‘นวยทนไม่ได้’โวยร่างพรบ.ปฏิรูปตำรวจ2ฉบับเสร็จแล้วแต่ไม่นำเข้าสู่สภาข้องใจมีเจตนาจะไม่ทำตามรธน.ผิดหรือไม่ใครต้องรับผิด?ลั่นกม.บังคับให้ต้องปฏิรูปตร.-เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน  กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  เรื่อง จากถ้ำขุนน้ำนางนอนสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเนื้อหาดังนี้

 

ผู้ว่าฯหมูป่าเขาเตรียมการมาตั้งแต่โคโรน่าเริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น เตรียมแม้กระทั่งเครื่องช่วยหายใจ ชุดป้องกันเชื้อโรค สำหรับเครื่องช่วยหายใจซึ่งทั้งจังหวัด (ลำปาง) มีเพียง 40 เครื่อง สามารถจัดหาเพิ่มเตรียมได้อีก 30 เครื่อง รวม 70 เครื่อง เตรียมสำรองไว้ รณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยให้ข้าราชการฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และข้าราชการฝ่ายอื่นๆ ทุกฝ่าย ออกให้ความรู้กับประชาชนทั้งการป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดด้วยการสวมหน้ากากอนามัย (มีการจัดเตรียมจัดหาหน้ากากเตรียมไว้ให้) การทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือล้างไม้ เว้นระยะห่างทางสังคม ห้ามกิจกรรมที่มีการชุมนุม มั่วสุม

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร แห่งเขลางค์นคร ผู้สร้างตำนานทีมฟุตบอลหมูป่าติดถ้ำขุนน้ำนางนอน ได้ทำมานานแล้ว ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำเชิงรุก ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของการระบาดของเชื้อไวรัสจากเมืองจีน นำมาถอดบทเรียน เอาอย่างของจีนมาบ้าง คิดขึ้นเอง สร้างขึ้นใหม่ โดยปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทยบ้าง จนบัดนี้ ทั้งจังหวัดลำปางยังไม่มีคนติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เลยแม้แต่คนเดียว นายแน่มาก!!! ยากที่จะหาตัวจับ ดีนะที่เกิดเหตุหมูป่าติดถ้ำจึงทำให้เราได้รู้จักท่าน ได้เห็นฝีไม้ลายมือ ความรู้ความสามารถ ความคิด ภาวะผู้นำ ความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมาของท่าน จนท่านได้รับการปูนบำเหน็จ ย้ายจากพ่อเมืองเชียงราย ไปเป็นพ่อเมืองพะเยา (อดีตอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) ท่านก็ยังไม่พูดสักคำ (นายแน่มากเป็นคำรบสอง)

 

คงจำกันได้ว่ามีกระแสทางโซเชียลมีเสียงเรียกร้องให้ท่านมาลงสมัครผู้ว่า กทม. ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย (ขอรับราชการไปจนเกษียณอายุก่อน) ประกอบกับตำแหน่งผู้ว่า กทม. เขาคงลืมกันแล้วว่าเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้ง และต้องจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ถึงจะได้ตัวคน ที่คน กทม.ให้ความไว้วางใจ ฝากผีฝากไข้ ได้เข้ามาบริหารกรุงเทพมหานคร หรือว่าคน กทม. พึงพอใจกับปัจจุบัน ความสามารถในการแก้ปัญหา อย่าเพิ่งพูดถึงระดับไวรัสโควิด 19 เลย เพียงแค่ฝุ่น PM 2.5 ด้วยการนำโดรน 50 ตัว ขึ้นบินพ่นละอองน้ำ ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำจากอาคารใบหยก วิธีการพรรค์อย่างนี้ กระผมว่าผู้ว่าหมูป่า และผู้ที่อาสาจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อีกหลายคนคิดไม่ออกดอก…….. (ขออย่าลักหลับกับการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.)

 

บอกมาตรงๆ ถ้าจะดื้อด้านไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ก็ขอให้บอกมาให้ชัด กระผมจะได้ย้ายไปอยู่นครลำปางเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว …

 

เฉกเช่นเดียวกันกับการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นความประสงค์ตรงกันของคนทั่วทั้งประเทศ จนต้องมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 260 ให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี จึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปตำรวจขึ้นมา (ตามรัฐธรรมนูญ) โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน กรรมการอื่นรวม 36 คน ทำการยกร่างแนวทางและกฎหมายเพื่อการปฏิรูปตำรวจเสร็จ เสนอรัฐบาล (รัฐบาลชุดก่อน) เมื่อ 6 เม.ย. 61 รัฐบาลเห็นว่า เพื่อความละเอียด รอบคอบ รัดกุม (แล้วแต่จะอ้าง) จึงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกคณะหนึ่งซึ่งมีอาจารย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรรมการอื่นรวม 16 คน (กระผมเป็นกรรมการรวมอยู่ด้วย) ทำการศึกษาสืบสวนทวนความเนื้อหาสาระการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้แล้วเสนอรัฐบาลโดยด่วน คณะกรรมการชุดนี้ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ด้วยหวังให้เกิดการปฏิรูปตำรวจขึ้นโดยเร็ว เสร็จเรียบร้อยในรูปของ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. ยืนยันว่าเสร็จก่อนสภา สนช. จะปิดรับร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา แต่ปรากฏว่าไม่มีร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเข้าสู่สภา สนช. ให้ได้มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด …

 

และแล้วเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เสียงเรียกร้องถามหาเรื่องการปฏิรูปตำรวจกลับดังขึ้นอีก รัฐบาลจึงได้สั่งให้คณะกรรมการชุดเดิมนำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไปดูโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้มีการเชิญตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาร่วมพิจารณาเรียงเป็นรายมาตรา จากหน้าไปหลัง จากหลังมาหน้า โดยละเอียดทุกมาตรา ทุกวรรค ทุกตอน จนตกผลึก เสร็จสิ้น เรียบร้อยสมบูรณ์ไปประมาณสามเดือนแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้จัดส่งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาส่งเข้าสู่สภาเพื่อจะได้ตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้ต่อไป ในขั้นตอนของสภาอาจมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาหาข้อยุติกันอีก ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา ….. แต่เมื่อไม่เริ่มนับหนึ่ง ก็ไม่มีทางไปถึงสอง ถ้าจะดองก็คงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับไว้ กระผมยังไม่อยากพูดว่าถ้ามีเจตนาจะไม่ทำจะเป็นความผิดหรือไม่? และใครต้องรับผิด?

 

สองกรณีนี้ (การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และการปฏิรูปตำรวจ) เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ มิใช่ควรกระทำ เพราะมีกฎหมายบังคับกำกับไว้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิทธิของประชาชนอันพึงมีพึงได้ ก็ไม่อยากพูดต่อไปอีกว่าถ้าไม่กระทำจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่???

 

About The Author