ข่มขืนแหม่มอังกฤษที่เกาะเต่ากับปัญหาการสืบสอบแบบไม่รับคำร้องทุกข์?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับตำรวจหลายเรื่องจนประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจดจำกันไม่หวาดไหว!
ปัญหาการตรวจควันดำของตำรวจจังหวัดนครสวรรค์ได้ 83 แต่กรมการขนส่งทางบกใช้เครื่องมือมาตรฐานสากลตรวจพบแค่ 30 ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ ลุงอดูลย์ ซึ่งได้จ่ายค่าปรับไปหนึ่งพัน เหลือติดกระเป๋า 500 เติมน้ำมันกลับโคราช มีเพียงเศษเหรียญ 13 บาท
ทำให้ลุงรวมทั้งลูกสะใภ้และหลานต้อง “อดน้ำ อดนม” ไปตลอดทางสร้างปัญหาคาใจตลอดมา
ลุงและประชาชนผู้รักความยุติธรรมจำนวนหนึ่งจึงได้ไปร้องเรียนกับตำรวจแห่งชาติให้ตรวจสอบมาตรฐานการตรวจวัดตั้งแต่วันที่ 26 กันยาที่ผ่านมา
“ พ.ต.อ.เวรอำนวยการผู้น่าสงสาร” บอกว่า น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน คงทราบผล
แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด ทั้งตำรวจจังหวัด ตำรวจภาค และตำรวจแห่งชาติ
ครั้งสุดท้าย เมื่อ 17 ต.ค. ได้มีตำรวจคนหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่ามีหน้าที่รับผิดชอบอะไร ได้บอกกับลุงว่า ขอให้มาอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. 61 ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นผู้มีอำนาจสามารถจัดการอะไรได้แท้จริงหรือไม่?
ปัญหาลักษณะนี้ในประเทศที่เจริญ เขาล้วนจบได้ด้วยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ไม่ต้องให้ประชาชนเสียเวลาเดินทางมากรุงเทพหรือแม้กระทั่งทำเนียบรัฐบาลเพื่อร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี แล้วก็ไม่มีคำตอบอะไรที่ในการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้คนจากปัญหาตำรวจแท้จริงแต่อย่างใด
ตามมาด้วย “สำนักข่าวอิสรา” รายงานว่ากฤษฎีกาได้ทำหนังสือแจ้งไปยังตำรวจแห่งชาติกรณีที่มีตำรวจกองการเงินร่วมกันปลอมเอกสารเบิกงบประมาณไป 14 ล้านในปี 2536
เรื่องนี้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบระดับ ตร.ทุกยุคสมัยไม่มีใครอยากพูดถึง? จึงได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยจนขาดอายุความฟ้องคดีแพ่ง รอง ผบก.ไปจนถึงนายสิบตำรวจให้ร่วมกันชดใช้
เงินหลวงที่ผู้คนหรือแม้กระทั่ง สตง.บอกว่า “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” นั้น
จึงอาจไม่เป็นความจริงอีกต่อไป!
เพราะเมื่อคดีขาดอายุความฟ้องให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ แล้ว “รัฐ” จะไปเอาเงิน 14 ล้านบาทจากใคร?
กฤษฎีกาบอกว่า ถ้า ผบ.ตร.เห็นใครต้องรับผิดชอบทำให้คดีขาดอายุความ ก็เป็นเรื่องต้องดำเนินการไปตามหน้าที่ ไม่ต้องส่งมาให้ตีความเสียเวลา!
