ติวเข้ม’ตำรวจศาล-Court Marshal’ชุดแรก16ก.ค.นี้ ประเดิมตามจับ163รายหนีคดี เชื่อการบังคับใช้กม.มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงความพร้อมการจัดอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล (Court Marshal) ในงานสัมมนาสื่อมวลชนสัมพันธ์ประจำศาลยุติธรรม วันที่ 29-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรม Oakwood ศรีราชา ว่า สำหรับกำลังอัตราของเจ้าพนักงานตำรวจศาล ในเบื้องต้นขณะนี้ได้กำหนดไว้ 40 อัตรา ก็มีผู้สมัครเข้ามาหลายร้อยคน ซึ่งได้ทำการคัดเลือกคุณสมบัติที่เหมาะสมแล้ว รอการยืนยันโอนย้ายเพื่อมาบรรจุเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล โดยในส่วนตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มระดับชำนาญการพิเศษ, ชำนาญการนั้นส่วนใหญ่ก็รับโอนมาจากทหาร, ตำรวจ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง สำหรับภารกิจเมื่อได้รับบรรจุมาแล้วก็จะพิจารณาตามหน้าที่ที่เหมาะสมต่อไป เช่น เรื่องการดูแลกู้ระเบิดก็ต้องมีเพราะดูแลความปลอดภัยทั้งอาคารศาล หรือ เรื่องเกี่ยวกับระบบ รวมทั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบข้อมูลข่าวสาร

 

นายสราวุธ กล่าวว่า  เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดมีคำสั่งให้โอนย้ายแล้ว ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะมีคำสั่งรับโอนมาทันที ซึ่งขณะนี้จำนวนยังไม่ครบ 40 อัตรา แต่ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ จะต้องจัดกำลังอัตราให้ได้จำนวนใกล้เคียงที่สุด โดยหลังจากวันที่ 16 ก.ค.แล้วอีก 4-5 วัน สํานักงานศาลยุติธรรมก็จะจัดการฝึกอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาล ซึ่งรับโอนมาดังกล่าวที่ศูนย์ฝึกอบรมตลิ่งชันตามที่กฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจศาลกำหนดไว้ให้ต้องทำด้วย โดยจะเป็นการอบรมเพิ่มความเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญ ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ทั้งอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา หรืออดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

ส่วนทักษะภาคสนามนั้นส่วนใหญ่ผู้รับโอนมาบรรจุก็ผ่านการฝึกอบรมมีทักษะมาจากหน่วยงานสังกัดเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจศาลนี้ก็จะถือเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมประเภทหนึ่งด้วย จะมีความเจริญก้าวหน้าตามสายงาน โดยสามารถเติบโตได้ตำแหน่งสูงสุดคือ ระดับรองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ถ้าเทียบระดับตามระบบซี คือ ซี 10 ขณะที่ในระบบของศาลเราก็มีระบบคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งด้วย หากคุณทำดีมีผลงานก็สร้างโอกาสก้าวหน้าตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ, ผู้ช่วยเลขาธิการ, รองเลขาธิการ

 

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อธิบายถึงภารกิจของเจ้าพนักงานตำรวจศาลว่า ภารกิจหนึ่ง คือการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่สวมกำไลข้อเท้า EM แล้วหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ขณะนี้มีจำนวน 163 ราย เมื่อจะมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเข้ามาเริ่มทำหน้าที่ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ ก็จะได้รับมอบภารกิจในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีนั้น ให้กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งการหลบหนีคาดว่าเป็นการทําลายอุปกรณ์ EM ทิ้งแล้วหลบหนีไป โดย พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 มาตรา 5 เมื่อศาลได้ออกหมายจับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และหากศาลเห็นสมควร ศาลอาจให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วยโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุนก็ได้

 

“กฎหมายเขียนให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลนั้นมีหน้าที่ประสานงาน ตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่หรือผู้ที่มีเกี่ยวข้องตามหมายจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นทำการจับกุมก่อน แต่หากยังไม่ดำเนินการหรือกรณีนั้นเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาลก็สามารถดำเนินการได้เอง โดยกฎหมายได้เปิดช่องทางไว้ให้ คือจะต้องให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่หลักก่อนว่าเรื่องนั้นใครเป็นผู้รับผิดชอบ เจ้าพนักงานตำรวจศาลของเราก็จะประสานก่อน ก็เพราะด้วยข้อจำกัด 1.เจ้าพนักงานตำรวจศาลเรามีจำนวนน้อย 40 อัตรา ในเบื้องต้นนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไปติดตามจับกุมเองได้ทั้งหมด 2.ในส่วนของตำรวจเอง มีกำลังถึง 200,000 นาย มีหน้าที่หลักในการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีการออกหมายจับและหลบหนีในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของเขาอยู่แล้ว ก็ต้องให้เขาทำหน้าที่หลักนั้นก่อน ยกตัวอย่าง หากผู้ที่มีหน้าที่หลักในการจับกุมแล้ว แต่ยังไม่มีใครจับหรือจับได้ไม่หมด ก็ต้องมีหน่วยงานมอนิเตอร์ติดตามให้ผลการจับกุมตามหมายจับของศาลนั้นมีผลให้มากที่สุดในคดีสำคัญ คดีที่มีเบาะแส ถ้ามีข้อมูลแล้วจับได้ก็ให้จับเลย”นายสราวุธ กล่าว

