ตำรวจตั้งด่านบนทางหลวง ขอตรวจค้น  ขอดูใบขับขี่ประชาชน ทำได้หรือไม่ มีอำนาจเพียงใด?-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร


ยุติธรรมวิวัฒน์

ตำรวจตั้งด่านบนทางหลวง ขอตรวจค้น  ขอดูใบขับขี่ประชาชน ทำได้หรือไม่ มีอำนาจเพียงใด?

     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

โศกนาฏกรรมที่ นายไพวัลย์ แซ่ลี้ ได้ปิดห้องจุดเตาถ่านรมควันจนขาดอากาศหายใจในบ้านพักย่านสมุทรปราการ พร้อมเขียนจดหมายลาตายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า มีปัญหาไปแจ้งความกับ ตำรวจนครบาล สน.โชคชัย เรื่องรถปิกอัพที่นำไปจำนำกับ แก๊งนายทุนถูกยักยอกไป ไม่สามารถไถ่ถอนคืนมาได้

แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยการ ไถ ของตำรวจ ขอค่าสืบสอบ อีกรวม 5,000 ซึ่งก็ได้กัดฟันยอมจ่ายไป หวังให้จับคนร้ายมาลงโทษพร้อมนำรถกลับคืนมา

เฝ้าติดตามถามไถ่ด้วยอดทนนานกว่า 7 เดือน แต่คดีไม่มีความคืบหน้า? ทั้งที่รู้ดีว่าแก๊งคนร้ายเหล่านี้เป็นใคร  แต่ก็ยังลอยนวล เหมือนกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน สิ้นหนทางประกอบอาชีพดำรงชีวิต  จึงได้ตัดสินใจ ฆ่าตัวตาย ให้พ้นจากโลกนี้ไป เขียนจดหมายฝากไว้ส่งถึงนายกรัฐมนตรี!

หลังเหตุการณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดว่า  ไม่น่าตัดสินใจเช่นนี้ เพราะยังมีวิธีทำให้ได้รับความเป็นธรรมอีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยตำรวจบังคับบัญชา หรือว่า ศูนย์ดำรงธรรม 

                ขอเรียนท่านด้วยความเคารพว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้ยินแล้วฟังแล้วเห็นเป็นเรื่อง ขำๆ 

                เพราะ ปัญหาตำรวจและการสอบสวน นั้น ปัจจุบันไม่ว่าองค์กรใดรับเรื่องร้องเรียนไป แม้แต่ ศูนย์ดำรงธรรม ทั้งอำเภอ จังหวัดและรัฐบาล ล้วนแต่ทำเพียง เป็นไปรษณีย์ ส่งเรื่องนั้นให้หน่วยตำรวจสั่งการกันเป็นทอดๆ ไปจนถึงสถานี สืบสอบรายงานผลมาให้ทราบ 

                ซึ่งคำตอบสุดท้ายที่ได้เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี ล้วนแต่มีบทสรุปว่า “ได้ปฏิบัติไปโดยชอบตามกฎหมายและระเบียบราชการทุกประการ แทบทั้งสิ้น   

อย่างกรณีนายไพวัลย์ ก็ต้องตั้งคำถามว่า เมื่อเขามีปัญหาไปแจ้งความแล้วถูกไถ  ค่าสืบสอบ ซ้ำการสอบสวนยังล่าช้า หรือว่า ไม่ได้มีการสอบสวนตามกฎหมาย เหตุใดเขาจึงไม่สามารถเข้าพบ ผกก.สถานี ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ หรือแม้แต่ ผบ.ตร. ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติได้?

เขาไม่อยากพบหรืออย่างไร?

และขนาดยอมใช้ลมหายใจของตนขอความเป็นธรรมและเป็นหลักฐาน คำกล่าวโทษ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ยังมีตำรวจน้อยใหญ่พูดว่า กำลังตั้งกรรมการสอบสวน โดยจะต้องสอบปากคำญาติพี่น้องว่าได้ยินเรื่องการถูกเรียกร้องเงินจริงหรือไม่?

ถ้าไม่มีใครได้ยินหรือยืนยัน หรือได้คำตอบแล้วกลับมีการ สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน ด้วยการ บันทึกคำให้การเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นหมายถึงว่า คำให้การก่อนตายของนายไพวัลย์ไม่น่าเชื่อถือหรือแม้กระทั่ง เป็นเท็จ กระนั้นหรือ?

                ประเด็นสำคัญเรื่องนี้แท้จริงคือ ตำรวจได้รับคำร้องทุกข์ออกเลขคดีเข้าสารบบทันที และได้มีการสอบสวน ออกหมายเรียก” หรือเสนอศาล “ออกหมายจับ คนร้ายตามกฎหมายแล้วหรือไม่?

                และเหตุใดผู้บังคับบัญชาทุกระดับจึงไม่ควบคุมการดำเนินคดี ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปถึง 7 เดือน  โดยที่ยังไม่ได้สรุปสำนวนเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง

                นายไพวัลย์คงไม่ใช่ผู้เสียหายที่เป็น “เหยื่อการสอบสวน” รายสุดท้าย! ที่ใช้ชีวิตทวงถามความยุติธรรม หากรัฐบาลไม่เร่งปฏิรูประบบงานสอบสวนโดยเร็วที่สุด

                อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวอื้อฉาวถือเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่เวลานี้คือ ปัญหาตำรวจขอตรวจดูใบขับขี่อธิบดีผู้พิพากษา

ตำรวจผู้ปฏิบัติบอกว่า มีอำนาจเต็ม ในการขอตรวจใบขับขี่ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาได้ เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

