คำสั่งตาย สายสอบสวน กับกระบวนการยุติธรรมแบบถอยหลังลงคลอง-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

ยุติธรรมวิวัฒน์

คำสั่งตาย สายสอบสวนกับกระบวนการยุติธรรมแบบถอยหลังลงคลอง

                                                               

                 พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                โศกนาฏกรรมกรณี .ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ ตำรวจ สภ.มาบอำมฤต อ.ปะทิว จังหวัดชุมพร ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในบ้านพักที่อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.62 โดยทิ้งลูกสองคนในวัยเรียนไว้ข้างหลังอย่างน่าเศร้าสลดยิ่ง!

เป็นการตัดสินใจยิงตัวตายหลังจากถูกย้ายจากรองสารวัตรป้องกันอาชญากรรม ไปเป็นรองสารวัตร (สอบสวน) ได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น

สื่อมวลชนรายงานข่าวกันว่า ร.ต.อ.พิเชษฐ์ได้เขียนจดหมายระบายความคับแค้นใจทิ้งไว้ถึง 3 หน้า กระดาษ  

เป็นเรื่องการถูกแต่งตั้งให้ไปทำงานงานที่ไม่ถนัดโดยไม่สมัครใจ และไม่มีความพร้อมที่จะทำงานสอบสวน

แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า ในจดหมายดังกล่าว ร.ต.อ.พิเชษฐ์ได้ระบุรายละเอียด หรือให้ข้อมูล รวมทั้งการเรียกร้องอะไรก่อนฆ่าตัวตายที่ต้องการให้รัฐบาลและสังคมรู้มากกว่าที่เป็นข่าวบ้าง?           

เนื่องจากในระยะหลังนี้ เมื่อมีกรณีตำรวจฆ่าตัวตาย  ตำรวจผู้ใหญ่จะต้องรีบขับรถบึ่งให้ไปถึงที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด

เพื่อจะได้ค้นหาหลักฐานสำคัญคือ  จดหมายลาตาย   อันเป็นการ ระบายความในใจของตำรวจคนนั้น เก็บซ่อนไว้ โดยไม่มีการนำมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเช่นที่ผ่านมา?

เพราะไม่ต้องการให้ใครพูดถึงปัญหาและสาเหตุแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกี่ยวกับการทำงานหรือความคับแค้นใจจากการถูกกลั่นแกล้งหรือผิดหวังจากการเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งจะถูกนำไปขยายผลสู่การเรียกร้องของประชาชนให้รัฐบาลเร่งแก้ไข 

                รวมทั้ง ดำเนินการปฏิรูป” โดยเร็ว                                         

อย่างไรก็ตาม ทั้งภรรยาและเพื่อนร่วมงานก็บอกว่า ร.ต.อ.พิเชษฐ์เคยพูดระบายให้ฟังตลอดมาเกี่ยวกับปัญหาที่ตนทำงานสายตรวจมาตลอดชีวิตจนอายุ 48 ปีแล้ว

จะให้ตนไปเริ่มฝึกงานสอบสวนเหมือนตำรวจจบใหม่อายุ 23-24 ปีได้อย่างไร?

                เพราะแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ ก็ยังพิมพ์ไม่ได้ด้วยซ้ำ!

ทำให้คิดมากจนร่างกายผ่ายผอมเปลี่ยนเป็นคนละคนหลังจากถูกย้าย

เมื่อไปบอกผู้บังคับบัญชาไม่ว่าระดับใด ก็ไม่มีใครช่วยแก้ปัญหา?

คิดกันแต่ว่า เมื่อเป็นตำรวจ ผู้บังคับบัญชาผู้มียศและตำแหน่งสูงกว่าสั่งอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้ได้!  

จนเกิดความวิตกกังวลว่า เมื่อได้ปฏิบัติรับผิดชอบแล้วจะทำให้งานเสียหาย และหากผิดพลาด ก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาหรือวินัยตำรวจ ถูกไล่ออก ปลดออกด้วยข้อหาสารพัดได้!

อีกทั้งยังเป็นงานที่ตำรวจทุกคนรวมทั้ง ร.ต.อ.พิเชษฐ์เองก็รู้ว่า “ไร้อนาคต” อีกด้วย

ไม่สดใสเหมือนงานสืบสวน หรือจราจร  ที่แม้กระทั่งลูกเสือฝึกใหม่ทั้งหญิงชายแค่ไม่กี่เดือนก็ทำได้ไม่แพ้นายร้อยตำรวจหลายคนใช้เวลาฝึกกันนานถึงห้าหกปี!

