ผู้บริสุทธิ์เกือบถูกประหาร เพราะการสอบสวนวิปริต จะปฏิรูปอย่างไร?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

    ผู้บริสุทธิ์เกือบถูกประหาร  เพราะการสอบสวนวิปริต จะปฏิรูปอย่างไร?

                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ระหว่างนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน

เพราะต้องรอให้ กกต.ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นภายในวันที่ 4 พ.ค.62   อีกเดือนเศษ

นับเป็นเรื่องประหลาดที่แค่การนับและประกาศผลคะแนนเลือกตั้งประเทศไทยหลังจากให้ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระรับผิดชอบแทนกระทรวงมหาดไทย ที่ใช้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิม กว่าสิบเท่า ครั้งละ 5,800 ล้าน

ต้องรอกันนานนับเดือน!     ต่างไปจากยุคอนาล็อกก่อนนั้นที่ประกาศผลกันได้ในเวลาเพียงสองสามวันหลังเลือกตั้ง

ยิ่งประชาชนรอกันนานเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความไม่น่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น เพราะหลายคนคิดกันว่า จะทำให้เกิดการบวกลบคะแนนแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ได้?

กลับมาปัญหาสำคัญเรื่อง ตำรวจและการสอบสวน  ที่ยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิม ทั้งตำรวจผู้น้อยเองโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า ชั้นประทวน รวมทั้งพนักงานสอบสวนและประชาชนได้รับผลกระทบกันอย่างรุนแรงแสนสาหัส!

รอแต่ว่าพรรคใดจะเข้ามาปฏิรูปอย่างจริงจังเสียที

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายอำเภอพุทธมณฑล ได้นำ อส.และชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองรวมทั้งทหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมไปจับ สถานบันเทิงเถื่อน ที่ตั้งอยู่ข้างมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พบชายหนุ่มเด็กสาวดื่มกินและเต้นรำกันอย่างเมามันเกือบสามร้อยคน!

ปัจจุบันการจับกุมแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ระหว่างหัวหน้าสถานีตำรวจ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจตราป้องกันอาชญากรรม  กับกระทรวงมหาดไทยโดยนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด?

ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากดังกล่าว สะท้อนว่า ตำรวจผู้ใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2558 ข้อ 7 ที่คาดโทษผู้รับผิดชอบในการปล่อยปละละเลยให้มีแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายในพื้นที่แต่อย่างใด?                         เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็ยังเป็นไปแบบรวมศูนย์  และไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นธรรมสำหรับตำรวจส่วนใหญ่ คนที่ไม่มีเส้นสายถูกคนที่มีอาวุโสน้อยกว่าข้ามหัวไปคนแล้วคนเล่า เสียขวัญและกำลังใจอย่างร้ายแรง!

ส่วนคนที่อยู่เครือข่ายอุปถัมภ์หรือ มีทุนหนา ต่างเจริญก้าวหน้าได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าสถานีหัวหน้าพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ของประเทศกันอย่างรวดเร็ว

ทั้งที่หลายคน ไม่มีคุณวุฒิทางกฎหมายและไม่มีความรู้ความชำนาญในงานสอบสวนที่เป็นปัจจุบัน กันแต่อย่างใด?

ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน รวมทั้ง  พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอไป และ ขณะนี้อยู่ในความรับผิดชอบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนป่านนี้ ก็ไม่มีใครชี้แจงว่า จะตราเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้เมื่อใด

ขอฝาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มาแรงแซงทุกพรรคด้วยนโยบายปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะกองทัพ หากได้มีโอกาสร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้นำนโยบายการปฏิรูปตำรวจตามที่ผู้บริหารพรรคเคยบอกกับประชาชนไว้ในเรื่องการกระจายอำนาจเป็นตำรวจจังหวัดเป็นเงื่อนไขในการรวมกับอีกหลายพรรคด้วย

มีคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นควรพูดถึงเรื่องหนึ่งคือ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 ศาลจังหวัดตรัง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7137/2561 “ยกฟ้อง” นายประถมพงษ์ หมื่นบาล หรือ แต๋ม ชายอายุ 38 ปี กรณีตกเป็นผู้ต้องหาฆ่า ด.ญ.เกตุมาตุ รำนา อายุ 11 ปี นำศพไปหมกไว้ในท่อระบายน้ำริมถนนสายวัดพระงาม-บ้านควน อำเภอเมืองตรัง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2557

