กสม.เชิดชูเกียรติสตรีนักปกป้องสิทธิวันสตรีสากล แฉใช้กฎหมายฟ้องร้องหวังปิดปาก ไม่หวั่นเดินหน้าต่อ

กสม.เชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ‘อังคณา’ ชี้ รูปแบบคุกคามเปลี่ยนไปจากเดิมใช้กฎหมาย-ฟ้องร้อง หวังปิดปาก เผย รอบปีที่ผ่านรับร้องเรียน 15 เรื่อง นักปกป้องสิทธิชุมชนในภาคอีสานเจอคุกคามมากที่สุดจี้รัฐดูแลหามาตรการป้องกัน ขณะที่ เวทีอภิปรายเมินอุปสรรค-ถูกข่มขู่-ใช้คดีความเล่นงา เดินหน้าปกป้องสิทธิต่อ’พะเยาว์’เสนอปฏิรูปกองทัพ

 

อังคณา นีละไพจิตร

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562   ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2562  พร้อมประกาศเกียรติยศผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิงรักษ์น้ำอูน เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผู้หญิง นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 โดยมีMs.Katia Chirizzi รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกล่าวแสดงความยินดี  เพื่อเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนสังคมไทย

 

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 8 มีนาคมนี้ เป็นวันสตรีสากล ซึ่งตนในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง สิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศสภาพ เห็นว่าสมควรที่จะมีการยกย่อง หรือให้เกียรติผู้หญิงที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบต่างๆทั้งการทำร้าย การฆ่า หรือการบังคับสูญหาย แต่ปัจจุบันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น การคุกคามทางกระบวนการยุติธรรม (Judicial Harassment) การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุติการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามทางเพศ การคุกคามด้วยวาจา เพื่อให้หวาดกลัว โดยในรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวประมาณ 15 กรณี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องเรียนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ด้านสิทธิชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด

 

“ปัจจุบันมีผู้หญิงออกมาทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่าผู้ชาย และด้วยวิถีชีวิตความเป็นหญิงทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องแบกรับภาระหลายอย่างมากขึ้น นอกจากนั้นการถูกคุกคามยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกหวาดกลัวและไม่มีความมั่นคงในชีวิต การประกาศเกียรติยกย่องผู้หญิงที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนที่ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ เสียสละ และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าการทำงานของผู้หญิงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นต่อๆไป ดิฉันขอขอบคุณผู้หญิงทุกคนที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในวันนี้ ดิฉันเชื่อว่าการต่อสู้ของพวกเธอจะเป็นแบบอย่างซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” นางอังคณา ระบุ

 

นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้มีการปรับปรุงระเบียบกองทุนยุติธรรมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม รวมถึงการคุ้มครองพยาน การให้มีกฎหมาย หรือ ให้ศาลมีอำนาจที่จะยุติการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเพื่อปิดปาก หรือ ฟ้องเพื่อไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ รวมถึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญและมีมาตรการในการคุ้มครองผู้หญิงที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น

 

“การคุกคามทางเพศเป็นการคุกคามอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ รัฐจึงควรให้ความสำคัญ และป้องกันไม่ให้มีการคุกคามในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น” นางอังคณา กล่าว

 

ทั้งนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมจากองค์กรองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนลได้ระบุว่านับตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนถูกฟ้องร้องจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 225 ราย

 

ตัวแทนยูเอ็นลั่นพร้อมยืนเคียงค้างนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคาม

ด้านน.ส.คาเทีย เชอริซซี่ รองผู้แทนภูมิภาคสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมาร่วมแสดงความยินดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนในวันนี้เป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้อุทิศชีวิตและพยายามที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการทำงานอย่างสร้างสรรค์กับ หน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ, กลไกทางสิทธิมนุษยชนระดับชาติต่างๆ รวมทั้งกับภาคธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ได้รับรางวัลในวันนี้หลายท่านเป็นนักปกป้องสิทธิที่มาจากชุมชนและเป็นบุคคลที่ได้ทำงานกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากลต่างๆ

 

