ปัญหาความตายบนถนนของประชาชน จะแก้ด้วยหลักนิติธรรม หรือ’นิติธง’ – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ช่วงสงกรานต์ปีนี้ 7 วัน มีอุบัติเหตุจากการจราจรตามถนนหนทางต่างๆ ทั่วประเทศที่ทำให้ผู้คนล้มตายไปมากมายถึง 386 คน เป็น ตัวเลข ที่ลดลงจากปีที่แล้ว 36 คน

แต่ได้ยินสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งรายงานว่า ปีนี้ผู้รับผิดชอบได้มีการเปลี่ยนวิธีนับจำนวนผู้เสียชีวิตกันใหม่?

ถ้าไปใครไปตายที่โรงพยาบาล ถือว่าไม่ได้ตายบนถนน!

                รวมทั้งถ้าเกิดเหตุแล้วไปรักษาตัวนอนตายที่โรงพยาบาลหลัง 7 วันอันตราย ก็ไม่นับเป็นสถิติความตายนำมารวมเป็นตัวเลข        

                ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะถือว่ารัฐบาลบริหารราชการแบบ ศรีธนญชัย ฉ้อฉลและหลอกลวงประชาชนรวมทั้งองค์การอนามัยโลกและชาวโลกอย่างไร้ยางอายอีกเรื่องหนึ่ง

อันตรายบนถนนของไทยไม่ได้มีเฉพาะในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ ที่ทำให้ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ตายกันเป็นเบือ เท่านั้น

เพราะแท้จริง มีอันตรายทุกวัน จนทำให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีถนนอันตรายที่สุดในโลก หรือติดหนึ่งในสามต่อเนื่องกันมาหลายปี!

ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมีที่มาจากการเลือกตั้งหรือแม้กระทั่ง การปฏิวัติ พยายามแก้ไขด้วยวิธีการกวดขันต่างๆ สารพัด

โดยเฉพาะเรื่องเมาแล้วขับหรือจับคนขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัยในช่วงเทศกาล

แต่ก็ไร้ผล อย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืนแท้จริง?

เนื่องจากไม่มีใครพูดถึงรากเหง้าของปัญหาว่า เป็นผลมาจากการจัดโครงสร้างองค์กรราชการที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาและรักษากฎหมายทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคที่   ขาดเอกภาพในความรับผิดชอบและการบังคับบัญชา

ระดับชาติได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ควบคุมและสั่งการ

คำถามก็คือว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจรวมทั้งกลไกและเครื่องมืออะไร ในการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับยานพาหนะและการสัญจรบนถนนของประชาชน?

ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ร.บ.ขนส่ง พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.ทางหลวง

หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ นอกจากกระทรวงและกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับโดยตรง เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทั้งหญิงชายในแต่ละจังหวัดเพียง ไม่กี่สิบคน  และไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีอะไรกับใครได้ 

เพราะบุคลากร สิ่งอุปกรณ์และอำนาจทั้งหมด  ถูกรวมศูนย์ไว้ที่ตำรวจแต่เพียงหน่วยเดียวถึงระดับอำเภอหรือตำบลใหญ่ แต่ละแห่งมีตำรวจนับร้อยไปจนถึงหลายร้อยคน ขึ้นตรงต่อหน่วยตำรวจจากระดับจังหวัดไปจนถึงส่วนกลางทั้งสิ้น

สถานีตำรวจมีอำนาจจับกุมทั้งผู้กระทำผิดซึ่งหน้า  รวมทั้งสามารถสอบสวนดำเนินคดีอาญาแจ้งข้อหาย้อนหลังกับประชาชนทุกคน

                ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไปทำอะไรได้ เพราะปัจจุบันไม่ได้มีอำนาจสั่งการควบคุม หรือให้คุณให้โทษตำรวจคนใดเพื่อให้ปฏิบัติราชการตามนโยบายและแนวความคิดในการแก้ปัญหารวมไปถึงตรวจสอบประเมินผลการรักษากฎหมายอย่างจริงจังแต่อย่างใด?

ในส่วนภูมิภาคยิ่งแล้วใหญ่ รัฐมนตรีมหาดไทยสั่งการอะไรในเรื่องเหล่านี้ไปที่จังหวัดแล้ว ผู้ว่าฯ ก็ไม่สามารถสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดปฏิบัติหรือดำเนินการอะไรรวมทั้งตรวจสอบประเมินผล หรือ แม้แต่จะเรียกให้มาร่วมประชุม ได้                 

ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดจึงใช้เพียงวิธี บอกตำรวจระดับรองผู้บังคับการหรือแม้กระทั่งผู้กำกับอำนวยการที่เป็นตัวแทนมาประชุมให้ไปบอกต่อและขอความร่วมมือให้ดำเนินการ เท่านั้น

ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการรักษากฎหมายและ ความไม่เป็นธรรมจากการสอบสวนคดีอาญา ในจังหวัด ผู้ว่าราชการประเทศไทยจึงไม่สามารถแก้ไขอะไรให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงเลย

