‘อัยการ’ชี้ทหารหมดอำนาจควบคุมประชาชนหลังคำสั่งคสช.ที่สำคัญสิ้นสภาพไปพร้อมกับคสช.แม้ไม่มีประกาศยกเลิก

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล  อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสุงสุด โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul  เรื่อง คำสั่ง คสช. ที่สำคัญที่สิ้นสภาพไปพร้อมกับ คสช. แม้ไม่มีประกาศยกเลิก มีเนื้อหา ดังนี้

 

ตามที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า คำสั่งและประกาศ คสช. ที่ออกมานับตั้งแต่ คสช. เข้าบริหารประเทศ ซึ่งมีทั้งสิ้นจำนวน 465 ฉบับ บางส่วนได้สิ้นผลในตัวเองไปแล้วเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ และมีอีกบางส่วนจะสิ้นผลไปเมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่ง จึงน่ามาพิจารณาดูว่า คำสั่ง และประกาศ คสช. ที่มีความสำคัญ ที่ได้สิ้นผลในตัวเองไปแล้วเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ และจะสิ้นผลไปเมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่งโดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ประกาศยกเลิก ได้แก่ คำสั่งและประกาศใดบ้าง

 

ก่อนอื่นเลย คงต้องกล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และที่ 13/2559 ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากว่าเป็นคำสั่งที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดกับรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและหลักนิติธรรม ภายหลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ไม่มีการยกเลิกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

 

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นคำสั่งที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจในการเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน และที่สำคัญคือมีอำนาจในการจับกุม ค้น ยึดอายัดทรัพย์สิน และควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เป็นคำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเช่นเดียวกัน แต่ว่าเป็นคำสั่งที่ใช้บังคับกับคดีต่างประเภทกัน ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีความผิดท้ายคำสั่งจำนวน 27 ฐานความผิด

 

สำหรับข้อสังเกตที่มีต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และที่ 13/2559 มีดังนี้

 

1.การใช้อำนาจหลายอย่างตามคำสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหาร มีความเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจของ คสช. และการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้อำนาจโดยหัวหน้า คสช. ดังนั้น เมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว การใช้อำนาจตามคำสั่งย่อมต้องสิ้นสภาพในตัวเองไปด้วย

2.ตามวรรคท้ายของคำสั่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า การใช้อำนาจตามคำสั่งมีความเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินที่สืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจของ คสช. ดังนั้น เมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คำสั่งเหล่านี้จึงย่อมต้องสิ้นสภาพไปในตัวเองด้วย

 

คำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงอยู่ในสถานะที่ต้องสิ้นสภาพและสิ้นผลการใช้บังคับไปในตัวเองเมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ คสช. อยู่ในตำแหน่งจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 วรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ภายหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 คำสั่งทั้ง 2 ฉบับ จึงต้องสิ้นผลในตัวเองไปทันที

 

อีกทั้ง การจะให้คำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปในรัฐบาลใหม่ภายหลังจากที่ คสช. พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะด้วยลักษณะของคำสั่งที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดกับรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและหลักนิติธรรม อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 จะรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคำสั่งไว้ก็ตาม อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายหลังการเลือกตั้งที่ คสช. ได้พ้นจากอำนาจไปแล้ว การจะคงไว้ซึ่งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารแบบสมัยที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดมีขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งและประกาศ คสช. ให้บุคคลมารายงานตัว ที่ถือว่าได้เสร็จสิ้นภารกิจแล้วสำหรับกรณีที่มีบุคคลมารายงานตัวตามคำสั่ง ส่วนกรณีที่ไม่มีบุคคลมารายงานตัวตามคำสั่ง ก็ต้องถือว่าคำสั่งเหล่านี้สิ้นผลไปเมื่อ คสช.พ้นจากตำแหน่งด้วย เนื่องจาก เมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ย่อมไม่มีการดำรงอยู่ของ คสช. ที่จะให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งได้อีก คำสั่งเหล่านี้จึงต้องสิ้นผลไปในตัวเองด้วย โดยไม่ต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ประกาศยกเลิก โดยนับจากที่ คสช.เข้าบริหารประเทศมีการออกคำสั่ง คสช. ให้บุคคลมารายงานตัวแล้ว จำนวน 37 ฉบับ และประกาศ คสช. ให้บุคคลมารายงานตัว จำนวน 3 ฉบับ

About The Author