“ ทั้งนี้ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สำนักงานประจำภูมิภาคของเราได้สังเกตเห็นแนวโน้มสถานการณ์การการใช้กระบวนการยุติธรรมในการทำร้ายหรือคุกคามมาข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ที่กระทำโดยทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ การใช้การดำเนินคดีทางอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อต้านนักปกป้องสิทธิเหล่านี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิอย่างน้อย 87 คนที่โดนการใช้กระบวนการยุติธรรมในการทำร้ายหรือคุกคาม โดยส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับงานของพวกเธอเรื่องสิทธิที่ดินและสิ่งแวดล้อม เสรีภาพในการแสดงออกและรวมกลุ่ม ดิฉันอยากจะเน้นย้ำว่าสำนักงานของเราพร้อมที่จะสนับสนุนนักปกป้องสิทธิที่เป็นผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยในทุกวิถีทางที่เราสามารถทำได้”รองผู้แทนภูมิภาคสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

 

นักวิชาการระบุมาตราใหม่สามารถใช้ปกป้องตนเองจากการถูกฟ้องกลั่นแกล้งได้

ด้านดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในงานครั้งนี้ภายใต้ “หัวข้อมาตรการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยระบุว่า  ขอชื่นชมที่ปัจจุบันนี้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในส่วนของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันนี้ เรามีกฎหมายใหม่โดยเฉพาะกฎหมายอาญา มาตรา165 /2 ที่เพิ่มเข้ามา โดยเพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในอดีตคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับการการฟ้องหมิ่นประมาทผ่านทางข้อความต่างๆ จากเดิมศาลจะฟังพยานฝ่ายโจทก์อย่างเดียวบุคคลที่เป็นนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนไม่มีสิทธิไปต่อสู้ในชั้นนี้ได้ แต่ในกฎหมายใหม่นี้ ฝ่ายโจทย์ ไม่สามารถยื่นพยานหลักฐานได้ฝ่ายเดียวอีกต่อไป เราสามารถต่อสู้ในชั้นมูลฟ้องได้เลย

 

โดยเราสามารถไปต่อสู้ว่า เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองแต่เราทำเพื่อประโยชน์ช์สาธารณะให้ดีขึ้น นี่คือข้อดีของกฎหมายใหม่ที่ว่านี้ ซึ่งตรงนี้หวังว่า ศาลจะเห็นด้วย ว่าเราทำเพื่อส่วนรวมและเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วจะทำการยกฟ้องนักสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท  ขณะเดียวกันในชั้นสอบสวน อยากให้นักสิทธิมนุษยชนทั้งชายและหญิง ได้ใช้สิทธิในการกล่าวอ้างว่า ที่ทำไปก็เพื่อสังคม ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เมื่อตำรวจส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการ เมื่ออัยการพิจารณาก็อาจไม่ดำเนินการส่งฟ้องได้ ตรงนี้โจทย์ที่ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ และนายทุนต่อไปนี้จะไม่สามารถใช้ช่องว่างของกฎมาย เกี่ยวกับการฟ้องหมิ่นประมาทปิดปากเราอีกได้อีกต่อไป

เชิดชูเกียรติ

รุมจวกรัฐและเอกชนข่มขู่คุกคามทั้งติดตามและใช้กก.ฟ้องปิดปาก

ขณะที่เวทีอภิปรายเรื่อง “ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิแรงงานและแรงงานข้ามชาติ  ซึ่งเป็นบุคคลที่ผลักดันให้วันที่ 8 มีนาคมหรือวันสตรีสากลเป็นวันหยุดของโรงงานในทุกปี กล่าวว่า การต่อสู้ของตนเริ่มจากเป็นคนงานในโรงงาน และร่วมชุมนุมกับสหภาพแรงงานของโรงงาน โดยขณะนั้นได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดการได้มาเรื่องสวัสดิการของลูกจ้างในโรงงานล้วนแล้วแต่ต้องเรียกร้องทั้งหมด ไม่ว่าเป็นห้องน้ำ หรือ น้ำดื่มที่สะอาด

 

