‘วิรุตม์’ ชี้พรบ.อำนาจเรียกกมธ.สำคัญต่อปชต.อย่างยิ่ง เตือนหากขรก.ไม่มาชี้แจงมีความผิดทางวินัย
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๗ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อำนาจเรียกกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ฃและวุฒิสภาในวาระ ๒ และ ๓ ตามที่ได้แต่งตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นพิจารณาแปรญัตติหลังผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่งไปแล้ว เป็นการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คือ ๓๙๙ เสียงจากสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๔๐๐ คน
ถือเป็นการ “ติดดาบ” ให้คณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจเรียกให้ข้าราชการและเจ้าพนักงานรัฐทุกหน่วยและทุกระดับมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ หากผู้ใดไม่มา มีความผิดทางวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรงแล้วแต่กรณี
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)ผู้ร่วมจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคง กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาแปรญัตติหลังผ่านความเห็นชอบในวาระหนึ่ง กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อทั้งรัฐสภาและประชาชนรวมทั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐโดยรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๙ ได้ประสบปัญหาข้าราชการและเจ้าพนักงานรัฐผู้ใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือในการมาชี้แจงหรือให้ข้อเท็จจริงต่อกรรมาธิการทั้ง ๓๕ คณะ
ซ้ำเมื่อมีการออก พ.ร.บ.คำสั่งเรียกเพื่อแก้ปัญหานี้ในปี ๒๕๕๔ ก็กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่า บทกำหนดโทษต่อผู้ไม่มาให้เป็นความผิดทางอาญามีโทษจำคุกสามเดือนนั้น ใช้ไม่ได้ ถือเป็นโทษที่เกินสัดส่วนกับการกระทำและเกินความจำเป็น
คำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลทำให้คณะกรรมาธิการทุกคณะไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและเจ้าพนักงานรัฐเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริงเลย ทำได้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ส่งผลทำให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือฝ่ายรัฐบาลเสียประโยชน์หรืออาจถูกลงโทษตามกฎหมายเมื่อปรากฎว่าได้กระทำความผิดอาญาหรือวินัยเท่านั้น
กฎหมายฉบับนี้ จึงจำเป็นต้องออกมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเท่าที่จะมีอำนาจทำได้ คือให้กรรมาธิการ “มีอำนาจเรียก” ตามมาตรา ๗ และหากผู้ใดไม่มาชี้แจงโดยไม่มีเหตุอันสมควรถือเป็นความผิดทางวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรงตามพฤติการณ์ของการกระทำที่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามมาตรา ๑๔
นอกจากนั้น ที่สำคัญได้บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ต้องรายงานการผลดำเนินการทางวินัยครั้งแรกภายในสามสิบวัน และอีกสามสิบนับแต่วันออกคำสั่งลงโทษ ผู้ที่ไม่ดำเนินการถือว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายมีความผิดทางวินัยด้วย
“กฎหมายฉบับนี้ จะส่งผลทำให้ข้าราชการและเจ้าพนักงานรัฐทุกระดับต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตหรือบกพร่องที่ทำให้ต้องถูกคณะกรรมาธิการเรียกไปชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังตรวจสอบ ซึ่งจะไม่สามารถส่งตัวแทนผู้ไม่มีอำนาจในการสั่งราชการ รวมทั้งการบ่ายเบี่ยงอ้างว่าติดงานสำคัญหรือการประชุมโน่นนี่ได้ง่ายๆ เช่นที่เคยกระทำอีกต่อไป”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว