‘คดีบอสพอล’ แจ้งข้อหาดารา ต้องมีหลักฐานชัดว่าเจตนา คือ ‘รู้ว่าฉ้อโกง ยังเข้าร่วม’
‘คดีบอสพอล‘ แจ้งข้อหาดารา ต้องมีหลักฐานชัดว่าเจตนา คือ ‘รู้ว่าฉ้อโกง ยังเข้าร่วม‘
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การสอบสวนดำเนินคดีที่อื้อฉาวผู้คนสนใจอย่างมากขณะนี้คือ กรณี บอสพอล กับพวกร่วมเปิดบริษัทขายตรงออนไลน์มาเป็นเวลา กว่า 5 ปี
ระยะหลังมีดาราคนดังทั้งหญิงชายเป็นพรีเซนเตอร์และเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนอยู่หลายคน
ประกอบธุรกิจได้ผลกำไรมากมายในแต่ละปี
แต่ทำไปทำมา กลายเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายอาญาฐาน ฉ้อโกง และ พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน คือให้ผลตอบแทนที่ผิดปกติต่างไปจากอัตราดอกเบี้ยทั่วไป
หรือที่ผู้คนเรียกกันว่า แชร์ลูกโซ่
เรื่องราวถูกเปิดโปงโดยผู้เสียหาย ไปออกรายการโทรทัศน์
ไม่ใช่โดยตำรวจหรือหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลแต่อย่างใดเช่นเคย!
ขณะนี้จะสรุปว่าเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายตามข้อกล่าวหาหรือไม่อย่างไร ยังไม่ชัดเจน
เพราะถ้าเป็นความผิดกฎหมายแต่แรก ก็ย่อมไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทได้
หรือวัตถุประสงค์อาจชอบตามกฎหมาย แต่เมื่อทำไประยะหนึ่ง ก็เบี่ยงเบนไป
รวมทั้งอาจ ใช้ช่องว่างของกฎหมาย ในการชักชวนให้คนมาร่วมลงทุน หมุนเงินไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแชร์ชม้อย
เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องคอยติดตามกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ต่อปัญหานี้ได้สะท้อนว่า คนไทยนั้นหลอกง่าย!
สาเหตุเพราะส่วนใหญ่ ไร้หนทางในการใช้วิชาความรู้และความสามารถในการหาเงินหรือสร้างผลิตผลอะไรในการสร้างฐานะได้
เมื่อใครมาโฆษณาหรือเสนอหนทางที่คิดว่าได้เงินง่าย ก็จะกระโจนตามๆ กันไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ดาราและบุคคลผู้ที่สังคมเชื่อถือหรือรู้จักในการชักนำให้ซื้อหรือใช้สินค้านั้นๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญน่าสนใจคือ การกล่าวหาว่าดาราดังทั้งหญิงชายมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมายทั้งข้อหาฉ้อโกง และ พ.ร.ก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน
เวลานี้ผู้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจไปแล้วว่า พวกเขามีส่วนร่วมกระทำผิดทางอาญา ไม่ว่าจะได้กระทำจริงหรือไม่ก็ตาม?
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องให้ความยุติธรรมกับประชาชนผู้ถูกกล่าวหาทุกคนตามกฎหมาย
ถ้าใครไม่ว่าจะเป็นดาราหรือไม่ รู้ชัดว่ากิจกรรมที่บริษัทกระทำเป็นการฉ้อโกงประชาชนมาแต่ต้น แล้วยังเข้าร่วม ไม่ว่าเป็นผู้บริหารหรือแม้แต่การเป็นพรีเซนเตอร์
ก็ย่อมมีความผิดอาญาตามข้อกล่าวหาฐานฉ้อโกงประชาชนแน่นอน
แต่ถ้าเขาเข้าไปโดยไม่รู้ โดยเฉพาะคนที่รับจ้างในการโฆษณาโดยได้ค่าตอบแทนเป็นปกติ
จะกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดหรือสนับสนุนด้วย ย่อมไม่ได้
เพราะ หลักความรับผิดทางอาญา บุคคลทุกคนต้องมีเจตนาในการกระทำนั้นด้วยกันทั้งสิ้น
ส่วนใครจะกล่าวหาว่าพวกเขา โง่เง่า ถูกหลอกใช้ให้เป็นเครื่องมือ ก็ด่าว่ากันไป
แต่ รัฐจะแจ้งข้อหาดำเนินคดีอาญากับพวกเขาไม่ได้ ตราบใดที่ไม่มีพยานหลักฐานชัดว่าเป็นการเข้าร่วมกระทำผิดโดยมีเจตนา
คือ รู้ว่ากิจกรรมที่บริษัทกระทำตลอดมา เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน แต่ก็ยังเข้าร่วมโดยหวังได้ประโยชน์จากการโกงนั้นด้วย
ความคิดของตำรวจพนักงานสอบสวนหรือแม้แต่อัยการที่มักบอกว่า ในชั้นนี้เป็นเพียงข้อกล่าวหา
ส่วนเรื่องจะผิดจริงหรือไม่อย่างไร ค่อยไปว่ากันในชั้นศาล นั้น
เป็นกระบวนการยุติธรรมที่วิปริต!
เพราะเมื่อศาลยกฟ้อง
ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอะไรที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกกระทำกันอย่างไม่เป็นธรรมนั้นเลย.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2567