คดี สจ.โต้ง ใครยิงไม่มีปัญหา ประเด็นคือ ‘เตรียมการ’ และ ‘ถูกใช้จ้างวาน’ จริงหรือไม่
คดี สจ.โต้ง ใครยิงไม่มีปัญหา ประเด็นคือ ‘เตรียมการ’ และ ‘ถูกใช้จ้างวาน’ จริงหรือไม่
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์การรุมยิง สจ.โต้ง ถึงแก่ความตายภายในบ้านพักของนายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.จังหวัดปราจีนบุรี
ไม่ใช่เรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในการสอบสวนดำเนินคดีที่ตำรวจผู้ใหญ่จะต้องวุ่นวายไปจนเกินจำเป็นอะไร
ถ้าจะไป ก็ต้องมุ่งเพื่อตรวจสอบว่า หัวหน้าตำรวจจังหวัดปราจีนบุรีและผู้บัญชาการตำรวจภาค 2 ทุกคนที่ผ่านมา ได้ปล่อยให้มีกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายในจังหวัดเป็นภัยอันตรายต่อประชาชนเช่นนี้ได้อย่างไร
ใครเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังที่แท้จริงตลอดมา
รวมทั้งตำรวจ 4 คนที่ไปเป็นมือปืนคุ้มครองให้ความปลอดภัย สจ.โต้ง คือใคร สังกัดหน่วยใด ไปรับงานเช่นนั้นกันได้อย่างไร โดยคำสั่งหรือการรู้เห็นของตำรวจผู้บังคับบัญชาคนใด?
จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทุกคนอย่างไร ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ
เพราะในส่วนของคดี ผู้กระทำผิดรวมทั้งผู้ต้องสงสัยแต่ละคนก็ไม่ได้มีใครหลบหนีไปไหน
แทบทุกคนรับสารภาพ และยอมให้เก็บหลักฐานไปพิสูจน์ว่าแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านั้นมากน้อยเพียงใด และสามารถกระทำได้ในเวลาอันรวดเร็วหลังเกิดเหตุ
ไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลาการเก็บหลักฐานที่อาจสูญสลายหรือถูกทำลายไปเช่นที่เกิดขึ้นในหลายคดี
“เขม่าดินปืน” ซึ่งเป็นวัตถุพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สำคัญปรากฏอยู่ที่มือใคร
แม้คนนั้นจะไม่รับสารภาพ ก็ย่อมสิ้นสงสัยตั้งแต่ในชั้นสอบสวนและพิจารณาของอัยการว่าเป็น “ผู้ลั่นไกปืน” ยิงอย่างแน่นอน
ส่วนคนอื่นที่อยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือบุคคลใด หากสอบสวนแล้วไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำผิดในลักษณะใด
ก็ไม่ควรจับหรือแจ้งข้อหากันมั่วๆ เพื่อความยุติธรรมต่อเขาและครอบครัวด้วย
ประเด็นสำคัญคือ เป็นกรณีที่ได้มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้มีความผิดข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษ ประหารชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) หรือไม่?
รวมไปถึงเป็นการกระทำตามลำพังหรือได้รับคำสั่งจากนายสุนทรเจ้าของบ้านหลังจากที่ได้มีปากเสียงโต้เถียงกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 84 หรือที่เรียกกันว่า “ใช้ จ้าง วาน” ให้กระทำผิด
ต้องรับโทษประหารชีวิตสถานเดียวเหมือนตัวการผู้ที่ลั่นไกฆ่าด้วยเช่นกัน
แต่ปัญหาที่ผู้คนสนใจสงสัยก็คือ ขณะนี้ที่ตำรวจได้มีการจับกุมและควบคุมตัวทุกคนรวมทั้งนายสุนทรดำเนินคดีข้อหาจ้างวานฆ่าไปแล้ว
เป็นการจับหรือแจ้งข้อหาด้วยอำนาจตามกฎหมายและพยานหลักฐานอะไร?
อาจเป็นได้ว่า ผู้ต้องหาที่เป็นตัวการรับสารภาพให้การต่อพนักงานสอบสวนภายหลังว่า เป็นการยิงเพราะนายสุนทรบอกหรือใช้ให้กระทำด้วยคำพูดหรือวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด
ตำรวจที่เป็น หัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าคือใคร ก็ควรบอกชี้แจงให้ประชาชนทราบ
เนื่องจาก การสอบสวนแท้จริงไม่ใช่ความลับในทางราชการอย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจกันแต่อย่างใด
เพราะแม้แต่บุคคลที่ถูกแจ้งข้อหา ตำรวจก็มีหน้าที่ตามกฎหมายในการแจ้งพยานหลักฐานให้เขาทราบเพื่อการต่อสู้คดีอย่างยุติธรรมอยู่แล้ว
ข้อสังเกตก็คือ การจ้างวานฆ่า ไม่ใช่การกระทำผิดอาญาซึ่งหน้า ที่ตำรวจจะสามารถจับตัวใครโดยไม่มีหมายจับของศาลตามกฎหมายได้!
แต่การที่ทุกคนถูกจับตัวไปหลังเกิดเหตุทันทีเช่นนั้น ก็ทำให้นักกฎหมายผู้มีใจเป็นธรรมสงสัยกันว่า ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายใด?
คดีนี้ถ้าเป็นกรณีที่มีการวางแผนเตรียมการมาล่วงหน้า และมีพยานหลักฐานการติดต่อหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้สามารถยืนยันการกระทำผิดจนสิ้นสงสัยได้
ก็ถือว่าเป็นการฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างแน่นอน
แต่ ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ด้วยเหตุที่มีความเข้าใจผิดในเจตนา รวมทั้งคำพูดคำจาที่เป็นการท้าทายหรือไม่เข้าหูกัน
การแจ้งข้อหาที่มีโทษอุกฉกรรจ์เช่นนั้น ก็ย่อมไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทุกคน
ยิ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นเหตุการณ์กระทำผิดที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และ ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่านายสุนทรเป็นผู้สั่งการหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการลั่นไกฆ่า
การจับกุมหรือแจ้งข้อหาต่อเขาว่าเป็นผู้ใช้ จ้าง วาน เพราะเป็นเจ้าของบ้านและเจ้านายของผู้ต้องหา และสรุปโดย ตรรกะเพี้ยนๆ ที่ว่า
ถ้าเจ้านายไม่ใช้หรือไม่สั่ง คงไม่มีใครกล้ายิงคนตายภายในบ้านเช่นนั้นกันแน่นอน!
หากกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนของไทยใช้ ตรรกะวิปริต ในการจับกุมหรือดำเนินคดีอาญากับประชาชนหรือแม้กระทั่งบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยกันเช่นนี้ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันการกระทำที่ชัดเจน
แม้คนนั้นจะเป็นผู้ที่เคยก่ออาชญากรรม หรือประชาชนมองว่าเป็นคนร้าย เป็นคนไม่ดี
นับเป็นการสอบสวนที่อันตรายต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงยิ่ง.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 16 ธ.ค. 2567