พ.ร.บ.จราจรใหม่ ให้อำนาจตำรวจขอตรวจดูใบขับขี่โดยไม่มีเหตุกระทำผิดกฎหมายจริงหรือ?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

พ.ร.บ.จราจรใหม่ ให้อำนาจตำรวจขอตรวจดูใบขับขี่โดยไม่มีเหตุกระทำผิดกฎหมายจริงหรือ?

 

                                                      พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

               

สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ ได้เดินมาถึงจุดที่ประชาชนกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งบางคน พยายามบอก ว่าเป็นประชาธิปไตย?     

ไม่ใช่ รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกต่อไป?

แต่แท้จริง เป็นการ คืนประชาธิปไตยให้ประชาชนไม่หมด หลังจากยึดอำนาจไป!

สำหรับ ผู้นำรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี ก็คงเป็น  อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือหัวหน้า คสช. คนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่พิสดารในมาตรา 272 กำหนดให้ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จำนวน 250 คน ร่วมลงมติกับผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 500 คน ในการเลือกบุคคลตามที่พรรคการเมืองเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีในห้าปีแรก!

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีที่เปลี่ยนไป เพราะต้องแบ่งอำนาจให้หลายพรรคการเมือง

รวมทั้งการมีผู้แทนราษฎรทั้งในรัฐบาลและฝ่ายค้าน

คงทำให้การทำงานของรัฐบาลไม่สะดวกสบายและง่ายเหมือนที่ผ่านมา

ความเดือดร้อนและเสียงเรียกร้องของประชาชนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะ การกระจายอำนาจ และ การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ ร่างกฎหมายที่เสนอไว้สามฉบับ รวมทั้งแนวคิดใหม่ คงพอขยับได้บ้าง

ขึ้นอยู่กับว่า พรรคที่เข้าไปร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะ  “ประชาธิปัตย์” จะยืนหยัดในอุดมการณ์และนโยบายที่เคยแสดงไว้ต่อไปประชาชนมากน้อยเพียงใด และจะมีโอกาสได้รับผิดชอบงานกระทรวงมหาดไทยหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นใหญ่ที่แสนยากเย็น   “คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย”

นำส่วนที่ขาดหายไปจากรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับมีชัย คืนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด!          

                ปัญหาหนึ่งซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีบทสรุปไม่ว่าจากฝ่ายใด ทั้งจากตำรวจแห่งชาติและสำนักงานศาลยุติธรรม  ก็คือเรื่อง เพื่อนโชค ถูกตำรวจขอตรวจใบขับขี่และมีปัญหาจากการบอกว่าเป็นอธิบดีผู้พิพากษา

ความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาตำรวจไทยตั้งด่านนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนถนน เรียกให้ประชาชนหยุดรถเพื่อขอตรวจค้นหรือขอตรวจใบขับขี่ทุกวี่ทุกวันโดยไม่มีเหตุทำผิดกฎหมายอะไรนั้น

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้แทนราษฎรที่ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านที่รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชนจะต้องหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นตรวจสอบด้วยการ  “อภิปรายในสภา” หรือ “ตั้งกระทู้ถาม” ผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมหรือนายกรัฐมนตรีให้ตอบ ว่า

เป็นการปฏิบัติที่ชอบตามกฎหมายหรือไม่?

ในเรื่องนี้ยังมีคนงงอยู่ไม่น้อยที่เข้าใจว่า ตำรวจมีอำนาจสามารถกระทำได้ในการเรียกให้หยุดรถ ขอตรวจค้นทั้งรถและตัวบุคคลเพื่อป้องกันอาชญากรรม รวมทั้ง  เดินรอบรถหาความผิด

ตามกฎหมาย การขอตรวจค้นบุคคลในที่สาธารณะอันเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการเดินทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 38

ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจทำได้ต่อเมื่อ มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของผิดกฎหมายหรือได้มาอย่างผิดกฎหมายในความครอบครอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 93 เท่านั้น

และเหตุอันควรสงสัย ไม่ใช่เรื่องที่ตำรวจคนใดจะใช้ความรู้สึกนึกคิดเอาเอง

แต่จะต้องมาจากพฤติกรรมการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ก่อให้เกิดเหตุดังกล่าวของบุคคลนั้นเอง  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555               

ส่วนการขอตรวจดูใบอนุญาตขับรถหรือที่เรียกกันว่า  “ใบขับขี่”

ตำรวจมีอำนาจกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 (1) และ (2) คือ กรณีพบว่ารถนั้นมีสภาพไม่มั่นคงปลอดภัย หรือพบการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว เท่านั้น

กฎหมายจราจรไม่ว่าทั้งเก่าหรือแม้กระทั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ในฉบับที่ 12 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ยังคงหลักการนี้ไว้

ที่แก้ไขเพิ่มเติมก็เช่น

มาตรา 31/1 วรรคสอง ประชาชนสามารถ แสดงใบขับขี่ดิจิทัล ของกรมการขนส่งทางบกที่โหลดเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้ ไม่ต้องแสดงใบอนุญาตแบบที่เป็นกระดาษให้ตำรวจยึดไว้ เป็นหลักประกันการจ่ายค่าปรับเหมือนเดิม              

มาตรา 140 วรรคสอง กรณีพบการกระทำผิดแล้วไม่สามารถออกใบสั่งติดไว้ที่รถได้ ให้ส่งใบสั่งนั้นพร้อมพยานหลักฐานทาง ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ

มาตรา 140/1 เมื่อติดใบสั่งไว้ที่รถ หรือเมื่อส่งทางไปรษณีย์แล้ว เมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวัน ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถนั้นเป็นผู้กระทำผิด เว้นแต่จะได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนภายในสามสิบวันว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่

มาตรา 140/2 กรณีเจ้าพนักงานเห็นว่า หากปล่อยให้ผู้ขับรถที่กระทำผิดกฎหมายจราจรขับขี่รถต่อไป อาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือตนเอง ก็ให้มีอำนาจยึดใบขับขี่ไว้ได้จนกว่าจะเห็นว่าอยู่ในสภาพปลอดภัย

มาตรา 141 (2) เมื่อได้รับใบสั่งแล้ว ถ้ารับว่ากระทำผิด สามารถไปจ่ายค่าปรับตามจำนวนที่กำหนดในใบสั่งที่ สถานีตำรวจใดก็ได้ ทั่วไทย

มาตรา 160 จัตวา บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบสั่งหรือข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายจราจรแล้ว มีหน้าที่แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบภายใน 30 วัน ว่าผู้ใดเป็นผู้ขับรถ หากไม่แจ้งในกำหนดมีโทษปรับห้าเท่าของค่าปรับสูงสุดในข้อหานั้น

                สรุปก็คือ พ.ร.บ.จราจรที่เพิ่มเติมใหม่ ให้อำนาจตำรวจในการตรวจจับและปรับรวมทั้งยึดใบขับขี่ผู้ขับรถผิดกฎหมายด้วยความสะดวกยิ่งขึ้น

รวมทั้งนำบทบัญญัติในมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ให้ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถพร้อมแสดงต่อเจ้าพนักงานคือผู้ตรวจการข้าราชการกรมการขนส่งทางบก  มาบัญญัติไว้ในมาตรา 31/1 เพื่อให้ตำรวจ ผู้ทำหน้าที่เจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจในการขอตรวจชัดเจนขึ้น

โดยใช้อำนาจนั้นตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1) คือเมื่อพบการกระทำผิดเกี่ยวกับสภาพรถ และ (2) พฤติกรรมการขับรถ

                ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจตำรวจหรือบุคคลใดนำสิ่งใดมาตั้งวางขวางถนน ตั้งด่านตรวจค้นรถและบุคคลโดยไม่มีเหตุอันควรสงสัย 

                หรือ เรียกให้คนขับหยุดรถเพื่อขอดูใบขับขี่ โดยไม่มีเหตุพบการกระทำผิดกฎหมายจราจร แต่อย่างใด.

 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, May 27, 2019

About The Author