เครนถล่ม ก่อสร้างผิดกฎหมาย อันตรายทำไมรัฐและกทม.จึงควบคุมไม่ได้? – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เครนถล่ม ก่อสร้างผิดกฎหมาย อันตรายทำไมรัฐและ กทม.จึงควบคุมไม่ได้?

                              พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

กรณีวินจักรยานยนต์ซอยอุดมสุข 103 ยกพวกตะลุมบอนไล่ทำร้ายและฆ่ากันตายไปถึง สองศพเกิดสถานการณ์จลาจลย่อยๆ ขึ้นกลางเมือง ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาต้องอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กันนั้น

          พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดขึงขังว่า จะต้องนำตัวผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษให้ได้ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมอยู่ทุกเรื่อง ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ จะทำอย่างไรให้ผู้รับผิดชอบรักษากฎหมายกันอย่างจริงจังต่างหาก?

สองวินที่ยกพวกตะลุมบอนกันนี้ เท่าที่ทราบมีปัญหาความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันมานานกว่าสองปี และมีปัญหาเรื่อง ส่วยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

          เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี   การสอบสวนก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายเพื่อทำให้ความขัดแย้งนั้นยุติลงตามครรลองของบ้านเมืองได้!

ความแค้นใจจึงเกิดการสะสมตัวมาถึงจุดที่ต้องใช้กำลังยกพวกเข้าห้ำหั่นกันในที่สุด

          ปัญหาการสอบสวนคดีอาญาประเทศไทยนั้น  “เป็นเรื่องใหญ่” ที่รัฐบาล “ต้องเร่งแก้ไข “ปัญหาเฉพาะหน้า” และ “ดำเนินการปฏิรูปทั้งระบบ” โดยเร็ว

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีสาเหตุไม่ต่างกันก็คือ กรณีเครนก่อสร้างคอนโดฯ สูงย่านบางรักถล่มลงมาในโรงเรียนอัสสัมชัญ ทำให้เด็กนักเรียนหญิงบาดเจ็บไปสิบคน

เดชะบุญ ไม่ใช่ช่วงเวลาซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ใช้พื้นที่จุดนั้นโดยตรง เลยไม่มีใครได้รับอันตรายถึงชีวิต!

หลังเกิดเหตุ ผู้ว่าฯ กทม.ทำขึงขัง สั่งย้ายหัวหน้าฝ่ายการโยธาเขตบางรักไปปฏิบัติหน้าที่อีกเขตหนึ่ง พร้อมบอกผู้ปกครองว่า ถ้าหากมีการตอกตะปูอีกเพียงตัวเดียว จะสั่งย้ายทั้งเขต!

อาจารย์ในโรงเรียนคนหนึ่งบอกว่า อันตรายจากการก่อสร้างตึกสูงมีสิ่งของตกลงมาในโรงเรียนนี้ ไม่ใช่เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก!

เกิดมาสามสี่ครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีใครได้รับอันตราย  และได้มีการเจรจาให้ผู้รับผิดชอบแก้ไขรับปากตลอดมาแต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เขตพื้นที่ได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา  ก็ยังคงปรากฏการฝ่าฝืนมาตลอด

          ผู้รับผิดชอบไม่ได้กลัวความผิดอาญาแต่อย่างใด?

ถ้าหากนับรวมอันตรายจากการก่อสร้างทุกแห่งทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลายกรณีไม่มีคนบาดเจ็บหรือตาย ทำให้ไม่มีการรายงานเป็นสถิติราชการนั้น ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใดกันแน่?

เพราะเมื่อไม่มีคนรวยหรือลูกหลานบาดเจ็บหรือตาย กทม.รวมทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่จะทำให้ใครคิดแก้ไขอย่างจริงจังอะไร?

กฎหมายสำคัญที่กรุงเทพมหานครใช้ในการควบคุมป้องกันอันตรายจากการก่อสร้างทั้งระหว่างทำงานและหลังสร้างเสร็จก็คือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

เป็นกฎหมายที่ กทม.เป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบมิให้ใครละเมิดเพื่อป้องกันอันตรายจากการก่อสร้างต่างๆ หากพบการฝ่าฝืน ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายให้เข็ดหลาบ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อผู้อื่นกระทำในลักษณะเดียวกัน

          แต่ปัญหาสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของ กทม. รวมทั้งกผิดกฎหมายฎหมายเกี่ยวกับความสงบและเป็นระเบียบของเมืองอีกรวม 26 ฉบับ ก็คือ

          การไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิดคนใดส่งให้อัยการฟ้องศาลลงโทษได้?

หน่วยงานรักษากฎหมายและสอบสวนคือตำรวจนครบาลก็ไม่ได้อยู่สังกัดเมืองคือกรุงเทพมหานคร เหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลก?

เมื่อเขตตรวจพบการกระทำผิด ก็ต้องทำหนังสือมอบหมายให้เจ้าพนักงานไปแจ้งความกับตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนสถานีต่างๆ 88 แห่งให้ดำเนินคดีแทน

ส่วนตำรวจจะรับคำกล่าวโทษ ออกเลขคดี มีการสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายกันหรือไม่? ช้าหรือเร็วเพียงใด?  ขึ้นอยู่กับตำรวจเองทั้งสิ้น!

          ปัจจุบันตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่มีปัญหาขวัญและกำลังใจตกต่ำ บางคนถูกเกณฑ์ให้มาทำงานด้วยความไม่เต็มใจ หลายคนไม่มีความรู้ในกฎหมายที่มีผู้ไปแจ้งความ บางคนเบื่อหน่ายกำลังวิ่งเต้นย้ายหนีหรือคิดลาออกให้พ้นๆ ไป!

          ปัญหาชีวิตของตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนเหล่านี้ กทม.ก็ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแก้ไขให้ตำรวจคนใดเพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายของตนมีประสิทธิภาพได้!

          ในอันที่จริง ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร มาตรา 90 วรรคสี่ กำหนดให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กทม.เป็นพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกรณีที่ผู้ต้องหาไม่รับสารภาพยอมให้ปรับส่งให้อัยการฟ้องศาลเองได้

แต่การใช้อำนาจดังกล่าวได้เกิดปัญหาถูกอัยการพื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่คุ้นเคยกับการสอบสวนของหน่วยอื่นที่มิใช่ตำรวจโต้แย้ง หลังจากเขตได้สอบสวนสรุปสำนวนส่งไปให้สั่งฟ้องคดีเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วด้วยเหตุผลว่า อำนาจสอบสวนของ กทม.ตามกฎหมายนั้นยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่ได้มีการ ออกกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดวิธีปฏิบัติในการใช้อำนาจไว้

การโต้แย้งไม่รับสำนวนการสอบสวนไปฟ้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ไม่มีใครชี้ชัด และ กทม.ก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวในการใช้อำนาจสอบสวนนั้นตามกฎหมายอีกต่อไปจนกระทั่งบัดนี้

ทำให้ปัจจุบันมีคดีที่ กทม.แจ้งความกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนค้างคาอยู่ที่สถานีทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร หลายพันหรืออาจนับหมื่นคดี!

          ผู้ละเมิดกฎหมายไม่ว่าเรื่องใด จึงไม่เกรงกลัวการแจ้งความกล่าวโทษของ กทม.

          อยากแจ้ง แจ้งไป ตำรวจไม่ออกหมายเรียกผู้ฝ่าฝืนมาแจ้งข้อหา ไม่สรุปสำนวนส่งอัยการ การฟ้องและคำพิพากษาความผิดก็เกิดขึ้นไม่ได้

ปัญหาการดำเนินคดีที่ทุกหน่วยงานทั้ง กทม. และไม่ว่ากระทรวงทบวงกรมใดต้องไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนให้ และไม่มีความคืบหน้าส่งผลต่อการรักษากฎหมายในความรับผิดชอบ โดยเฉพาะคดีป่าไม้ที่มีข้าราชการออกมาให้ข่าวว่าล่าช้าอย่างยิ่งนั้น

เป็นเรื่องที่รัฐสามารถแก้ปัญหาได้ง่ายๆ

          เช่น กทม. ซึ่งมีอำนาจสอบสวนความผิดกฎหมายอยู่แล้วอย่างชัดเจน ไม่ว่าเขตใดก็ควรสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องศาลอีกครั้ง

          หากอัยการพื้นที่ใดแจ้งเป็นหนังสือมาว่ายังไม่มีอำนาจ ก็นำมาพิจารณาว่า เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

          หากไม่เห็นด้วย ก็ทำหนังสือโต้แย้งไปยังอัยการสูงสุดให้พิจารณา

          ถ้าเห็นพ้องด้วยว่าต้องดำเนินการเพิ่มเติมด้วยการออกกฎกระทรวงมหาดไทยหรืออย่างไร ก็รีบทำไปเพื่อให้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีอย่างสมบูรณ์

ส่วนหน่วยงานอื่นที่จำเป็นต้องมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกฎหมายในความรับผิดชอบที่สำคัญ เช่น กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการ จังหวัดและนายอำเภอ ตามกฎหมายการพนัน และสถานบริการ และหน่วยงานของรัฐอีกมากมาย

นายกรัฐมนตรีก็สามารถแก้ปัญหาได้ง่ายๆ ด้วยการ ออกกฎกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติม ในส่วนเกี่ยวข้อง หรือเสนอแก้ไข ป.วิ อาญา ว่าด้วยการสอบสวนบัญญัติไว้เพียงหนึ่งมาตรา ว่า

          “กระทรวง ทบวงหรือกรมที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย โดยไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่จะดำเนินการสอบสวนไปตามหน้าที่ของตน”

          ยุติการผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้ที่ตำรวจเพียงหน่วยเดียว ซ้ำเต็มไปด้วยปัญหาสารพัดที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ทำลายความเป็น “นิติรัฐ” หรือ “รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย” ประเทศไทยให้อ่อนแอลงทุกวัน.

(เครดิตภาพ Sanook.com)

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, June 24, 2019

About The Author