หรือแม้กระทั่งตำแหน่ง “นายเวร” ที่ตำรวจ แย่งกันเป็น วิ่งเต้นกันอุตลุดชุลมุน ถือเป็นสุดยอดของงานตำรวจ!

ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นเพียง งานบริการ หรือบทบาท เลขานุการ เท่านั้น

                ตำรวจประเทศไทยคนไหนไม่มีเส้นสาย ก็จะถูก ย้าย ไปเป็น “พนักงานสอบสวน”!  

                แต่รัฐบาลและเวทีวิชาการทุกแห่งเรียกตำแหน่งนี้อย่างโก้หรูว่า เป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นที่สำคัญของประเทศ?

                มีคนสงสัยกันมากว่า งานสอบสวนมันมีภาระและยากหนักหนาหรืออย่างไร จึงทำให้พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายกันรายแล้วรายเล่า

ขอเรียนว่า สาเหตุแท้จริงหาใช่เพราะงานหนักเกินกำลังอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด?

แต่เป็นเพราะ งานสอบสวนประเทศไทยในปัจจุบันนี้    มี วิวัฒนาการถอยหลัง เข้าไปสู่ระบบบังคับบัญชาที่มีชั้นยศและวินัยเช่นเดียวกับทหาร ซึ่งมีการปกครองเป็นหมวด หมู่ กองร้อย กองพัน และกองพล เตรียมไว้เพื่อให้เข้าทำลายข้าศึกศัตรูผู้รุกรานจากนอกประเทศ

ในอดีตแม้กระทั่งครั้งรัชกาลที่ 5 ก็อาจกล่าวได้ งานสอบสวนยังก้าวหน้ากว่าปัจจุบัน    

                เพราะอยู่ในความรับผิดของฝ่ายปกครองซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน คือกรมการอำเภอตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2440

                โดยตำรวจซึ่งมีการปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหารไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบสวนใดๆ  ทั้งสิ้น 

                รัฐได้กำหนดให้ทำหน้าที่ตระเวนตรวจตราป้องกันอาชญากรรมเท่านั้น

แม้กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475  และได้มีการประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในปี 2478 เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยให้มีความทันสมัยเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

ก็ได้กำหนดให้การสอบสวนในส่วนภูมิภาค เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่  ปลัดอำเภอและข้าราชการตำรวจซึ่งมียศร้อยตำรวจขึ้นไปตามมาตรา 18

แต่วิวัฒนาการถอยหลังลงคลองได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลเผด็จการทหาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกข้อบังคับฉบับ ที่  1/2506 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2506 ให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนฝ่ายเดียวทั่วราชอาณาจักร

งานสอบสวนของประเทศโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคที่เคยอยู่ในระบบข้าราชการพลเรือน ไม่มีใครสามารถสั่งได้แบบทหารแต่ครั้งก่อนรัชกาลที่ 5 มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรกันดีระดับหนึ่ง

จึงกลายเป็นงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตำรวจที่มีชั้นยศและวินัยแบบทหารทั้งหมด โดยไม่มีองค์กรภายนอกใดสามารถตรวจสอบได้นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 เมื่อวันที่  5 ก.พ.2559 ให้ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศซึ่งมีความเป็นอิสระระดับหนึ่งลงทั้งหมด 

                ส่งผลให้ทุกตำแหน่งสามารถถูกแต่งตั้งโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนกันไปมาตามใจผู้มีอำนาจอย่างไรก็ได้

                จึงทำให้บทบาทของตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนประเทศไทยในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า แทบ ไม่ต่างไปจากพนักงานพิมพ์ดีดหรือพิมพ์คอมพิวเตอร์ แต่อย่างใด!  

                โดยเฉพาะเมื่อเกิดคดีสำคัญ แต่ละคนสามารถดำเนินการสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นทางคดีได้เฉพาะตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งเท่านั้น   

สร้างความทุกข์ใจให้กับทั้ง “พนักงานสอบสวน” ที่ต้องเสี่ยงกับความผิดอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ   ทำให้ บางคนต้องถึงขนาดฆ่าตัวตายเพื่อหนีให้พ้นจากปัญหาที่รุมเร้าไป

ส่วน ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ก็ได้รับความเดือดร้อนกันแสนสาหัสอยู่กระทั่งปัจจุบัน.

ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์

(ขอบคุณภาพประกอบ AMARINTV)

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, July 08, 2019

About The Author