ทุกข์ของตำรวจจากการ ‘ถูกโกง’ ตำแหน่งและทุกข์ของประชาชนจากปัญหาตำรวจ

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                ประชาชนคนไทยในเวลานี้ โดยเฉพาะคนยากจนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ส่วนใหญ่ต่างรู้สึกสิ้นหวังและใจจรดจ่อรอแต่ วันเลือกตั้ง 

หวังจะได้หย่อนบัตรลงคะแนนเลือกผู้แทนของตนให้ช่วยเป็นปากเสียงในสภาเพื่อจะได้ระบายปัญหาสารพัดที่แสนอึดอัดให้ผู้มีอำนาจและผู้คนได้ยินบ้าง

หลังผิดหวังกับรัฐบาลในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉพาะหน้าหรือ คำสัญญา หลังยึดอำนาจในการปฏิรูปต่างๆ โดยเฉพาะ ระบบตำรวจ

            แค่การสร้างขวัญและกำลังใจให้ตำรวจส่วนใหญ่ด้วยวิธีง่ายๆ คือ กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง และโยกย้ายให้เป็นธรรม โดยไม่ต้องเพิ่มเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอะไรให้เป็นภาระกับประชาชน ก็ยังทำไม่ได้

ซ้ำร้าย หลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ตำรวจแห่งชาติเสนอ ให้นายกรัฐมนตรีลงนามเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 และ ก.ตร.นำไปใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งตำรวจชั้นนายพลหลายร้อยคนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ก็กลายเป็นเรื่องมีปัญหา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะไม่ได้เป็นไปตามหลักอาวุโสตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 260 วรรคสามอย่างชัดเจน

            ส่งผลให้พันตำรวจเอกและนายพลหลายคนที่ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามหลักอาวุโสต้องร้องทุกข์ต่อ ก.ตร. ขอให้มติแต่งตั้งดังกล่าวเป็น “โมฆะ” 

            และจะตามมาด้วยการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยต่อไป

ทำให้มติการแต่งตั้งตำรวจชั้นนายพลจนถึงขณะนี้   ยังไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ตำรวจแห่งชาติจึงใช้วิธีออกคำสั่งให้ผู้ที่ ก.ตร.มีมติแต่งตั้ง ไปนั่งเป็นผู้รักษาราชการแทนตำแหน่งนั้นไปก่อน

ส่งผลให้การแต่งตั้งตำรวจระดับรอง ผบก.ลงไปถึงรองสารวัตรอีกนับหมื่นคนที่รอจะเลื่อนขึ้นหรือย้ายไปแทนตำแหน่งที่ “คาดว่าจะว่าง” หลายพันตำแหน่งเลยคาราคาซังเป็นลูกโซ่ตามมา ตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั้งประเทศไม่ว่าระดับใดและลูกเมียปัจจุบัน จึงต่างอยู่ในอาการกระสับกระส่าย หลายคนไม่มีกะจิตกะใจในการทำงานการ ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสังคมอยู่เวลานี้

ส่วนตำรวจที่ถูกเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า “ชั้นประทวน” จำนวนประมาณ หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นคน นั้น  ไม่ต้องพูดถึง

เพราะไม่ว่ากว่าครึ่งแสนจะจบปริญญาตรีหรือโทสาขาใด รับเงินเดือนแรกเข้าต่ำกว่าวุฒิ ก็ไม่มีอนาคตอะไรให้ต้องรู้สึกยินดียินร้ายอะไรเหมือนตำรวจชั้นสัญญาบัตรกันอยู่แล้ว

นี่คือทุกข์ของตำรวจส่วนใหญ่ที่ นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีคำตอบว่า จะแก้ปัญหาการเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้ง การแบ่งชนชั้นตำรวจ ที่ทำให้ได้เงินเดือนต่ำกว่าคุณวุฒิ ทำลายขวัญและกำลังใจของตำรวจที่ไร้เส้นสายและไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์อย่างร้ายแรงยิ่งนี้อย่างไร?

ส่วนทุกข์ของประชาชนจากปัญหาตำรวจนั้นยิ่งหนักกว่าหลายเท่า และมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายบ่อนการพนันและสถานบันเทิงเถื่อนหรือเปิดเกินเวลาค้าขายยาเสพติดที่สร้างความเสียหายต่อสังคมและลูกหลานที่เป็นเด็กและเยาวชน

ในช่วงเกือบห้าปีมานี้ เห็นมีแต่ทหารและฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือแม้กระทั่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ต้องอดหลับอดนอนจัดกำลังออกตรวจจับแทนตำรวจในหลายพื้นที่กันมากมาย

และตามมาด้วยการสั่งให้ตำรวจผู้รับผิดชอบระดับหัวหน้าสถานีและรองอีกสี่ห้าคนไปปฏิบัติราชการ ศปก.ตร.จังหวัด หรือ ตร.ภาคสองสามเดือนตามสูตร ถึงปัจจุบันน่าจะรวมกว่าสามร้อยคน

ปัญหาตำรวจผู้ใหญ่รับส่วยสินบนหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีแหล่งอบายมุขทุกประเภทในทุกพื้นที่นี้

นายกรัฐมนตรีสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 อะไร แค่ทำบันทึกสั่งเป็นหลักฐานถึง ผบ.ตร.ว่า  

ต่อไป หากฝ่ายปกครองหรือทหารจับการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับอบายมุขในพื้นที่ใด แสดงว่าหัวหน้าหน่วยตำรวจผู้รับผิดชอบทุกระดับไม่สนใจหรือละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการและประชาชน ให้ ผบ.ตร.ออกคำสั่งสำรองราชการผู้บังคับการตำรวจจังหวัดหรือผู้บังคับเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานครทันที

แค่นี้แหล่งอบายมุขผิดกฎหมายทุกแห่งจะปิดลงทั้งประเทศไม่เกินวันรุ่งขึ้น

            ทุกข์ของประชาชนจากปัญหาตำรวจ นอกจากจะเกิดจากการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ มีตำรวจผู้ใหญ่รู้เห็นเป็นใจกับแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายทำลายเด็กเยาวชนและสังคมแล้ว

ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจมิชอบหรือเกินขอบเขต หรือไม่มีมาตรฐานหรือคำอธิบายให้ผู้คนยอมรับได้ด้วย

เช่นกรณี ลุงอดูลย์ พรรณา ที่ถูกตำรวจจังหวัดนครสวรรค์จับเมื่อเดือนก่อนข้อหาขับรถควันดำ ตรวจวัดได้ค่า 80 เปอร์เซ็นต์นำไปปรับหนึ่งพันบาทจนเงินหมดกระเป๋า ทำให้ลูกหลานต้องอดข้าวอดน้ำ ขับรถกลับโคราชไปด้วยความคับแค้นใจ

แต่เมื่อนำรถไปตรวจที่หน่วยงานตรวจสภาพรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองปรากฏว่าได้ค่าแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกินมาตรฐาน 50 ต่างกันลิบลับ

คุณมาร์ค พิตบูล จึงช่วยเป็นธุระพาไปตำรวจแห่งชาติยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ผบ.ตร. เพื่อขอคำตอบหรือคำอธิบาย

กระบวนการดำเนินการตามคำร้องเรียนก็เป็นไปตามสูตร คือตำรวจแห่งชาติส่งไปให้ ผบช.พื้นที่ และ ผบช.ส่งต่อไปยัง ผบก.ตำรวจจังหวัดตรวจสอบแจ้งให้ผู้ร้องทราบ

และสุดท้ายได้มีหนังสือที่ ตช.0023(นว)ง17/769 ลงวันที่ 30 ต.ค.2561 ลงนามโดย พันตำรวจเอกชูเกียรติ  วงศ์สิทธิการ ผู้รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจนครสวรรค์ ตอบคุณมาร์ค พิตบูล และลุงอดูลย์ดังนี้

            ผลการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กรณีค่าผลการตรวจวัดของเครื่องตรวจวัดเกิดจากหลายสาเหตุต่างๆ กัน ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่พบพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตแต่อย่างใด”

            นี่คือคำตอบให้ประชาชนงุนงงกันต่อไป และไม่รู้การตรวจวัดควันดำของตำรวจในทุกพื้นที่ที่นำไปสู่การดำเนินคดีปรับไปแล้วและที่กำลังทำอยู่จะเชื่อถือได้เพียงใด?   

และไม่ใช่คำตอบของ ผบ.ตร.หรือจเรตำรวจ รวมทั้งรอง หรือผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. แต่อย่างใด

การร้องเรียนของประชาชนไม่ว่าเรื่องอะไรไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบัน จึงเป็นการทำงานตามระบบธุรการอย่างหนึ่งเท่านั้น

คือใครส่งหนังสือร้องเรียนมา ก็ส่งหนังสือนั้นต่อๆ  ตามลำดับชั้นกันไป

ไม่ได้มีใครให้ความสำคัญในการตรวจสอบหรือค้นหาความจริงเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจังแต่อย่างใด

ในการปฏิรูปตำรวจนั้น นอกจากเรื่องสำคัญที่สุดคือ   การสอบสวน ที่จะต้องสร้างระบบการตรวจสอบ กำหนดให้อัยการและฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ได้ร่วมเห็นพยานหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุในคดีสำคัญที่มีโทษจำคุกเกินสิบปีหรือกรณีมีประชาชนร้องเรียนแล้ว

องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาตำรวจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  นอกจากการให้มีบุคคลที่ไม่ใช่ตำรวจร่วมเป็นกรรมการจำนวนหนึ่งแล้ว

หน่วยงานที่เป็นมือไม้ในการปฏิบัติในการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานพิจารณาเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการฯ ซึ่งก็คือ  สำนักงานจเรตำรวจ ปัจจุบัน ซึ่งใช้งบประมาณปีละประมาณ 500 ล้านบาทนั้น

ก็ต้องโอนไปเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ภายใต้การปกครองของปลัดสำนักนายกฯ  เป็นมือไม้ให้นายกรัฐมนตรีในการควบคุมบังคับบัญชาตำรวจด้วย

            จึงจะสามารถแก้ทุกข์ของประชาชนจากปัญหาตำรวจได้อย่างแท้จริง.  

About The Author