 

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า โดยที่เจ้าพนักงานตำรวจศาล ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ซ้ำซ้อนกับระบบปกติ ระบบตำรวจศาลเป็นผู้ประสานงาน หรือหน่วยเสริมในภารกิจที่ขาดเจ้าภาพชัดเจน เช่น กรณีล่าสุดที่เราเห็นเป็นข่าวที่ผ่านมาว่า การฟ้องคดีจะขาดอายุความใน 4-5 วัน แล้วก็รู้ตัวผู้ต้องหาที่จะต้องติดตามจับกุมตัวมาฟ้อง ก็ไม่มีใครชี้ตัวให้จับมา แต่ถ้ามีเจ้าพนักงานตำรวจศาลแล้ว หากเป็นกรณีที่คดีได้อยู่ในกระบวนการขั้นตอนของศาลแล้ว คดีจะขาดอายุความในไม่กี่วัน ถ้าเห็นตัวผู้นั้นตำรวจศาลก็ต้องไปเช็คข้อมูล แล้วแจ้งประสานไปยังตำรวจในท้องที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจับกุมได้เลย ดังนั้นกฎหมายตำรวจศาลนี้จึงเป็นการอุดช่องว่างในการทำงาน เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อถามว่าในส่วนของผู้ต้องหาและจำเลยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ที่ได้หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่ยังหลบหนีการจับกุมดำเนินคดีอาญา, นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ศาลได้พิพากษาจำคุกไว้แล้ว และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาจำคุกแล้วเช่นกันในคดีจำนำข้าว เมื่อมีเจ้าพนักงานตำรวจสายแล้วจะสร้างมิติใหม่ในเรื่องของการติดตามจับกุมตัวในส่วนของผู้ต้องหาและจำเลยที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศเช่นนี้ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ในส่วนผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องของการประสานงานระหว่างประเทศ และตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล (INTERPOL) โดยการติดตามจับกุมตัวบุคคลที่กระทำผิดของเราในต่างประเทศนั้น เราไม่มีเขตอำนาจในต่างประเทศ โดยเจ้าพนักงานตำรวจศาลตามกฎหมายของเรานี้ไม่ใช่ตำรวจโลก แต่ยังเป็นตำรวจไทยที่มีอำนาจหน้าที่ในเขตของประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ในลักษณะทั่วไปของผู้ต้องหาและจำเลยที่หลบหนีไปต่างประเทศนั้น มักจะมีศักยภาพในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ โดยไม่ได้หยุดอยู่ที่ใดเฉยๆ ให้ตามจับกุมตัวได้ง่ายๆ ดังนั้นในส่วนการประสานงานกับต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียวด้วย

 

“เรื่องนี้ผมเชื่อมั่นว่าระบบตำรวจศาล และความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรมจะดีขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะทำได้เพียงฝ่ายเดียว ตัวอย่างเช่น เรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลหมายจับ-หมายค้นระบบออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ ตำรวจให้ความร่วมมือดีมาก ผบ.ตร.มอบให้ พล.ต.ท.ชนสิษฏ์ วัฒนวรางกูร ผช.ผบ.ตร.กำกับดูแล ก็ช่วยกันเปลี่ยนระบบให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและกระจายไปทั่วประเทศด้วยเรื่องนี้ต้องชม ขณะที่เรื่องการประสานทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างศาลกับ ตม.ทั่วประเทศ ที่จะให้รู้ว่าคดีใดศาลมีคำสั่งผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้ประกันตัวห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งศาลได้เตรียมเชื่อมโยงระบบข้อมูลผ่านทางออนไลน์เป็นข้อมูลส่งถึงด่าน ตม.ทั่วประเทศ ก็ทำหนังสือถึง ผบ.ตร.เรียบร้อยแล้ว แต่ 6 เดือนที่ผ่านมาเรื่องยังติดอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เราก็พยายามทำให้ระบบเหล่านี้เกิดขึ้นให้ได้เร็ว” นายสราวุธ ระบุ

About The Author