ศพนอนรอร้อยเวร!รอกฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนด้วย-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ศพนอนรอร้อยเวร!รอกฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนด้วย
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
บุคคลที่ มีโอกาส จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามครรลองของรัฐธรรมนูญในขณะนี้ อาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า มีอยู่ “สามคน” ตามที่พรรคการเมืองใหญ่ที่น่าจะได้ ส.ส.เกือบร้อยหรือคาดว่า “กว่าร้อย” เสนอชื่อไว้
ก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
หลังเลือกตั้ง ถ้าพรรคใดรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งจาก 500 ยกมือให้ใคร คนนั้นก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที
แต่ถ้ารวมไม่ได้ ก็เป็นโอกาสของ ส.ว. 250 คน จะร่วมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง ใช้ข้อยกเว้นเป็น ตัวช่วย
โดยอาจมีการร่วมกับ ส.ส.บางกลุ่มรวมกันให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา คือ 351 คน จาก 750 ยกมือให้ โดยจะเป็น “คนที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้” หรือแม้กระทั่ง เป็นคนนอกก็ได้
แต่คนที่ถูก ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.ส่วนน้อยช่วยออกเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีนี้ เมื่อเข้ารับตำแหน่ง จะมีปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินทันที
เพราะหลังจากที่ร่วมกันยกมือให้เป็นนายกฯ แล้ว ส.ว.ไม่ว่าเท่าใดหรือแม้กระทั่งทั้งหมด 250 คน จะไม่สามารถคุ้มครองการทำงานของรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยผลักดันให้กฎหมายต่างๆ ผ่านสภา โดยเฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี รวมถึงกรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
ใครที่คิดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก๊อกสอง ด้วยเสียงของ ส.ว.นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองใดหรือไม่ จึง ต้องตระหนัก
ถ้าจะให้บ้านเมืองสงบสุขเดินไปตามครรลองของประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจึงควรเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ส.ส่วนใหญ่เกินกึ่งหนึ่ง ดังที่กล่าวไว้
แม้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคพลังประชารัฐอาจต้องเผชิญกับปัญหา กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ หากต้องการเดินไปในทิศทางและเป้าหมายที่แตกต่าง ก็กลายเป็นว่า ไม่สามารถทำตามนโยบายและเจตจำนงของประชาชนที่มอบความไว้วางใจได้ ทำให้ต้องเสนอแก้ไขเกิดความยุ่งยากก็ตาม
แต่ปัญหาสำคัญก็คือ พรรคการเมืองใหญ่จะสามารถรวมเสียงได้ โดยตกลงให้ใครแม้ไม่ใช่คนที่พรรคตนเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ต้องเดินไปสู่การใช้ “บทยกเว้น” หรือไม่
นั่นคือ สถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ที่คนไทยส่วนใหญ่ใจจดใจจ่อ เฝ้ารอผู้นำรัฐบาลมาบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยกันมาเกือบห้าปี
วกมาเรื่อง ปัญหาตำรวจและการสอบสวน ที่ประชาชนคนไทยกำลังเดือดร้อนทุกข์ใจ และมีเสียงเรียกร้องให้ มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ จนต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการหลายชุด
แต่จนกระทั่งบัดนี้ ประชาชนก็ยังไม่เห็นการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมอะไร?
ปัญหาที่เลวร้ายเกี่ยวกับตำรวจและการสอบสวนจึงยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน!
เช่น เมื่อกลางดึกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีชายไม่ทราบชื่อคนหนึ่งกระโดดสะพานพระราม 7 ลงไปว่ายตะเกียกตะกายจนจมน้ำตาย เหตุเกิดตั้งแต่ประมาณห้าทุ่ม
เวลาล่วงไปถึงตีหนึ่งถึงตีสอง นักประดาน้ำมูลนิธิร่วมกตัญญูจึงงมศพขึ้นมาได้ นำมาวางนอนคลุมผ้าไว้ที่ท่าน้ำเชิงสะพานพระราม 7 ฝั่งธนบุรี และแจ้งให้ตำรวจสถานีที่รับผิดชอบมาสอบสวนตามกฎหมาย
พนักงานสอบสวนสามสี่สถานีมีปัญหาเกี่ยงกันไปมาตั้งแต่ดึกยันสว่างว่าคดีที่เกิดขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของใครกันแน่?
