‘จ่านิว’ถูกทำร้ายซ้ำ เพราะกระบวนการยุติธรรมของชาติล้มเหลว – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
‘จ่านิว’ถูกทำร้ายซ้ำ เพราะกระบวนการยุติธรรมของชาติล้มเหลว
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์อาชญากรกลุ่มหนึ่งใช้กระบองเหล็กเป็นอาวุธ รุมตี นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้ประชาชนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
โดยเป็นการถูกทำร้ายครั้งที่สองในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน
ส่วน นายเอกชัย หงส์กังวาน ก็ถูกทำร้ายและทำลายรถยนต์ที่จอดหน้าบ้านถึง 9 ครั้ง และยังมีนักเคลื่อนไหวผู้รักประชาธิปไตยอีกหลายคนถูกคุกคามหลายรูปแบบเช่นกัน
ทั้งสองกรณี นอกจากตำรวจผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายจะไม่สามารถ สกัดจับคนร้าย ที่กระทำความผิดซึ่งหน้าในเวลากลางวันแสกๆ กลางถนนและชุมชนได้แล้ว
หลังเกิดเหตุ ก็ยังไม่สามารถสืบสวนสอบสวนให้รู้ตัวผู้กระทำผิดจับมาลงโทษตามกฎหมายได้แม้แต่รายเดียวอีกด้วย!
รวมทั้งไม่เคยได้ยินผู้รับผิดชอบระดับใดแสดงความสนใจในการติดตามจับตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจังแต่อย่างใด?
สะท้อนว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะคุ้มครองชีวิตและความปลอดภัยให้กับประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”
นอกจากนั้นมาตรา 53 ยังบัญญัติว่า รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น การทำร้ายจ่านิวยังไม่ใช่เรื่องที่ใครหรือองค์กรใดจะมาบอกว่า “ไม่เห็นด้วย” หรือ “ไม่ควรใช้ความรุนแรง” ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” แต่อย่างใด?
ซ้ำบางคนชั่วร้ายถึงขนาดแสดงความรู้สึกสะใจที่ เห็นภาพจ่านิวนอนเลือดอาบหน้า!แม้กระทั่งพยายามแต่งเรื่องให้ข่าวว่า เป็นพฤติกรรมของ “แก๊งรับจ้างทวงหนี้” หรืออาจมีการสร้างสถานการณ์จากพวกเดียวกัน สารพัดตามที่หลายคนถนัดและปฏิบัติเช่นนั้นกันตลอดมา
หน้าที่สำคัญของรัฐบาลต่อปัญหาอาชญากรรมที่ผู้รับผิดชอบไม่สามารถป้องกันได้ไม่ว่าจะเกิดกับผู้ใดก็คือ ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนำไปเสนอศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้
โดยไม่จำเป็นต้องพูดหรือสันนิษฐานถึงสาเหตุสารพัดให้ประชาชนเสียความรู้สึกและเสียเวลา มั่วไปมั่วมา แต่อย่างใด
นอกจากนั้น การจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ ถือเป็นการป้องกันอาชญากรรมทุกประเภทที่ได้ผลดีที่สุด และจะทำให้สังคมเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ผู้คนเกิดความปรองดองกันแท้จริงอีกด้วย
เนื่องจากคนร้ายที่มีจิตใจในภาวะปกติทุกคนคิดว่า เมื่อก่ออาชญากรรมแล้วคงถูกรัฐจับได้ จะไม่มีมนุษย์คนไหนไป รับจ้างหรือ รับงาน ไปตีหัวหรือแม้กระทั่งฆ่าคนอย่างแน่นอน ความผิดอาญาประเภทนี้ก็จะลดลงหรือหมดไปในที่สุด
และส่งผลทำให้ผู้คนทุกฝ่ายรับรู้ความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการกระทำผิดตรงกัน เกิดความเชื่อมั่นต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของชาติมากยิ่งขึ้น
แต่ในช่วงสองสามปี มีประชาชนและนักเคลื่อนไหวถูกทำร้ายโดยอาชญากรซึ่ง น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันนับสิบครั้ง
แต่จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่ได้ยินว่าตำรวจสามารถสืบสอบจับผู้กระทำผิดคนใดมาดำเนินคดีได้แม้แต่รายเดียว!
