เปิดคำพิพากษาฎีกาคดีแพ่ง’แพรวาชน 9 ศพ’ให้ชดใช้เหยื่อตามศาลชั้นต้น24.7 ล้านบาท ชี้ไม่มีหลักฐานคนขับรถตู้ประมาท
จากกรณี น.ส.อรชร หรือ แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ บริเวณหน้าช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 9 ศพ และบาดเจ็บอีก 6 ราย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา
สำหรับเรื่องของคดีความเกี่ยวกับเรื่องการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 ศาลแพ่ง (ในชั้นฎีกา) ได้อ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายจำเลยทั้ง 4 คน คือ จำเลยที่ 1 คือ (แพรวา) คนที่ขับรถชน ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 คือ พ่อและแม่ของคนที่ชน ส่วนจำเลยที่ 4 คือ คนที่ให้ยืมรถไปขับ ชดใช้ค่าเสียหาย มีรายละเอียดดังนี้
โดยศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ ในคดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต 9 ศพ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ น.ส.อรชร หรือแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับรถยนต์ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำบนทางยกระดับโทลล์เวย์ เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.2553 เป็นโจทก์ทั้ง 28 ราย ยื่นฟ้อง น.ส.อรชร ที่ขณะเกิดเหตุยังเป็นเยาวชน, พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา บิดา, นางนิลุบล อรุณวงศ์ มารดา, นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค, นายสันฐิติ วรพันธ์, น.ส.วิชชุตา วรขจิต และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย 1-7 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554 เรื่องกระทำละเมิด ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 5-7 ออกจากสารบบความ
สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2558 โดยเห็นว่าคดี น.ส.แพรวา เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ชำระโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1 ล้านบาท, โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1 ล้านบาท, โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท, โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 1 หมื่นบาท, โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 1 หมื่นบาท, โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1 ล้านบาท, โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1 ล้านบาท, โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท, โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1 ล้านบาท, โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท, โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1 ล้านบาท, โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 100,212 บาท, โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท, โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 4 แสนบาท, โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 4 พันบาท, โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 1.5 แสนบาท, โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 256,925 บาท, โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 1 แสนบาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 1.5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2553
ต่อมาโจทก์ที่ 5, 11 และจำเลยที่ 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,440,000 บาท, โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,044,000 บาท, โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 8 แสนบาท, โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท, โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 226,925 บาท และโจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 1.2 แสนบาท ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 และ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยยื่นฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุละเมิด จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 2-3 เป็นบิดามารดา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปตามทางยกระดับอุตราภิมุข ขาเข้าจากดอนเมืองมุ่งหน้าไปดินแดง ด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงบริเวณใกล้ทางลงบางเขน รถของจำเลยที่ 1 ชนท้ายรถโดยสารซึ่งมีนางนฤมล ปิดตาทานัง เป็นผู้ขับ เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปชนขอบกำแพงคอนกรีต ด้านซ้ายเสาไฟฟ้าและเสาป้ายบอกทาง แล้วรถตู้โดยสารตกลงมาที่พื้นทางลงจากทางยกระดับ ส่วนรถคันที่จำเลยขับเสียหลักไปชนขอบกำแพงด้านขวาและหมุนกลับไปชนรถตู้โดยสาร เป็นเหตุให้มีผู้เสียหายได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ซึ่งศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงแล่นแซงรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสาร จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท ให้ลงโทษจำคุก โดยรอการลงโทษไว้ คดีอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 7 ซึ่งรับประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย โจทก์ทั้ง 28 จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทดแทนจากจำเลยที่ 7 ต่อไป
ส่วนปัญหาวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์รับฟังว่า นางนฤมล คนขับรถตู้มีส่วนประมาท แล้วลดจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดชอบนั้น ชอบแล้วหรือไม่ และสมควรให้จำเลยที่ 1-3 ชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ในปัญหานี้ศาลในคดีส่วนอาญาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุด จึงผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนในเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล คนขับรถตู้ ศาลในคดีส่วนอาญาไม่ได้วินิจฉัยไว้ คงมีเพียงพฤติการณ์ในการขับรถของคนขับรถตู้โดยสารเท่านั้น และไม่ได้มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่านางนฤมลขับรถด้วยความประมาท เหตุแห่งความเสียหายจึงเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ตายเป็นเพียงผู้โดยสารที่นั่งมาในรถตู้ไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ที่จำเลยที่ 2 ให้การว่าเหตุเกิดจากความประมาทของนางนฤมล จำเลยที่ 2 จะต้องนำสืบพยานหลักฐานตามคำให้การ แต่จำเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟังว่านางนฤมลมีส่วนประมาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน จึงคลาดเคลื่อนและขัดต่อกฎหมาย
ส่วนจำเลยที่ 1-3 ฎีกาว่าเหตุแห่งความเสียหายมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดฝ่ายเดียว เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 กะพริบไฟขอทาง รถตู้โดยสารแล่นเปลี่ยนช่องทางจากขวาสุดมาช่องกลาง และเมื่อจำเลยที่ 1 เร่งความเร็วเพื่อแซงรถตู้โดยสาร ทันใดนั้นรถตู้โดยสารเบนหัวมาช่องขวาสุด ทำให้จำเลยตกใจห้ามล้อพร้อมบีบแตรและหักพวงมาลัยไปทางซ้าย แต่ตามคำฟ้องในคดีอาญาไม่ปรากฏเรื่องการกะพริบไฟขอทาง และหลักฐานรอยห้ามล้อของรถจำเลยที่ 1 ทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และในส่วนค่าเสียหายฝ่ายรถตู้โดยสารจะต้องรับผิดมากกว่าจำเลยที่ 1-3 เนื่องจากเป็นรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในขณะเกิดเหตุรถตู้โดยสารวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ไม่ได้มีเข็มขัดนิรภัย ทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถแล้วเสียชีวิต แต่ผู้โดยสารไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายรถตู้ ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดต่อโจทก์จึงต้องลดจำนวนลงนั้น เมื่อแต่ละฝ่ายฎีกาโต้เถียงเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมลและจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิด จึงเห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46