นอกจากนั้น ก็ยังมีปัญหาเรื่องการวิเคราะห์สาเหตุไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน อย่างเรื่อง “เมาแล้วขับ” ที่สรุปกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งนั้น

ถ้าพิจารณากันแต่เฉพาะ ปรากฏการณ์ ก็อาจถือว่าใช่ เพราะคนไทยชอบดื่มเหล้าเพื่อการสังสรรค์ไม่ว่าจะเป็นในยามปกติหรือช่วงเทศกาลต่างๆ ติดอันดับโลกเช่นกัน

แต่แท้จริง ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย

เพราะในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาล ก็ยังมีคนเมาขับรถและเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในตอนกลางคืนหลัง 01.00 น. เป็นต้นไป

                พวกเขาส่วนใหญ่ไปดื่มเหล้ากันที่ไหนจนเมามายหลัง 01.00 น. ซึ่งเป็นเวลาห้ามตามกฎหมาย ถ้าไม่ใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการผิดกฎหมายหรือเปิดเกินเวลาสารพัดที่มีอยู่นับหมื่นแห่งในประเทศไทย

ในปีนี้ ได้มีคน อุตริ เสนอความคิดว่า ปัญหาประชาชนดื่มเหล้าเมาแล้วขับ ถ้าเกิดเหตุชนคนตายให้แจ้งข้อหา ฆ่าผู้อื่น ซึ่งมีโทษสูงถึงประหารชีวิต แทนข้อหา “กระทำประมาท” เช่นที่ปฏิบัติกันมา

ทีแรกนึกว่าเป็นการพูดเล่น แต่สุดท้ายกลับเป็นจริง  โดยพนักงานสอบสวน สน.ศาลาแดงผู้รับผิดชอบ ได้ถูก พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ สั่งให้แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นกับคนขับรถด้วยความมึนเมาจนเกิดอุบัติเหตุทำให้รอง ผกก.ตำรวจคนหนึ่งถึงแก่ความตาย

ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ตำรวจนำตัวไปยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังในเรือนจำ

ดีที่ศาลเห็นว่าเป็นการแจ้งข้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้สั่งให้ตำรวจกลับไปแจ้งข้อหาใหม่ให้ถูกต้อง คือ กระทำโดยประมาท

มีการถกเถียงกันในหมู่ ผู้ไม่รู้กฎหมาย มากมายว่า  น่าจะแจ้งข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” มานานแล้ว   พวกชอบดื่มเหล้าเมาแล้วขับรถจะได้เข็ดขยาด

แต่ปัญหาก็คือ เป็นการแจ้งข้อหาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามหลัก นิติธรรม หรือไม่?

ถ้าตีความว่า การดื่มเหล้าในปริมาณเกินกฎหมายกำหนด คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้วไปขับรถ ไม่ว่าจะเพื่อกลับบ้านหรือไปทำธุระต่างๆ เป็นพฤติกรรมที่เจ้าตัว  “ย่อมเล็งเห็นผล” ว่า อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ถึงแก่ความตาย ถือว่าได้กระทำผิดอาญาข้อหา “เจตนาฆ่าผู้อื่น”    ควรถูกลงโทษจำคุกยี่สิบปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต!

ซึ่งกรณีนี้ แม้ศาลจะแจ้งให้ตำรวจกลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง

แต่ตำรวจผู้ใหญ่บางคนก็ยังยืนยันว่าจะต้องแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่น ดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดี เพื่อให้ศาลไทยได้มี ทางเลือกในการลงโทษ! ผู้ต้องหาที่เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุมีคนบาดเจ็บหรือตายเพิ่มขึ้น!

ถ้าอัยการเกิด บ้าจี้ สั่งฟ้องคดีนี้ไปตามที่ตำรวจเสนอ  เพราะไม่ต้องการให้ตำรวจทำความเห็นแย้งส่งอัยการสูงสุดวินิจฉัยก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานกับกับตนเองเหมือนหลายคดีที่มีวิธีคิดเช่นนี้

จะทำให้สังคมไทยเกิดบรรทัดฐานใหม่!

การขับรถเร็วหรือฝ่าฝืนสัญญาณรวมทั้งกฎหมายจราจรต่างๆ แล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้คนบาดเจ็บหรือตาย ต่อไปก็ถือว่าคนขับรถเช่นนั้น ย่อมเล็งเห็นผล  ต้องดำเนินคดีอาญาข้อหา พยายามฆ่า หรือ ฆ่าคนตาย ด้วยกันทั้งสิ้น    

หรือแม้กระทั่งตำรวจผู้ใหญ่ที่ รับส่วยจากผู้ประกอบการรถบรรทุก ปล่อยให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดจนถนนเสียหายเกิดอันตราย หรือบรรทุกสูงหรือเศษวัสดุตกหล่นบนถนน ทำให้รถของประชาชนเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บล้มตายมากมายในแต่ละปี

ก็อาจถือได้ว่าเป็น เจตนาฆ่าคนตายแบบเล็งเห็นผล ด้วยเช่นกันหรือไม่?.             

 

 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ Tuesday, April 24, 2019

About The Author