นั่นสะท้อนว่า กระบวนการยุติธรรมอาญาชั้นต้นของไทยล้มเหลวจนแทบไม่เหลือความเชื่อถือใดๆ ให้ “ประชาชนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาล” มั่นใจได้อีกต่อไป
ประชาชนจำนวนมากแม้กระทั่งนักการเมืองจึงคิดว่า ถ้าจะดำรงชีวิตหรือดำเนินธุรกิจต่างๆ อย่างปลอดภัย ไม่ถูกคุมคามด้วยวิธีการสารพัด มีแต่ต้องไปยืนอยู่ข้างรัฐบาลผู้มีอำนาจหรือ กำลังจะคุมอำนาจ เท่านั้น ลดโอกาสถูกยัดข้อหา หรือว่าหากเป็นผู้เสียหาย ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างดีมีประสิทธิภาพยิ่ง
เช่นกรณีคุณราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน เมื่อครั้งเป็นรองโฆษกพรรคฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์จากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 17 ธ.ค.2555 ก็ถูกกลุ่มอาชญากรลอบทำร้ายโดยใช้ไม้ตีจนเลือดอาบบาดเจ็บสาหัสนอนโรงพยาบาลอยู่นานนับเดือน
โดยที่รัฐบาลขณะนั้นไม่ได้สนใจที่จะสืบสอบจับคนร้าย ซึ่งตำรวจมีหลักฐานลายนิ้วมือปรากฏอยู่บริเวณรถ สามารถเสนอศาลออกหมายจับได้เช่นกัน!
นี่ยังไม่นับความคิดของผู้คนบางฝ่ายที่เชื่อว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละยุคสมัยอาจเป็น ผู้ร้าย อยู่เบื้องหลังการกระทำผิดเสียเองอีกด้วย!
ในความเป็นจริง การกระทำผิดอาญาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด ถ้าหากรัฐบาลได้ตรวจสอบควบคุมให้ตำรวจผู้รับผิดชอบสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน อย่างจริงจังและจริงใจ
ไม่ว่าจะเป็นคดีลึกลับซับซ้อนแค่ไหน อาจกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 90 จะสามารถจับคนร้ายได้ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบัน มีเทคโนโลยีในการเก็บหลักฐานวิทยาศาสตร์เป็นภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ตามถนนและสถานที่ต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งจากหน้ารถยนต์ของประชาชน มากมาย
ก่อนเกิดเหตุ คนร้ายเดินทางมาจากไหน ใช้รถยี่ห้อ สี และทะเบียนอะไร จริงหรือปลอม กี่คัน สวมเสื้อผ้าแบบใด แวะพักรอหรือซื้อของที่ใด รูปร่างหน้าตาหรือรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ขณะก่อเหตุใช้อาวุธและมีพฤติกรรมอย่างไร หลังจากนั้นขับรถหลบหนีไปถนนหรือซอยไหน เข้าไปในสถานที่ใด ทิ้งรถไว้หรือขับออกมา เปลี่ยนเสื้อผ้านำไปทิ้งหรือเก็บซ่อนไว้ที่ใด พฤติกรรมเหล่านี้จะมีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้หมด
แต่ “ประชาชน” จะร่วมมือแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสคนร้าย เข้าให้การเป็นพยาน รวมทั้งมอบหลักฐานการกระทำผิดต่อรัฐ ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า
เมื่อเป็นพยานแล้วชีวิตปลอดภัย ความลับไม่รั่วไหล และหลักฐานนั้นไม่ถูกทำลายหายไป หรือสอบไปสอบมา สุดท้าย “พยานกลับกลายเป็นผู้ต้องหาว่าให้การเท็จ” เหมือนที่เกิดขึ้นหลายในหลายคดี!
ที่สำคัญที่สุดคือต้องเชื่อว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นไปด้วยความสุจริต มีประสิทธิภาพ และมีอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานรวมทั้งการมีความเห็นทางคดี ไม่มีการแทรกแซงหรือสั่งโดยมิชอบจากบุคคลใด ต้องการให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษอย่างแท้จริง.
ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, July 01, 2019,