เพราะงานสอบสวนสั่งได้แบบทหาร ประชาชนจึงไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่เรื่อง ความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีแต่จะร้ายแรงสร้างความแตกแยกกันมากขึ้นทุกวัน
ความไม่เชื่อมั่นเช่นนั้น หาได้เกิดจากการที่พวกเขาคิดกันไปเองไม่
แต่เป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะคนยากจน ได้พบเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อตนเองและญาติพี่น้องรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา
คนขับรถบนถนนถูกตำรวจตั้งด่านตรวจค้น ตรวจใบขับขี่ ตรวจฉี่ กันอย่างไม่มีเหตุผลตามกฎหมายทุกวี่ทุกวันจนเอือมระอา!
ใครถูกจับก็จ่ายค่าปรับสดกันที่โต๊ะริมถนนตามที่ผู้บังคับบัญชากำหนดไว้ พนักงานสอบสวนไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้เหมาะสมกับสถานะบุคคลและพฤติการณ์กระทำผิดอะไรได้
บางสถานีเขียนจำนวนเงิน “ไม่กดให้ถึงก๊อบปี้” ก็มี!
แต่เมื่อได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญา คนจนกลับไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ง่ายๆ
พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ทำกันเพียงลงบันทึกประจำเป็นหลักฐานหลอกประชาชนไว้ “ไม่ยอมออกเลขคดี”
เพื่อที่จะได้ไม่มีบุคคลหรือหน่วยงานใดสามารถตรวจสอบได้ว่า การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่!
เพราะถูกผู้บังคับบัญชาผู้มียศนายพันนายพลแบบทหาร สั่งทางพฤตินัย ให้ช่วยกันลดสถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้น จะได้ไม่ถูกเพ่งเล็งว่ารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ไม่ได้ โจรผู้ร้ายชุกชุม
รวมทั้งเป็นช่องทางในการเจรจา “ล้มคดี” ช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ต้องรับโทษอาญา สร้างอิทธิพลหรือรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมายแหล่งอบายมุขสารพัดด้วย
แต่เมื่อคนจนถูกคนรวยหรือคนมีอำนาจเหนือกว่าแจ้งความกล่าวหา ตำรวจผู้บังคับบัญชากลับสั่งให้พนักงานสอบสวนรีบออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหามา พิมพ์มือด้วยหมึกแบบโบราณ หรือ เสนอศาลออกหมายจับทันที กรณีคดีมีโทษเกินสามปีขึ้นไป
ถ้าเป็นคดีมีการเสนอข่าวครึกโครม ก็มักคัดค้านการประกัน โดยไม่มีข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่า “น่าจะหลบหนี” ขอต่อศาลให้ฝากขังส่งเข้าเรือนจำไป
จนทำให้คุกไทยแออัดติดอันดับโลก “แทบแตก” อยู่ปัจจุบัน!
หลายคดีผู้ถูกกล่าวหามีพยานหลักฐานยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด แต่ตำรวจจับแล้วก็ไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น ไม่ยอมสอบสวน ทำให้หลักฐานนั้นปรากฏในสำนวน รีบสรุปเสนอให้อัยการ สั่งฟ้อง ไป
เช่นคดี นายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์ พ่อค้าไก่ทอดจังหวัดนครพนม ที่ถูกกล่าวหาว่าไปชิงเพชรสิบล้านในเขตตำรวจนครบาล ทั้งที่มีหลักฐานว่าวันเกิดเหตุเข้านอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัด และอีกมากมาย
อัยการไทยก็ ถูกกฎหมายปิดตา ให้พิจารณาเฉพาะพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน
ผู้ต้องหามีพยานหลักฐานอะไรในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน อัยการก็ไม่รู้?
มีหลักฐาน พอฟ้อง ก็ “สั่งฟ้องไป” ตามหน้าที่ เป็นวิธีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายสิบปี!
ไม่ต้องมีความมั่นใจว่าผู้ต้องหานั้นกระทำผิดและสามารถพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลกแต่อย่างใด?