อีกเรื่องก็คือ รองสารวัตรตำรวจในจังหวัดบุรีรัมย์ขับรถชนท้ายรถพยาบาลขณะกำลังเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจนพยาบาลสาวเสียชีวิต
หลังเกิดเหตุ ไม่ได้มีการแจ้งข้อหากับตำรวจคนขับรถชนทันที ปล่อยให้นอนอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งที่อาการไม่ได้หนักแต่อย่างใด และไม่มีการเป่าทดสอบความเมา พฤติการณ์ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าการสอบสวนจะเป็นไปด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
ผู้ขับรถที่เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่เห็นได้ชัดว่าเป็นฝ่ายฝ่าฝืนกฎจราจร ถือว่ามีเหตุหรือ “พฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเมา” พนักงานสอบสวนมีอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) มาตรา 142 สั่งให้ทดสอบได้
หากมีเหตุชัดเจนแล้วไม่ยอม ก็ไม่เห็นต้องวุ่นวายอะไร เพราะตามวรรคสี่ “ให้สันนิษฐานว่าเมา” ทันที
แต่กรณีหญิงชายขับรถโดยไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายอะไร กลับถูกตำรวจตามด่านต่างๆ สั่งให้เป่ากันจนปากโป่งมากมาย กลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดของโลก!
เรื่องอื้อฉาวล่าสุด ก็กรณีสารวัตรสืบสวนในจังหวัดพิษณุโลกแชทไลน์ถึงหญิงสาวที่เป็นแฟนเก่าบอกว่าเหงาและคิดถึงจนทนไม่ไหว!
เมื่อเขาไม่เล่นด้วยเพราะมีคนรักใหม่ ก็โพสต์ภาพลามกที่แอบถ่ายไว้ และบอก “จะยิงให้ตายอย่างหมาข้างถนน”
ตามราวีจนแฟนใหม่ของหญิงสาวทนไม่ได้ พาขึ้นโรงพักไปแจ้งความ เป็นข่าวผ่านโซเชียลออกมา
สุดท้าย “สารวัตรสืบ” ได้วิ่งโร่มาเจรจา ขออย่าเอาเรื่องได้ใหม?
ในกรณีนี้ นอกจากจะเป็นความผิดข้อหา “ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ” ผิดกฎหมายอาญามาตรา 392 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทแล้ว
การโพสต์ภาพลามก ยังอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) มีโทษจำคุกถึงห้าปี
เหล่านี้ถือเป็นกรณีความผิดต่อรัฐทั้งสิ้น เพียงแต่บางข้อหาสามารถเปรียบเทียบปรับชั้นสอบสวนได้
แต่ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาไกล่เกลี่ยให้ยอมความกันเหมือนคดียักยอกฉ้อโกงโดยไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด
ทำให้นึกถึงคดีที่ ร.ต.อ.ในจังหวัดราชบุรีขับรถพาหญิงสาวเข้าโรงแรมหวังข่มขืน ชกต่อย ตบบ้องหูจนแก้วหูแตกเลือดไหลอาบแก้ม!
จนกระทั่งป่านนี้ การดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัยก็ยังไม่ปรากฎความคืบหน้าถูกลงโทษแต่อย่างใด และผู้บังบัญชาก็ไม่ได้สั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” หรือแม้กระทั่ง “พักราชการ”
เรื่องที่จะพูดถึงเป็นหลักวันนี้คือ “การสอบสวนคดีเกาะเต่า” ที่แหม่มสาวอายุ 19 ชื่อ Issy เล่าให้สื่ออังกฤษและแม่ฟังว่า เธอถูกมอมยาข่มขืนที่ชายหาดในคืนวันที่ 25 มิ.ย.2561
เธอกับเพื่อนได้ไปแจ้งตำรวจเกาะพงันในวันรุ่งขึ้นตอนเที่ยงเศษ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการอะไรแม้แต่จะส่งไปตรวจร่างกาย และลงบันทึกกลายเป็นเรื่องรับแจ้งของหายแทน?