ศพนอนรอ พงส. อยู่จนกระทั่งเช้า ก็ยังไม่มีใครไปสอบสวนตามกฎหมาย
ปล่อยให้เจ้าหน้าที่มูลนิธินั่งเฝ้าอยู่จนกระทั่ง 08.00 น. จึงได้มี พงส.จาก สน.บางกรวย มาสอบสวนชันสูตรพลิกศพ
ก็ไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เห็นภาพหรือทราบข่าวนี้แล้ว คิดและรู้สึกอย่างไร?
ขอเรียนว่า ปัจจุบันปัญหาตำรวจและการสอบสวนประเทศไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่า แสนสาหัส สำหรับคนยากจนหรือคนทั่วไปที่ไร้เส้นสายไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์แบบใดแบบหนึ่ง
คนจน แจ้งความร้องทุกข์กันด้วยความยากลำบาก เพราะตำรวจ ไม่ยอมสอบสวนออกเลขคดีให้ เนื่องจากต้องทำตามที่เจ้านายสั่งให้ช่วยกัน “ลดสถิติอาชญากรรม” ไม่ต้องทำสำนวนส่งพนักงานอัยการสั่งคดีตามกฎหมาย แต่ให้เสี่ยงถูกร้องเรียน เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางกันเอาเอง!
หรือหากจำเป็น ก็สอบสวนกันแบบ ขอไปที ทำเป็น คดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด นั่งรอครบเวลาที่กำหนด ก็สรุปเสนอให้อัยการสั่ง งดสอบสวน หรือแท้จริงคือ เลิกสอบสวน กันเป็นส่วนใหญ่
แต่คนจนกลับถูกยัดข้อหาง่าย “ถูกจับเป็นแพะ” กันมากมาย
ระบบงานสอบสวนที่ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของประเทศจึงตกอยู่ในสภาพ วิกฤติและเป็นอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง
ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่ว่าด้วยการสอบสวน โดยคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปฏิรูประบบงานสอบสวนของประเทศในหลายเรื่อง
โดยเฉพาะการให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน รวมทั้งรับแจ้งความเริ่มคดีได้ในกรณีตำรวจไม่ทำหน้าที่
ร่างแก้ไข ป.วิ อาญา ฉบับนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว
แต่ไม่ทราบว่าเหตุใด นายกรัฐมนตรีจึงยังไม่ได้เร่งเสนอต่อ สนช.เพื่อตราเป็นกฎหมายแต่อย่างใด?
ส่วนในเรื่องการ “ปฏิรูปตำรวจ” เรื่องระบบบริหาร การกำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้าย การโอนหน่วยตำรวจและงานสอบสวนเฉพาะทางไปให้กระทรวงและกรมที่รับผิดชอบ คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตำรวจ ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งได้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
รวมทั้ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา แยกงานสอบสวนออกมา ไม่ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าสถานีตำรวจ
ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ นายมีชัยได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปเมื่อหลายเดือนก่อนเพื่อให้ตราเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
แต่ขณะนี้ไม่รู้ว่าถูก “ใคร” นำไปเก็บ หรือ “ซุก” ไว้ที่ไหน? จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด?
“ใคร” คือผู้รับผิดชอบ?
ในช่วงรัฐบาล คสช.ห้าปีที่ผ่านมา กฎหมายเพิ่มอำนาจตำรวจผู้ใหญ่ที่ส่งผลกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนสารพัดนั้นออกกันแสนรวดเร็ว?
ต่างไปจากกฎหมายในการกระจายอำนาจและสร้างระบบตรวจสอบตามหลักสากล ที่ “ตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการ” ต่างพากันค้านคอเป็นเอ็น
และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อถ่วงเวลากันไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้!.
ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, February 25, 2019