เพราะคดีที่ศาลยกฟ้อง ไม่ว่าผู้ต้องหา ผู้เสียหายและญาติพี่น้องจะได้รับความเดือดร้อนกันแสนสาหัสเพียงใด ทั้งตำรวจและพนักงานสอบสวนรวมทั้งอัยการก็ไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอะไร?
เช่นคดีที่ นายศุภชัย คัฬหสุนทร ผู้เสียหายกรณีลูกถูกแทงตาย ที่กระโดดตึกศาลอาญาตายเพราะความคับแค้นใจจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลัง
“………เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย”
เป็นบทประพันธ์ร้อยกรอง หัวใจเมือง วรรคหนึ่งที่คนไทยคุ้นหูและพูดกันติดปากกันทั่วไป
นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้แสดงปาฐกถาในการประชุมสัมมนาผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงเมื่อสามวันก่อนตอนหนึ่งว่า ถ้าสังคมไทยมีปัญหาผู้คนไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแล้ว ต่อไปจะอยู่กันอย่างไร?
แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้ชี้ทางออกสำหรับคำถามนั้นแต่อย่างใด?
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” ควรมีคำตอบว่า
กว่าห้าปีนับแต่วันมีอำนาจจนถึงวันนี้ ท่านได้ดำเนินการแก้ปัญหาหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้แถลงและแสดงทัศนะไว้หลายวาระหลายแห่ง รวมทั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะทำให้ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด?
ขอเรียนว่า ปัญหาสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอาญาของไทย เกิดจากการจัดโครงสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของประเทศล้าหลังอย่างยิ่ง
งานสอบสวนความผิดตามกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.ที่มีโทษอาญานับพันฉบับ ถูกผูกขาดอำนาจไว้ที่ตำรวจแห่งชาติเพียงหน่วยเดียวแทบทั้งหมด
ซ้ำยังไร้การตรวจสอบจากภายนอกเมื่อเกิดการกระทำผิดหรือระหว่างสอบสวนอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นโดยพนักงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี
นอกจากนั้น การจัดโครงสร้างองค์กรสอบสวนให้รวมอยู่กับตำรวจซึ่งมีระบบบังคับบัญชา วินัย และหลักการคิดในการทำงานแบบทหาร ผู้ถูกฝึกมาเพื่อการรบการข้าศึกศัตรูเป็นหมู่ หมวด กองร้อย กองพัน และกองพล
เป็นการจัดองค์กรสอบสวนที่ไม่สอดคล้องกับหลักกระบวนการยุติธรรมสากลและประเทศที่เจริญทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง
โจทย์สำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของชาติก็คือ ระบบงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ต้องมีมาตรฐานในฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมระบบพลเรือนเช่นเดียวกับอัยการและประเทศทั่วโลก
ยศ วินัยแบบทหาร และระบบการบังคับบัญชาตามชั้นยศ นำมาใช้กับผู้ปฏิบัติงานสอบสวนในฐานะเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมไม่ได้
การสอบปากคำบุคคลต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์และครบถ้วนตรงกับความเป็นจริง โดย “กำหนดให้ทำในห้องที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติ” เป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลตรวจสอบได้
ปัญหาตำรวจผู้ใหญ่ไปตรวจโรงพักเรียกผู้ต้องหามานั่งคุยด้วย ถามโน่นนี่ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบหรือมีหลักฐานบันทึกปากคำอะไร หรือแม้กระทั่งสั่งให้นำตัวไป “ทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ” ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับอัยการผู้ฟ้องคดีและเป็นวิธีประจานผู้ต้องหารูปแบบหนึ่ง
ต้องห้ามมิให้กระทำกันต่อไป
“การสั่งงานสอบสวน” ต้องกระทำโดย “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย” ตามหลักฐานบันทึกสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ในส่วนที่ว่าด้วยการสอบสวน ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ รวมทั้งนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานร่างเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปเมื่อปลายปี 2561
เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศในระดับหนึ่ง
ซึ่งไม่มีใครทราบว่า เหตุใดจนกระทั่งป่านนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงไม่ยอมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อให้เกิดการปฏิรูปโดยเร็ว.
ที่มา: ไทยโพสต์ Monday, April 29, 2019