ตามรายงานของ ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ บอกว่า การขอตรวจไม่ได้เกิดจากเหตุผู้ขับรถนั้นกระทำหรือมีพฤติการณ์ทำผิดกฎหมายอะไร และหลังเกิดเหตุได้นำตำรวจคนนั้นไปขอโทษผู้พิพากษาแล้ว

แต่เมื่อคลิปช่วงหนึ่งได้ถูกเผยแพร่ออกไป ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมกลับถูก ศาลโซเชียล กระหน่ำไม่ยั้ง พากันตั้งคำถามว่า เหตุใดกรณีประชาชนถูกตำรวจขอตรวจค้นหรือตรวจใบขับขี่ ส่วนใหญ่ก็ยินยอมกันแต่โดยดี ผู้พิพากษามีเอกสิทธิ์อะไรในการไม่ยอมให้ตรวจดูเหมือนประชาชนทั่วไป

เรื่องผิดๆ ในสังคมไทย เมื่อปล่อยให้ปฏิบัติกันนานเข้า ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามความคิดของส่วนใหญ่ในที่สุดเหมือนอีกหลายเรื่อง

ปัญหาการตั้งด่านตรวจค้นหรือขอดูใบขับขี่ประชาชนของตำรวจไทยนั้น ปัจจุบันได้กระทำกันอย่างไร้ขอบเขต  และ น่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ตำรวจทุกสถานีได้มีการปิดกั้นถนน ตั้งด่านตรวจค้นประชาชน ขอดูนั่นถามนี่กันสารพัดเช่นนี้!

นอกจากเป็นอันตรายต่อยานพาหนะที่สัญจรแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน อย่างยิ่ง

“การเกษตรเจริญงอกงามไม่ใช่ด้วยดินดี แต่เป็นเพราะประชาชนมีเสรีภาพและความยุติธรรม”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมาตรา 38 วรรคแรก จึงบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง…..”

และวรรคสอง “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน….”

กฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวก็คือ ป.วิ อาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณะ เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นใน เมื่อ มีเหตุอันควรสงสัย  ว่าบุคคลนั้นมีสิ่งในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือมีไว้เป็นความผิด

                “เหตุอันควรสงสัย” ก็ต้องมีข้อเท็จจริงรองรับ ไม่ใช่เป็นไปตามความรู้สึกของเจ้าพนักงานผู้ใด ใครสงสัยก็ไปลองหาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555 มาอ่านดู    

สำหรับถนนหนทางต่างๆ ที่รัฐได้สร้างขึ้นอย่างมากมาย ก็ยังได้มีการบัญญัติกฎหมายที่มีโทษรุนแรง เพื่อคุ้มครองสภาพทางการใช้ และการเดินทางของประชาชนให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ปรากฏใน พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535

ในมาตรา 38 จึงบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วาง สิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวก เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง (อธิบดีกรมทางหลวง) หรือผู้ได้รับมอบหมาย

                และมาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุหรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะหรือบุคคล

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 71 จำคุกถึงสามปี และหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมีคนเจ็บตายรถยนต์และทรัพย์สินเสียหาย ก็ต้องรับผิดทั้งอาญาและแพ่งทั้งหมด

ในการตรวจค้นประชาชนผู้ขับรถบนทางหลวงให้ได้ผลตามเป้าที่ที่นายพลตำรวจระดับต่างๆ สั่งการ ตำรวจผู้ปฏิบัติจึงจำเป็นต้องใช้วิธีปิดกั้นทาง บ้างก็เอาแผงเหล็กหรือกรวยยางมาตั้ง บีบจากสี่ช่องให้เหลือสองหรือหนึ่งช่อง  บ้างก็ ตั้งแบบยุทธวิธี มีการวางกรวยสลับฟันปลาเพื่อให้รถแล่นวกไปวนมาช้าๆ สะดวกในการเรียกให้หยุดรถขอตรวจตรา!

ปัญหาก็คือ เป็นการปฏิบัติที่มีอำนาจทำได้โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่?

นอกจากความไม่สะดวกในการสัญจรของประชาชนและบางคนรู้สึกหงุดหงิดรำคาญแล้ว ข้อเท็จจริงยังได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอๆ โดยที่ผู้สั่งการให้ตั้งด่านเพื่อ “ทำยอดการจับและปรับ” ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น?   

ในการเรียกให้คนขับหยุดรถอ้างขอตรวจค้น ขอตรวจใบขับขี่ หรือขอตรวจฉี่ประชาชน ส่วนใหญ่จะอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถเมื่อ

(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 (สภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ)

(2) เห็นผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้น ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ หรือกฎหมายเกี่ยวกับรถนั้น

ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าว มาตรา 140 บัญญัติว่า  “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืน…. จะว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ …….

ในการออกใบสั่ง เจ้าพนักงานจะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ และต้องรีบนำไปส่งมอบให้พนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ออกใบสั่ง………….”

นั่นหมายความว่า ถ้าไม่พบเหตุฝ่าฝืนกฎหมายจราจรเกี่ยวกับสภาพรถหรือพฤติกรรมการขับรถตาม  (1) และ (2) อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีตำรวจระดับใดมีอำนาจเรียกให้รถหยุดเพื่อขอดูใบขับขี่ หรือถามโน่นถามนี่เป็นการ “ประดับความรู้” หรือแม้กระทั่งอ้างว่า “เพื่อป้องกันอาชญากรรม” แต่อย่างใด!.

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, May 13, 2019

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การตั้งด่านตรวจค้น

 

About The Author