‘ตำรวจญี่ปุ่น’ หัวใจคือ ‘ตำรวจจังหวัด’ ผู้ว่าฯ ประชาชนควบคุมได้

‘ตำรวจญี่ปุ่น’ หัวใจคือ ‘ตำรวจจังหวัด’ ผู้ว่าฯ ประชาชนควบคุมได้
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เมื่อวันที่ 15-20 มิ.ย.2568 ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะ กมธ.ความมั่นคงและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่ปรึกษาเพื่อดูงานด้านความมั่นคงรวมทั้งตำรวจญี่ปุ่น
ได้พบว่าหัวใจความสำเร็จในการรักษากฎหมายป้องกันอาชญากรรม ที่ทำให้บ้านเมืองเขามีความสงบและปลอดภัย อัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ ตำรวจทุกระดับเป็นที่เชื่อถือยอมรับของผู้คน แม้กระทั่งชาวต่างชาติ
ก็คือ การจัดองค์กรให้สังกัดจังหวัด ซึ่งมีอยู่รวม 47 จังหวัด โดยมี คณะกรรมการตำรวจจังหวัด
ที่ ผวจ.แต่งตั้งทำหน้าที่กำหนดนโยบายการทำงานป้องกันอาชญากรรมและตรวจสอบควบคุม
มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายลงโทษทางวินัยตำรวจในจังหวัดได้ แต่ละจังหวัดรับสมัครตำรวจและฝึกอบรมเอง ใช้เวลาแค่หกเดือนหรือไม่เกินหนึ่งปี โดยทุกคนต้องเริ่มจากการปฏิบัติงานพื้นฐานคือ ประจำสถานีตำรวจขนาดเล็ก
ที่เรียกกันว่า ‘โคบัง’ ในชุมชนต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6,000 แห่ง และสอบแข่งขันเลื่อนตำแหน่งกันขึ้นไปจนเป็น หัวหน้าตำรวจจังหวัด (Commissioner) ซึ่งหมายถึง ‘หัวหน้าตำรวจ’ ไม่ใช่ ผู้บัญชาการ หรือ Commander แบบทหารอย่างที่เข้าใจกัน ไม่มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่สามารถย้ายข้ามจังหวัดได้
ทำให้ตำรวจญี่ปุ่นเป็นเจ้าพนักงานพลเรือนที่มีความรู้สึกเป็นมิตรและใกล้ชิดกับประชาชน รู้จักผู้คน
และมีความชำนาญพื้นที่รวมทั้งลักษณะงานอย่างแท้จริง
ไม่มีหน่วยงานและ สายการบังคับบัญชาที่ไม่จำเป็นยืดยาว ไม่มีตำรวจยศนายพัน นายพล และฝ่ายอำนวยการแบบทหารมากมายโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และสิ้นเปลือง
ซ้ำยัง เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของตำรวจ ทั้งสถานีและจังหวัดแบบประเทศไทย
สำหรับงานสอบสวนมีตำรวจฝ่ายคดีรับผิดชอบเบื้องต้นและแจ้งให้อัยการทราบเพื่อตรวจสอบสั่งการ ตำรวจญี่ปุ่นจึงแทบไม่มีบทบาทในการสอบสวนอย่างแท้จริงอะไร เน้นการทำงานในเรื่องป้องกันอาชญากรรมเป็นหลัก
ส่วน ตำรวจแห่งชาติ หรือ National Police Agency (NPA) เป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ ที่แทบไม่มีบทบาทอะไรต่อตำรวจจังหวัด จัดองค์กรและห้องทำงานรวมกันอย่างประหยัด มีหัวหน้าตำรวจแห่งชาติและรองเพียงคนเดียว
ไม่มีสิ่งประดับและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการทำงาน อยู่ในตึกเพียงบางชั้นรวมกับอีกหลายกระทรวง ห้องประชุมที่ใช้ต้อนรับคณะ กมธ.ก็เล็กกว่าห้องประชุม อบต.ใหญ่ๆ ของไทยเสียอีก
ไม่มีไมโครโฟนประจำโต๊ะ ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าแห่งเครื่องเสียงส่งออก ผู้บรรยายถือไมค์และลำโพงมาเอง ระหว่างรับฟังการบรรยาย ไม่มีใครมาดูแลและบริการเสิร์ฟน้ำอะไรให้วุ่นวาย
คณะ กมธ.ยังต้องไปกดน้ำ หากาแฟมากินกันเอง และเก็บขยะกลับไปหาที่ทิ้งด้วยซ้ำ!
ตำรวจผู้บรรยายบอกว่า ตำรวจไทยมีที่ทำงานและห้องประชุมใหญ่โตกว่าตำรวจญี่ปุ่นมาก!
ซึ่งแท้จริงนั่นไม่ใช่คำชม แต่สะท้อนว่าเขามองประเทศไทยใช้งบประมาณในงานตำรวจผิดทิศทางอย่างมาก หลายเรื่องไม่จำเป็น เช่น ห้องทำงานของแต่ละคนที่ลึกลับเสมือนเป็นอาณาจักรส่วนตัวของตำรวจผู้ใหญ่
รวมทั้งมี ตำรวจหลายคนคอยรับใช้ และพิธีกรรมพิธีการต่างๆ ที่ไร้สาระฟุ่มเฟือยและเป็นภาระต่อเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างยิ่ง!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 7 ก.ค. 2568