“ทุกอย่างทำไมต้องไปสู้เอา บางอย่างเป็นเรื่องข้อกฎหมาย แต่บางอย่างเป็นสิทธิของความเป็นคน การเรียกร้องสิทธิหลายครั้งก็นำไปสู่การถูกดำเนินคดี ทั้ง ถูกนายจ้างฟ้องเลิกจ้าง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีทัศนคติไม่ดี หรือแม้แต่เมื่อมาทำงานเป็นเอ็นจีโอแล้ว ก็ถูกนายจ้างของบริษัทแจ้งความข้อหาบุกรุก เพราะเราไปให้คำปรึกษากับแรงงานในพื้นที่เขา”

 

น.ส.สุธาสินี กล่าวอีกว่า หลังจากมาช่วยแรงงานข้ามชาติ ในปี 2559 ก็ถูกแจ้งความจากนายจ้างโรงงานสัตว์ปีกแห่งหนึ่ง ในข้อหาผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะโพสเฟสบุ๊คเรื่องการที่โรงงานให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลา และได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

 

“เราได้รับการร้องเรียนจากคนงาน  ที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเลย ชั่วโมงการทำงานยาว ไม่ได้รับตอบแทนตามแรงขั้นต่ำ ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีสิทธิตามกฎหมายเลย และพอไปไกล่เกลี่ยก็ไม่มีข้อยุติ เมื่อถูกแจ้งความ เราก็คุยกับคู่ค้าให้คู่ค้าของฟาร์มพูดคุยกับฟาร์มให้ เขาเลยยอมถอนแจ้งความ แต่ต่อมาเขาก็ไปแจ้งความข้อหาลักทรัพย์ในยามกลางคืน  โดยขโมยบัตรตอกเวลา เขาพยายามแกล้งเรา ส่วนข้อเสนอต่อรัฐนั้น ขอให้อย่าเลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ เพราะเขาควรมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย เพราะกฎหมายเองก็ไม่ได้แยกการบังคับใช้ ตนอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลใหม่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะมีการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการรังแกคนจนรวมทั้งให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชน” น.ส.สุธาสินีกล่าว

 

ขณะที่ นางสมัย มังทะ เครือข่ายผู้หญิงกลุ่มรักษ์น้ำอูน กล่าวว่า รางวัลที่ได้ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ รางวัลนี้เป็นกำลังใจในการต่อสู้ของกลุ่มฯ  เหมือนกลุ่มไม่เดียวดาย เพราะมีคนให้กำลังใจเราอยู่ เป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อไป  ทั้งนี้ในการต่อสู้ที่ผ่านมา สิ่งที่ยากลำบากที่สุด คือ ความกดดันด้านจิตใจ เพราะคนในพื้นที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนชาวบ้าน กับผู้นำชุมชนที่สนับสนุนการตั้งโรงงาน ซึ่งประกาศว่ากลุ่มเราเป็นตัวถ่วงความเจริญ

 

“ตอนรณรงค์ใหม่ๆ หลังจากที่ประกาศตัวคัดค้านโครงการ เดินไปทุกบ้านทั้งในหมู่บ้าน และ หมู่บ้านใกล้เคียง ไม่ได้รับการต้อนรับ ไม่มีคนสนใจ มองเราเป็นตัวถ่วงความเจริญ มองเป็นคนเลว ทั้งที่เป็นเพื่อนกันมา 10-20 ปี  มีประกาศเสียงตามสายบอกว่าอย่าฟัง รู้สึกสุดๆมาก แต่เรายืนยันแม้จะคิดต่าง แต่ก็เป็นพี่น้อง เป็นญาติกัน ตอนตายเราก็ต้องเผาผีอยู่ดี พอโรงงานได้ตั้ง เขาบอกว่าเราแพ้ แต่เราคิดว่าการต่อสู้อีกยาวไกล ไม่มีทางที่เราจะแพ้” นางสมัยกล่าว

 

นางสมัย กล่าวว่า อยากให้พี่น้องในชุมชนให้รักบ้านเรา รักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้ลูกหลานเราจะได้อยู่สบาย อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำ ถ้าเรารักษาแล้วมันจะส่งผลดีต่อภาพรวม ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา ไม่นานพอเราตายไป ลูกหลานเราได้รับผลกระทบทุกด้าน

 