ซึ่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับฟังข้อเท็จจริงสรุปความได้ว่า รถของจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสาร รถตู้โดยสารแล่นเข้าปะทะกับเสา cctv ซึ่งเป็นการชนปะทะอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายแก่รถตู้โดยสารถึงกับหลังคาโค้ง ขณะรถตู้โดยสารเข้าปะทะกับเสา cctv เป็นการปะทะด้วยความแรง ซึ่งเกิดจากรถตู้โดยสารยังมีความเร็วสูงอยู่มาก พฤติการณ์แห่งคดี แสดงว่ารถทั้งสองคันแล่นด้วยความเร็วสูงมาก การที่รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งแล่นตามหลังสามารถแล่นทันและเข้าเฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสาร แสดงว่ารถของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็วสูงกว่ารถตู้โดยสาร
จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินขีดจำกัดความเร็วในทางยกระดับ แล่นแซงรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสารจนเกิดเหตุขึ้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท ต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าว ส่วนเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล ศาลในคดีส่วนอาญามิได้วินิจฉัยไว้และปัญหาดังกล่าวใช่ประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญาไม่
ที่ศาลในคดีส่วนอาญาให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยว่านางนฤมลขับรถตู้โดยสารมาด้วยความเร็วสูงเป็นเพียงแสดงให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วที่สูงมากจนแล่นทันรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วสูงเช่นกัน ทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปปะทะกับเสาริมทาง จนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้กระทำความผิดในครั้งนี้ คำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว การที่จำเลยที่ 1-3 มาฎีกาในทำนองว่า คำฟ้องในคดีอาญาไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์การขับรถที่ไม่เป็นปกติของนางนฤมล ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงดังกล่าวเพราะจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 หาได้เป็นสาระแก่คดีไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่านางนฤมลมีส่วนประมาทในอุบัติเหตุครั้งนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์การขับรถตู้โดยสารของนางนฤมลที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังว่านางนฤมลมีส่วนประมาทแล้วลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะ ให้จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วนนั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
เมื่อพิจารณาว่าอุบัติเหตุรุนแรงเกิดจากการขับรถประมาทของจำเลยที่ 1 ผู้โดยสารที่นั่งในรถตู้หาได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใดไม่ แต่เป็นผู้ได้รับเคราะห์ภัยจากอุบัติเหตุจนต้องเสียชีวิต สำหรับนางนฤมล คนขับรถตู้ที่ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงก็ยังรับฟังไม่ได้ว่านางนฤมลมีส่วนประมาทด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะ ส่วนจำเลยที่ 1-3 ฎีกาว่าฝ่ายรถตู้โดยสารต้องรับผิดมากกว่า เพราะเป็นรถโดยสารสาธารณะ ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ก็หาได้มีเหตุผลให้รับฟังไม่ จำเลยที่ 1-3 จึงไม่มีข้ออ้างที่จะขอลดจำนวนค่าเสียหายลงอีก เมื่อเป็นดังที่วินิจฉัยข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวนแล้วลดหย่อนให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชดใช้ 4 ใน 5 ส่วนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จึงสมควรแก้ไขโดยให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดในค่าขาดไร้อุปการะเต็มจำนวน ดังนั้นจำเลยที่ 1-3 ต้องชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท, โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 1,800,000 บาท, โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 1,000,000 บาท, โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,500,000 บาท, โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท, โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 256,925 บาท, โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท
สำหรับโจทก์ที่ 17 ฎีกาขอให้กำหนดค่าขาดไร้อุปการะละเป็นเงิน 1,800,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คำฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 17 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 1,243,116 บาทเท่านั้น เมื่อค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1,000,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวเหมาะสมแล้ว จึงให้เป็นไปตามจำนวนเงินนั้นโดยไม่ต้องลดส่วนความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1-3 เช่นนี้ฎีกาของโจทก์ที่ 1-5, 9-16, 18, 19, 21, 22, 24-28 จึงฟังขึ้น ฎีกาของโจทก์ที่ 17 ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1-3 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1-3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และ 11 หรือไม่เพียงใด เห็นว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์ ไม่มีใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย ย่อมต้องตระหนักว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับรถอาจเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ แต่จำเลยที่ 4 ยังรู้เห็นยินยอมให้นำรถยนต์ที่ตนครอบครองอยู่ไปขับ ซึ่งหากจำเลยที่ 4 ไม่รู้เห็นยินยอมเช่นนั้น ความเสียหายคงไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดเป็นจำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 1-3 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 5 และ 11 หาได้มีเหตุที่จะลดความรับผิดของจำเลยที่ 4 ให้เหลือเพียงบางส่วนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1-3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 และ 11 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงกำหนดให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1-3 ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และโจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ ได้แก้ไขค่าเสียหายในส่วนขาดไร้อุปการะที่ศาลอุทธรณ์มองว่านางนฤมล คนขับรถตู้มีส่วนประมาทอยู่บ้าง ย่อมถือมีส่วนทำผิด ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน ส่งผลให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1-5, 9-19, 21-22, 25-28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท แต่ศาลฎีกามองว่าค่าขาดไร้อุปการะจำเลยที่ 1-3 ต้องร่วมชดใช้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละราย เห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว ส่งผลให้ฝ่ายจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายกับกลุ่มโจทก์ในชั้นฎีการวมกว่า 24,796,925 บาท.