หลังเกิดเหตุ 23 วัน (4 มิ.ย.) นายประถมพงษ์ได้ถูกตำรวจยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับโดยรายงานว่า    ได้ตรวจพบหลักฐาน DNA ที่กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน ที่เชื่อว่าเป็นของคนร้าย ในที่เกิดเหตุ ซึ่ง มีลักษณะใกล้เคียง! กับ DNA ของนายประถมพงษ์

หลังถูกจับตามหมาย นายประถมพงษ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการฆ่าน้องเพลงแม้แต่น้อย

รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจค้นหาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งที่บ้านซึ่งสงสัยว่าเป็นสถานที่ฆ่า และในรถที่เชื่อว่าใช้เป็นพาหนะนำศพไปทิ้งในท่อระบายน้ำห่างบ้าน 3 กม.

แต่ไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนใดๆ ทั้งในบ้านและในรถ?

การสอบสวนไม่มีพยานบุคคลหรือหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่านายประถมพงษ์เป็นผู้ฆ่าน้องเพลง นอกจากรายงานของตำรวจต่อศาลเรื่อง DNA ที่กางเกงขาสั้นซึ่งสงสัยว่าเป็นของคนร้ายในที่เกิดเหตุ มีลักษณะใกล้เคียง กับ DNA นายประถมพงษ์

สุดท้ายตำรวจสรุปการสอบสวนรายงานอัยการว่าหลักฐานการสอบสวนแน่นหนา พอฟ้อง เสนอให้ สั่งฟ้อง

ซึ่งอัยการก็ได้ฟ้องคดีไปตามที่ตำรวจเสนอ

และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาล สืบพยานกันไปมา  สุดท้ายเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ฆ่าน้องเพลงจริงตามฟ้อง จึงได้มีคำพิพากษาในวันที่ 16 ธ.ค.2558 ให้ ประหารชีวิต!  และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 840,000  บาท

นายประถมพงษ์ได้ยื่นอุทธรณ์ว่า ตนไม่ได้กระทำผิดตามคำพิพากษา ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนว่ากระทำผิด เพียงลดโทษเป็น จำคุกตลอดชีวิต

แต่นายประถมพงษ์ถือว่าตนไม่ได้กระทำผิด จึงได้ยื่นฎีกา

เมื่อศาลฎีกาได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีหลักฐานทั้งพยานบุคคลหรือนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงได้มีคำพิพากษา  ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 

นายประถมพงษ์ได้กล่าวว่า ตนถูกจำคุกอยู่ถึง 4 ปี  ระหว่างติดคุกรู้สึกเหมือนจะบ้า เคยคิดจะทำร้ายตัวเอง   ครอบครัวประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต เป็นหนี้เป็นสินมากมาย เพราะต้องหาเงินต่อสู้คดี ลูก 2 คนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ถูกสังคมประณามตราหน้าว่าเป็นคนชั่วคนเลว ทุกคนในครอบครัวโดนหมด

ตนได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดระหว่างการสอบสวน แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้

กระบวนการยุติธรรมที่วิปริตสร้างความเสียหายต่อ ผู้บริสุทธิ์ และปล่อยให้ อาชญากรตัวจริง ลอยนวลอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้

            หัวใจการปฏิรูปก็คือ

            1.งานนิติวิทยาศาสตร์ต้องมีความเป็นอิสระ  ประชาชนสามารถเชื่อถือได้ด้วยความมั่นใจ 

            2.ในการตรวจและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกิดเหตุคดีสำคัญ ต้องไม่ปล่อยให้อยู่ในการรับรู้ของฝ่ายตำรวจฝ่ายเดียว อัยการและพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองต้องเข้าไปรู้เห็นเก็บเป็นหลักฐานไว้อีกส่วนหนึ่งด้วย  

            3.การออกหมายเรียกประชาชนเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตามหลักกระบวนการยุติธรรมสากล โดยอัยการต้องมั่นใจว่า เมื่อเห็นชอบให้แจ้งข้อหาหรือจับตัวบุคคลใดมาแล้ว จะสามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนเท่านั้น.

ขอบคุณภาพจาก  MGR ภาคใต้ online

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, April 01, 2019

 

About The Author