฏิรูปเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรจากกรณีตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการแหกคุกและเผาเรือนจำที่จังหวัดบุรีรัมย์
ปัจจุบันบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องมาร่วมปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมเพื่อต่อต้านภัยพิบัติจากโรคภัยดังกล่าวร่วมกับบุคลากรด้านสาธารณสุขด้วย ดังนั้นควรมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะที่ภายในเรือนจำภายใต้กรมราชทัณฑ์มีนักโทษล้นคุกจำนวนมากและต้องอยู่กันอย่างแออัด จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาได้ในหมู่ผู้ต้องขังซึ่งมีหลายระดับ
เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยต้องรองรับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นองคาพยพหนึ่งของปัญหาที่สามารถแพร่กระจายขยายตัวได้ ตามที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกมาแสดงความห่วงใย แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการคัดกรองผู้ป่วยและแยกกักกันสำหรับผู้ขังรายใหม่ สั่งใช้กฎเหล็ก “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” รวมทั้งเร่งสร้างห้องกักโรคและห้องน้ำ การงดการเยี่ยมญาติและงดการทำงานฝึกอาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำก็ตาม แต่สภาพแออัดของสถานที่คุมขังและจำนวนนักโทษที่ล้นเกินยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย
ครป. ขอสนับสนุนข้อเสนอของ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่เสนอมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ Covid-19 โดยถือเป็นวิกฤตของเรือนจำที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำซึ่งเป็นปัญหาความไม่สมดุลของระบบ เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาดจึงทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้อีกต่อไป ความแออัดของผู้ต้องขังที่ล้นเกินตามสถิตินับแสนคนไม่สามารถใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม (social distancing) ได้ และมาตรการตั้งรับอื่นๆ มักจะนำมาซึ่งการก่อจลาจลดังเช่นในหลายประเทศที่ผ่านมา
ดังนั้น มาตรการเชิงรุกที่สำคัญ รัฐบาลควรพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวโดยการให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษตามข้อเสนอของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น,
– นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 72,000 คน
– ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุดเพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีประมาณ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก
– ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต หากโควิดระบาดทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราว 5,800 คน
– กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กน้อย เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีกกว่า 9,000 คน
สำหรับระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องหารือระดมสมองสู่การปฏิบัติเชิงนโยบายอย่างจริงจังถึงการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสภาพที่เป็นอยู่ประเทศไทยมีบทกำหนดลงโทษจำคุกที่มากจนเกินไปและบางส่วนไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดจนมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำติดอันดับสูงสุดของโลก
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างเดียว จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบด้วยเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจและแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนจับกุมกับอำนาจสอบสวนตามกฎหมายออกจากกัน เพื่อสร้างหลักประกันต่อการใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดตามหลักสากลที่บางส่วนถูกเลือกปฏิบัติทางกฎหมายและกลายเป็นแพะรับบาปของกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากที่ยอมจำนน รวมถึงการให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียหายโดยระบบกฎหมายที่ยุติธรรมด้วยเช่นกัน