คดีหวย ๓๐ ล้าน กับหลักฐานวิทยาศาสตร์แท้จริงที่ถูกทำลายไป-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
คดีหวย ๓๐ ล้าน กับหลักฐานวิทยาศาสตร์แท้จริงที่ถูกทำลายไป
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาเรื่องลอตเตอรี่ ๓๐ ล้านเป็นของใคร เรื่องที่รัฐสามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ แต่กลับกลายเป็นเรื่องยากสุดสลับซับซ้อนประชาชนได้ฟังแล้วรู้สึกอ่อนใจเวียนหัวไปตามๆ กันนั้น
เมื่อวันที่ ๔ มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่า ครูปรีชาฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายผู้มีอำนาจฟ้องคดีว่า ร.ต.ท.จรูญฯ ยักยอกและรับของโจร
แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าลอตเตอรี่เป็นของใคร?
ทำให้ ร.ต.ท.จรูญฯ ยังคงได้เปรียบในการถือสิทธิเหนือกว่าต่อไปตาม “บทสันนิษฐาน” ของกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๑๓๐๓ ที่บัญญัติว่า
“ ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริต”
นั่นหมายถึงกฎหมายไม่ห้ามผู้ที่เชื่อว่าตนเป็นเจ้าของแท้จริงมีหลักฐานมั่นใจในการพิสูจน์แสดงให้ศาลเชื่อเพื่อหักล้างบทสันนิษฐานดังกล่าวได้แต่อย่างใด
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ทั้งครูปรีชาหรือไม่ว่าใคร จะสามารถพิสูจน์ว่าตนเป็นเจ้าของหรือผู้ซื้อที่แท้จริงได้หรือไม่ในที่สุด?
เรื่องนี้ มีข้อเท็จจริงที่สำคัญน่าสนใจปรากฏในคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า
“……ต่อมาวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยเป็นผู้นำสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ที่ทำหายไปขอรับเงินรางวัล โจทก์เดินทางไปพบจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี จำเลยอ้างว่าซื้อสลากกินแบ่งชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งมาแต่จำหน้าคนขายไม่ได้ ร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์บอกให้โจทก์เรียกนางสาวรัตนาภรณ์และนางสาวพัชริดามาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี เมื่อทั้งสองคนมาถึง ร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ถามจำเลยว่า ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจากนางสาวรัตนาพรและนางสาวพัชริดาหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ใช่ แล้วหยิบซองใส่สลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีตัวเลข ๗๐๐ ติดอยู่บนซองมาให้ร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ดูบอกว่า ถ้าเขียนเลข ๗๐๐ เหมือน จำเลยจะยอมรับ นางสาวพัชริดาบอกว่าตนเองเป็นคนเขียน ร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ให้นางสาวพัชริดาเขียนให้ดู จำเลยบอกว่านางสาวพัชริดาเขียนเหมือนตัวเลขบนซองสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงยอมรับว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นของโจทก์ ขณะนั้นพันตำรวจโท ชูวิทย์ เจริญนาค รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรีเดินเข้ามาในห้องพนักงานสอบสวนแล้วเรียกโจทก์กับจำเลยไปเจรจากันในห้องทำงานพันตำรวจโทชูวิทย์ โดยให้โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงกันเอง ส่วนพันตำรวจโทชูวิทย์ออกไปรอนอกห้อง ระหว่างอยู่ในห้อง จำเลยถามโจทก์ว่าจะเอาอย่างไร โจทก์ถามกลับไปว่าลุงจะเอาอย่างไร จำเลยตอบว่า วิน วิน โจทก์ถามว่าหมายถึงแบ่งคนละ ๕๐ – ๕๐ ใช่หรือไม่ จำเลยพยักหน้า พันตำรวจโทชูวิทย์เดินกลับเข้ามาในห้องสอบถามผลการเจรจา โจทก์บอกว่าจำเลยตกลงแบ่ง ๕๐ – ๕๐ แต่จำเลยขอออกไปปรึกษาภริยาก่อน หลังจากนั้นอีกประมาณ ๕ นาที จำเลยเดินกลับเข้ามาในห้องพร้อมกับภริยา ภริยาด่าโจทก์ว่าเป็นครูขี้โกงและไม่ยอมแบ่งเงินรางวัลให้โจทก์ พันตำรวจโทชูวิทย์เห็นว่าไม่สามารถตกลงกันได้ จึงให้โจทก์กับจำเลยกลับไปที่ห้องพนักงานสอบสวน โจทก์แจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาลักทรัพย์……..”