ด้านนางรัศมี ทอศิริชูชัย เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่สังคมเห็นความพยายามและเห็นประโยชน์ในสิ่งที่เครือข่ายทำ โดยช่วงแรกความพยายามผลักดันเป็นไปอย่างลำบาก เพราะทัศนคติของกลุ่มชาติพันธ์ม้ง ไม่ฟังเสียงของผู้หญิง การแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงไม่มีคุณค่า หรือน้ำหนัก ซึ่งทัศนคติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชายเท่านั้น แม้แต่ผู้หญิงม้งเองก็ยึดถือกับประเพณีความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งเครือข่ายยึดหลักสันติวิธีมาโดยตลอด แม้จะต้องเจอกับแรงเสียดทานมากมาย

 

“เราเริ่มจากผู้ชาย เพราะในสังคมม้งผู้ชายเป็นใหญ่ ถ้าผู้ชายเห็นด้วยกับเราผู้หญิงก็ไม่มีปัญหา ซึ่งจากการพูดคุยผู้ชาย ที่เป็นพ่อของผู้หญิงม้งที่มีปัญหาการหย่าร้าง แต่ไม่สามารถกลับเข้ามาในตระกูลแซ่เดิมของตัวเองได้ หรือบางแซ่ที่มีความเคร่งครัดมากกับแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ตั้งท้องโดยไม่ได้แต่งงาน ผู้หญิงคนนั้นจะไม่สามารถเข้าบ้านพ่อ-แม่ได้ตลอดชีวิต จนกว่าจะแต่งงานมีสามีใหม่  ก็บอกว่าพวกเรารู้ว่าลูกของเขาทุกข์ แต่พวกเขาก็ทุกข์ยิ่งกว่าที่เห็นลูกทุกข์ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ”

 

นางรัศมี กล่าวว่า ใน 2 ปีแรกในการเริ่มโครงการสามารถทำให้ผู้หญิงม้งกลับสู่ตระกูลแซ่ได้กว่า 40 คน ซึ่งในขณะนี้ได้จำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯหวังว่าในวันหนึ่งเรื่องนี้จะถูกผลักดันเป็นกฎหมาย ให้ชนเผ่าม้ง ทั้ง18 ตระกูลแซ่ในประเทศ ยอมรับลูกสาวกลับเข้าบ้าน แม้ว่าพวกเธอจะมีปัญหาการหย่าร้าง หรือต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ตามเพื่อความเสมอภาคกันในสังคมชาวม้ง ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เราทำมีความหลากหลายทางชาติพันธ์จึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงวัฒนธรรมออกเป็นระเบียบให้ท้องถิ่นบรรจุโครงการรับลูกสาวกลับบ้านให้ใช้ในท้องถิ่นเพื่อนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

 

แม่น้องเกด เสนอปฏิรูปกองทัพ

นางพะเยาว์ อัคฮาด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรม กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นแม่และต่อสู้มานานถึง เก้า ปี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบมากมายขนาดไหน แต่ตนยืนหยัดที่จะสู้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาวที่เสียชีวิต รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิตประชาชน โดยการต่อสู้ที่ผ่านมา ผ่านความยากลำบาก จนถึงขั้นถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2553 ซึ่งในวันที่ 16-17  พ.ค.นี้ก็ต้องขึ้นศาล สืบพยานในคดีพ.ร.บ.ชุมนมสาธารณะ และรอศาลตัดสิน

พะเยาว์ อัคฮาด

นางพะเยาว์ กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าการที่ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาว และประชาชนที่เสียชีวิต จะส่งผลย้อนกลับมาที่ตนเอง จนรู้สึกถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น จากการถูกกลั่นแกล้งจากคนที่สั่งฆ่าและคนที่ฆ่าในปี 2553 ที่มีการตั้ง ศอฉ.ขึ้น  และเวลานี้ได้ม้วนตัวกลับมาเป็น คสช.ที่ยึดอำนาจ ทำให้กระบวนการยุติธรรมที่ต่อสู้มายากขึ้นอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับไประบุกับสื่อต่างชาติว่าจะยกระดับสิทธิมนุษยชน แต่ผลสุดท้ายไม่มีจริง รัฐบาลโกหกต่อสังคมโลก เพราะวันนี้คนไทยไม่มีสิทธิในชีวิต ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งคดีของลูกสาวตนดำเนินการไปจนถึงชี้มูลการตายแล้ว แต่ทุกอย่างถูกเอาไปกองไว้หลังจากการยึดอำนาจตั้งหลายปี

 

“เราต้องการฟ้องสังคม กระบวนการยุติธรรมกำลังบีบเค้น แม้แต่ไปทำกิจกรรมวันสิทธิมนุษยชนสากล ดิฉันยังถูกดำเนินคดี ถามว่าอะไรคือสิทธิของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนเคยรู้สิทธิตัวเองบ้างไหม พอประชาชนคนไหนรู้สิทธิของตัวเองและออกมาเรียกร้อง ก็ถูกดำเนินคดีความ ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา แต่ยืนยันแน่นอนค่ะ ต่อให้ดิฉันจะต้องตาย ต้องติดคุกเราก็ยอม เราต้องสู้ต่อไป” นางพะเยาว์กล่าว

นอกจากนี้สิ่งที่ตนอยากได้มากที่สุดคือรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย และอยากขอเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพโดยตัดงบประมาณกองทัพด้วย

 

จี้บังคับใช้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว

ด้านน.ส.ดาราราย รักษาสิริพงษ์ ตัวแทนมูลนิธิผู้หญิง กล่าว่า ที่ผ่านมาถูกคุกคามบ้าง เพราะทำเรื่องความรุนแรงของคนในครอบครัว คนที่เป็นสามีเขาเชื่อว่าจะทำอะไรกับครอบครัวก็ได้ จะทำอะไรกับภรรยาก็ได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง ดังนั้นคนที่เข้าไปทำงานเรื่องนี้ จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นใคร ทำไมต้องมายุ่งกับคนในครอบครัวเขา นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของความตระหนักของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าคดีแบบนี้เป็นคดีที่สำคัญ และเมื่อนำไปเทียบกับคดีอาชญากรรมอื่นเขาให้น้ำหนักน้อยกว่า ทั้งที่ความรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้

 

“คนบางคนคิดว่านี่เมียเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ คุณมีสิทธิอะไร การได้รับรางวัลนี้อาจทำให้เสียงของเราได้รับการรับฟังมากขึ้น ความรุนแรงในผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ให้น้ำหนักกับคดีเหล่านี้ การที่เราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรม หรือพยายามไกล่เกลี่ยอย่างเดียว ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระความด้วยความรุนแรงไม่มีทางเลือก พวกเธอต้องเผชิญปัญหาโดยลำพัง ออกไปขอความช่วยเหลือก็บอกให้กลับไปไกล่เกลี่ย ดังนั้นผู้หญิงจะโดดเดี่ยวมาก”

 

น.ส.ดาราราย กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ว่า ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเมื่อ10 ปีที่แล้ว ที่ไม่มีกฎหมายว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้แม้มีกฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัวแล้ว แต่ยังไม่อาจนับเป็นความสำเร็จได้ เพราะเวลาที่ไปใช้บังคับกฎหมาย จะเห็นว่าทัศนคติเรื่องนี้ยังไม่เปลี่ยนมากนัก อย่างไรก็ตามในแง่เชิงนโยบายเราอยากให้มีผู้หญิงเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเพราะผู้หญิงจะเข้าใจประสบการณ์ที่ผู้หญิงด้วยกันต้องพบเจอมามากกว่า

 

ด้านน.ส.รอซิดะห์ ปูซู ตัวแทนเครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นกล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานเครือข่ายมีปัญหาในเรื่องความร่วมมือกับในท้องถิ่นด้วยเหตุแห่งศาสนา ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่มีบาทบาทการต่อสู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนน้อยลง  เครือข่ายเราได้ทำงานรณรงค์ในเรื่องการจำกัดอายุการแต่งงานของผู้หญิงมุสลิมว่าต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการแต่งงานกับเจ้าสาวที่อายุยังน้อยซึ่งถือว่าเป็นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสำหรับการทำงานพวกเราอยากให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้หญิงเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะที่ผ่านมาขาดงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้

เชิดชูเกียรติ

About The Author