เธอเสียใจจนทนไม่ไหว จึงได้รีบบินกลับประเทศไป ซึ่งแม่ของเธอให้สัมภาษณ์สื่ออังกฤษตั้งคำถามต่อการทำงานของตำรวจไทยในเวลาต่อมา
สุดท้าย ได้มีการส่งพนักงานสอบสวนไปสอบปากคำเธอที่อังกฤษ ซึ่งการที่เธอส่งมอบเสื้อยืดที่เชื่อว่ามีคราบอสุจิของคนร้ายติดอยู่ให้เจ้าพนักงาน นั่นแสดงว่าได้ยืนยันเรื่องถูกข่มขืนและต้องการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการสืบสอบหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ ถือเป็น “การร้องทุกข์” ต่อเจ้าพนักงานแล้ว
จึงไม่มีใครมีอำนาจสรุปว่า ไม่ได้มีเหตุข่มขืนเกิดขึ้นจริง และไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ดำเนินการสอบสวนให้สิ้นกระแสความแต่อย่างใด?
การสรุปดังกล่าว ทำให้แม่ของแหม่มสาวข้องใจ กระบวนการเก็บดีเอ็นเอเชื่อถือได้เพียงใด และการตรวจไม่พบจะบอกว่าไม่ได้มีเหตุการณ์ข่มขืนเกิดขึ้นตามที่ลูกสาวเล่าได้อย่างไร?
เรื่องนี้ ประเด็นที่สำคัญนอกจากเรื่องถูกข่มขืนแล้ว ก็คือหลังเกิดเหตุ แหม่ม Issy ได้ไปร้องทุกข์กับตำรวจเกาะพงันให้ดำเนินคดีแล้วหรือไม่?
ปัญหาดังกล่าว มีเพื่อนชายหลายคนไปพร้อมกับเธอด้วยสามารถเป็นพยานได้ หนึ่งในนั้นคือ David ซึ่งให้สัมภาษณ์ไลฟ์สดกับคุณสุทธิชัยในเวลาต่อมาว่า ตนเองก็ถูกมอมยาเดินโซเซไปนอนสลบที่ชายหาดบริเวณใกล้เคียง ถือเป็นผู้เสียหายคนหนึ่ง
มารู้สึกตัวอีกทีเมื่อตอนตีห้า เดินกลับมาที่พัก พบ Issy มาถึงก่อนและได้เล่าให้ฟังเรื่องที่ถูกมอมยาและข่มขืนให้ฟัง รู้สึกตัวขึ้นมา พบว่ามีชายชาวเอเชียคนหนึ่งยืนข้างหน้ายิ้มให้ แล้วเดินจากไป!
David บอกอีกว่า นอกจากได้พากันไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเกาะพงันในวันรุ่งขึ้นแล้ว ตนก็ได้พยายามไปแจ้งความอีกครั้งที่สถานีตำรวจเกาะเต่าหลังจาก Issy กลับอังกฤษไป รวมทั้งกรณีที่ตนเองก็ถูกมอมยาจนสลบด้วย
ป.วิ อาญามาตรา 2 (7) “คำร้องทุกข์” หมายถึง “การผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหานั้นมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ”
มาตรา 124 ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้
เมื่อมีหนังสือร้องทุกข์เช่นกล่าวแล้ว ให้รีบจัดการส่งไปยังพนักงานสอบสวน
มาตรา 130 ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า
มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความผิด เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
มาตรา 140 เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่า การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้จัดการดังนี้
(1)กรณีไม่ปรากฎว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดในคดีมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ให้งดการ
สอบสวนและบันทึกเหตุนั้นไว้ แล้วส่งพร้อมสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
ถ้าโทษเกินกว่าสามปี ให้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นควรงดสอบสวน
(2) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ยังจับไม่ได้ ให้ทำความเห็นควรฟ้องหรือไม่ฟ้องส่งไปยัง
พนักงานอัยการ
ไม่มีตำรวจคนใดมีอำนาจสั่ง “ตรวจสอบหรือสืบสวนข้อเท็จจริง” ตามคำร้องทุกข์
แล้วสรุปว่า ไม่ได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น โดยไม่ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการสั่งคดีแต่อย่างใด