ทั้งร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ และพันตำรวจโทชูวิทย์ จึงนับเป็นพยานสำคัญในคดีที่รู้เห็นข้อเท็จจริงการพูดจาและพฤติการณยอมรับตกลงกันระหว่างนั้น ก่อนนำไปสู่การแจ้งความให้ดำเนินคดีร้อยตำรวจโทจรูญข้อหาลักทรัพย์ดังกล่าว
ต่อปัญหานี้ อันที่จริง การพิสูจน์ความจริงในชั้นสอบสวนระดับสถานีไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายไปถึงกองบังคับการ กองบัญชาการ จนกระทั่งตำรวจแห่งชาติให้เอิกเกริกแต่อย่างใด
นอกจากการบันทึกปากคำร้อยตำรวจเอกจิรยุทธ์ และพันตำรวจโทชูวิทย์ เป็นหลักฐานในฐานะพยานสำคัญที่รู้เห็นการเจรจาบนสถานี โดยที่ร้อยตำรวจโทจรูญยอมรับว่าลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่หนึ่งดังกล่าวเป็นของครูปรีชาฯ เนื่องจากนางสาวพัชริดาเขียนตัวเลข 700 เหมือนที่ปรากฏบนซองพลาสติกตามที่ร้อยตำรวจโทจรูญบอกแล้ว
หลักฐานภาพถ่ายลอตเตอรี่ฉบับเลขที่ ๕๓๓๗๒๖ ก็ปรากฏอยู่บนแผงของนางสาวพัชริดาฯ หรือ “เจ๊พัช” ในวันที่ ๓๐ ต.ค. ๖๐ ที่ทุกคนยอมรับ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้
ส่วนปัญหาว่า “เจ๊พัช” ได้ขายลอตเตอรี่ฉบับนี้ให้ “เจ๊บ้าบิ่น” และได้ขายต่อให้ครูปรีชาโดยโทรศัพท์นัดให้ครูมารับไปในวันที่ ๓๑ ต.ค. ๖๐ จริงหรือไม่ ก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วย
๑.คำให้การ “เจ๊พัช” ต้องชัดเจนว่า จำฉลาดชุดนี้ได้ว่าขายให้เจ๊บ้าบิ่นไปเพราะเหตุใด
รวมทั้ง “เจ๊บ้าบิ่น” จำได้อย่างไรว่าขายลอตเตอรี่เลข 533726 นี้ให้ครูปรีชา มีที่มาที่ไปอย่างไร
รวมทั้งผู้เห็นเหตุการณ์อีก 7-8 คน หรือมากกว่านั้น ที่ถือเป็น “ประจักษ์พยาน” Eyewitness บอกว่าเห็นครูปรีชาไปตลาดวันที่ ๓๑ ต.ค. ๖๐ ในช่วงเย็น
บันทึกภาพและเสียงคำให้การประกอบไว้ โดยถามให้ตอบปรากฏรายละเอียดชัดเจนว่า แต่ละคนได้พบเห็นครูอย่างไร? ช่วงเวลาใด ขณะทำอะไร? ได้มีการพูดคุยสนทนากันหรือไม่? เรื่องอะไร?
นำคำประจักษ์พยานทั้งหมดมาพิจารณาว่า เรื่องที่พยานสามคนยืนยันการขายลอตเตอรี่ให้เห็นครูปรีชา รวมทั้งอีกหลายคนเห็นว่ามาตลาดในวันดังกล่าวนั้น เป็นการให้การสอดคล้องตรงกันเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด?
คำพยานคนใดไม่น่าเชื่อถือเพราะส่วนได้เสียในคดี หรือมีประวัติพฤติการณ์เป็น”แก๊งตกหวย” “รับจ้างให้การเท็จ” ตามที่หลายคนกล่าวหาตั้งข้อสงสัยจริงหรือไม่?
๒. ที่สำคัญ ซองพลาสติกใสที่ใช้ใส่ลอตเตอรี่ ถ้าครูปรีชาเป็นผู้ซื้อและรับไปทำตกหายจริง ย่อมเป็นวัตถุพยานสำคัญที่น่าจะมีหลักฐานลายนิ้วมือหรือ “ดีเอ็นเอ” ปรากฏ ให้สามารถตรวจสอบเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง
ซึ่งถ้าประจักษ์พยานทุกปากให้การสอดคล้องตรงกันเรื่องเหตุที่จำการขายลอตเตอรี่เลขดังกล่าวให้ครูปรีชาได้ รวมทั้งมีพยานหลายปากเห็นว่าครูมาตลาด และตรวจพบดีเอ็นเอของครูบนซองพลาสติคดังกล่าว
ก็สามารถสรุปได้ว่า ครูเป็นผู้ซื้อ หรือได้ถือครอบครองลอตเตอรี่ฉบับนี้ก่อนทำหล่นหายไปอย่างแน่นอน
ไม่ว่าสัญญาณการใช้โทรศัพท์จะบ่งชี้หรือแตกต่างไปอย่างไรก็ตาม
เนื่องจาก การถามถึงเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ให้มนุษย์ย้อนหลังย่อมบอกได้เพียงช่วงกว้างๆ เช่นระหว่าง ๑๖.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. แตกต่างจากสัญญาณไฟฟ้าที่ปรากฏเป็นวินาที
เช่นกรณีนี้ปรากฎสัญญาณในเขตพื้นที่บริการโรงเรียนเวลา ๑๖.๓๙ น. ห่างตลาดเพียง ๑.๕ กม. ใช้เวลาขับรถเพียงห้านาทีเท่านั้น
จะสรุปว่าครูไม่ได้ไปตลาดในเย็นวันดังกล่าวก็คงไม่ได้ เพราะเวลาที่นึกและบอกว่าไปตลาดนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาที่สามารถไปถึงได้ตามที่กะประมาณ และหากโทรศัพท์ไม่มีการโทรศัพท์เข้าออก ก็ย่อมไม่ปรากฏสัญญาณว่ามาจุดนั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไป
แต่ถ้าตรวจลายมือหรือดีเอ็นเอของครูบนซองพลาสติกที่ใส่ลอตเตอรี่ไม่พบ เรื่องก็เป็นอันจบกันไป
ครูคงอ้างได้ยากว่า เป็นผู้ซื้อนำมาถือไว้ก่อนหล่นหายในตลาด แม้พยานสำคัญสามปากคือ เจ๊พัช เจ๊บ้าบิ่น และเจ๊เกียว จะยืนยันตรงกันว่าได้ขายสลากเลข 533726 ให้ แต่เมื่อหลักฐานวิทยาศาสตร์คือลายมือหรือดีเอ็นเอบนซองพลาสติกกลับไม่ปรากฎ จะบอกได้ว่าตนเคยถืออยู่ได้อย่างไร เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า มีผู้ใดจงใจทำลายหรือทำให้หายไป!
แต่น่าเสียใจที่ระบบการสอบสวนของตำรวจไทยเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด ตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบ กลับปล่อยให้วัตถุพยานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในคดีที่มีปัญหาถูกทำลายไปง่ายๆ!
โดยไม่มีใครออกมาชี้แจงหรืออธิบายว่า หลักฐานสำคัญดังกล่าว ใครเป็นผู้ทำลายหรือถูกโจรกรรมไปจากสถานีตำรวจได้อย่างไร? ใครคือผู้รับผิดชอบ? ทั้งตำรวจผู้เก็บรักษาและผู้บังคับบัญชาระดับต่าง ๆ
ได้มีการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายและวินัยร้ายแรงผู้ใดไปแล้วหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร?
การที่วัตถุพยานสำคัญสูญหายถูกทำลายได้เกิดความเสียหายต่อคดีอย่างร้ายแรงดังกล่าว ทำให้รัฐไม่สามารถพิสูจน์ความจริงด้วยพยานบุคคลประกอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถสรุปผลให้ประชาชนเชื่อถือด้วยความมั่นใจได้
ซ้ำยังมีการสอบสวนให้ผู้เสียหายและพยานซึ่งเป็นพลเมืองดีต้องกลายเป็นผู้ต้องหาไปอย่างน่าอนาถ แต่ละคนเข็ดขยาดไปตามๆ กันอีกด้วย!
คดีง่ายๆ ในประเทศไทย หลายคดีกลายเป็นเรื่องยาก ก็เนื่องจากตำรวจสามารถสอบสวนให้หลักฐานสำคัญทั้งพยานบุคคลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไปได้
เพราะไม่มีทั้งการบันทึกภาพและเสียงการสอบสวนและเหตุการณ์ต่างๆ บนสถานีเป็นหลักฐาน และการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกระหว่างสอบสวนอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง!