วิกฤติไฟใต้!ยำใหญ่จนท.รัฐจับซ้อมยัดข้อหาบังคับรับสารภาพ เสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

 

วิกฤติไฟใต้

ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี  จ.ปัตตานี วันที่ 31 มกราคม 2562  เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) หรือ Police Watch  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันจัดโต๊ะกลมสนทนา หัวข้อ “วิกฤตไฟใต้: จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรเพื่อคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน”  ดำเนินรายการ  นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ และน.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 100 คน

 

นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ตัวแทนศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์พิเศษ กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องของ ตำรวจ อัยการ ศาล ในพื้นที่พิเศษที่มีเจ้าหน้าที่อีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะถึงมือตำรวจ คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กฎหมายหลักในคดีอาญา  คือ ประมวลกฎหมายอาญา  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  แต่ที่สามจังหวัดมี กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ พ.ร.บ กฎอัยการศึก 2457 และพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ กฎหมายความมั่นคงซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคือทหารบังคับใช้

 

“เรามีคดีความมั่นคงที่เริ่มก็จะใช้กฎอัยการศึก ใช้กับอริราชศัตรู   ที่สำคัญคือมาตรา 15 ทวิ ซึ่งมีอำนาจเต็มเบ็ดเสร็จ สามารถกักตัวไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าวันที่ 8 ไม่ปล่อยตัว ก็ต้องร้องเรียน   ส่วนการใช้ พรก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ต้องไปที่ศาลยื่นหลักฐานต่อศาล ออกหมายจับ ฉฉ หรือฉุกเฉิน  เมื่อศาลออกหมายจับ ศาลจะกำหนดสถานที่ในการควบคุม เช่น ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร  จ.ปัตตานี  หรือ ตำรวจส่วนหน้า ศาลต้องระบุในหมายจับ จะไปคุมที่อื่นไม่ได้     ขังได้ครั้งละ 7 วัน ขยายได้อีก 7 วัน แต่ทั้งหมดต้องไม่เกิน 30 วัน ”

 

นายสิทธิพงษ์ กล่าวว่า ผลการซักถามตาม พรบ.ฉุกเฉิน ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ เมื่อครบ 30 วันเจ้าหน้าที่จะควบคุม 48 ชม. และจะส่งบันทึกคำให้การให้อัยกาพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งผู้ต้องหาจะเลื่อนฐานะจากผู้ต้องหาเป็นจำเลย    ส่วนบันทึกคำให้การในฐานะพยาน จะนำตัวไปชี้ที่นั่นที่นี่ หลายกรณีที่ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ แต่พอขึ้นศาลให้การปฏิเสธเป็นส่วนใหญ่ เดิมในการซักถาม ไม่มีการเซ็นชื่อ  แต่ปัจจุบันจะให้เซ็นชื่อทุกหน้ากระดาษ

 

น.ส.อัญชนา หีมมินะห์ ตัวแทนกลุ่มด้วยใจ  พูดในนามผู้เสียหาย  กล่าวถึงความเสมอภาค ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายพิเศษ กับ กฎหมายอาญา  ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีหมายจับ หมายเรียก หมายจับกุม   การใช้ กฎหมายพิเศษ ในพื้นที่ 4 อำเภอ จ.สงขลา การควบคุมเด็กและเยาวชน ต้องมีสหวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการตรวจ DNA กรณีเด็กถูกละเมิดทางเพศ  ตำรวจมักไม่รับแจ้งความ มักจะทำการไกล่เกลี่ย มีการจับกุมไม่เหมาะสม ลดทอนความเป็นมนุษย์ มีการตรวจ DNA เด็กทั้ง โรงเรียน หลายกรณีถูกขังเดี่ยว ไม่สามารถพบญาติได้ หรือ พบได้ก็ 5 นาที ไม่สามารถพบกันได้โดยอิสระ เป็นต้น

 

“เป็นการลดทอนสิทธิมากกว่า กม.อาญาปกติ   ในการค้นหาด้วย กฎหมายพิเศษ    ตำรวจไม่ต้องขอหมายค้น ไม่มีโอกาสพบทนาย  ควบคุมตัวเด็กและผู้ใหญ่อยู่ในที่คุมขังเดียวกัน ไม่มีสิทธิพบทนาย หรือจะเป็นทนายที่เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่จัดมาให้  ไม่น่าไว้วางใจ  ในการกันตัวไว้เป็นพยานก็เพื่อประโยชน์ของตำรวจ    การฝากขังมักใช้เต็ม 48 วัน แล้วปล่อยโดยไม่มีค่าชดเชย การชี้จุด และการไต่สวนการตาย มันไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน   เช่นเดียวกับการตรวจ DNA ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ไม่ให้ตรวจ DNA ไม่ควรบังคับ         ในสามจังหวัดชายแดนใต้  ทหาร ตำรวจ  อัยการ ศาล มันเป็นเนื้อเดียวกัน และไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล”น.ส.อัญชนา กล่าว

 

นายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวถึงความเข้าถึงความยุติธรรมของคนไทยพุทธ  รู้สึกว่าที่สามจังหวัดใต้ ไม่ค่อยมีทนายความพุทธ ส่วนใหญ่เป็นทนายความมุสลิม  เราควรจะจัดให้ทนายสองศาสนามาคุยกันว่าจะช่วยประชาชนอย่างไรความไม่ยุติธรรมในพื้นที่นี้ คือ การบังคับใช้กฎหมาย หรือไม่ให้ความยุติธรรม  เห็นการซ้อมทรมานเป็นเรื่องปกติ ที่มีปัญหา  พี่น้องคนไทยพุทธมีมุมมองที่แตกต่างกัน คนพุทธอยากให้มีด่านตรวจกันมากๆ ปลอดภัยดี ทางมุสลิมมองว่ามันตรวจมากไป  แต่อาจจะเป็นเพราะว่าคนพุทธไม่ค่อยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจ เครือข่ายไทยพุทธิเพื่อสันติภาพ ทำงานสิทธิมนุษยชนอยากให้ทุกคนได้รับรู้ปกติถ้าไม่โดนอะไรเองมักจะไม่ทวงถาม  คนพุทธที่นี่กลัวเจ้าหน้าที่และกลัวทนายความ เราอยากให้มาทำงานกับคนพุทธมากขึ้น

 

นายอนุพงศ์  พันธชยางกูร อดีตกำนันต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส หรือ แบเด็ง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ในสมัยที่ผมเป็นกำนัน ได้รับรางวัลหลายอย่าง แต่ดูแล้วไม่มีความหมายอะไรมากมายเพราะมันทำให้เราเข้าใจผิดกับชีวิต ผมได้รับผลกระทบโดยตรง เคยถูกควบคุมตัวปี 2547 คนในประเทศไทยมองผมเป็นโจรใต้ไปแล้วถ้าอ่านคอมเมนต์มากมายหยาบคาย จะเห็นว่าเป็นคนนอกพื้นที่ แต่ทำให้ครอบครัวผมเครียด ลูกสาวเป็นโรคซึมเศร้า ลูกชายเส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาต  เพราะคนด่าพ่อว่าเป็นโจรปล้นปืน ภรรยาถูกมองว่าเป็นเมียโจรใต้  ทำให้การประกอบอาชีพมีปัญหา

 

“ตอนที่ผมรับสารภาพเพราะถูกซ้อมทรมาน ฟันหายไปสองซี่ เพราะระบบกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยเป็นระบบกล่าวหา ศาลมีบทบาทไม่มากในการแสวงหาความจริง ตำรวจที่ส่งมาทำงานที่ใต้ ไม่รู้เรื่องคนใต้เลย ไม่เข้าใจวัฒนธรรม การข่าวผิดพลาด  แล้วมักมองว่าคนมุสลิมเป็นอาชญากร ตำรวจส่วนใหญ่เป็น ตำรวจใหม่ไร้ประสบการณ์ หรือย้ายคนที่ไม่ดีมาอยู่ที่นี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรามักทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงก็มักจะแสวงหาข้อเท็จไปให้ศาลมากกว่าข้อจริง  จะมีทนายสักกี่คนที่จะทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสมชาย นีละไพจิตร หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ เป็นความล้มเหลวด้านการข่าว เกิดแพะมากมาย  ผมไม่อยากพูดว่าความไม่สงบที่นี่ มันเหมือนมีคนไม่อยากให้เกิดความสงบ  มันต้องทำความเข้าใจอีกมาก”นายอนุพงศ์ กล่าว

วิกฤติไฟใต้

หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมสนทนาถามว่าเมื่อ ประชาชนถูกดำเนินคดีแล้วชนะ แล้วเราฟ้องกลับได้ไหม  ส่วนการรับสารภาพกรณีการไปค้นบ้าน ยึดทรัพย์สิน  บางหน่วยให้เซ็นเอกสาร บางคนไม่ให้เซ็น  มันมีระบบระเบียบอะไรไหมและเราควรจะจัดปฏิรูปทหารก่อนด้วย  เราต้องให้ผู้ว่าฯมีการกระจายอำนาจ ให้ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง ตำรวจต้องอยู่ใต้ผู้ว่าฯ  มีใครสังเกตการณ์กระบวนการทุกระดับในสถานการณ์อัยการศึก ให้เป็นหน่วยไหนก็ได้คอยสังเกตการณ์

 

ด้านนายสิทธิพงษ์ ตอบว่า  ความจริงเรามีการใช้ระบบไต่สวน แต่ใช้กับการวิสามัญฆาตกรรม เราให้ทนายญาติผู้ตายไต่สวน ศาลสามารถเรียกพยาน ผู้เชี่ยวชาญ เอกสารมาช่วยในการไต่สวนได้ แต่เรามักจะทราบผลออกมาว่า การตายเป็นการตายเพราะขาดอากาศหายใจ มักไม่บังเกิดผล  เรามีคดีเดียวที่มีการผ่าศพโดยหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์  เราต้องแก้ ป.วิอาญา ทั้งหมด   เราต้องให้องค์กรอัยการเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อให้เกิดความยุติธรรม  เราต้องแก้กฎหมายใหม่ ให้พนักงานอัยการอยู่ในที่สอบสวนด้วย ดังนั้นอย่าหวังระบบการไต่สวนมากนักเพราะมันก็มีปัญหามาแล้ว และต้องยกเลิก กฎอัยการศึก  พรบ.ฉุกเฉิน  อยากจะแสดงความเสียใจว่าตอนนี้เขาเปิดให้ศาลเปิดรับฟัง พยาน หลักฐาน บุคคลที่ถูกควบคุมตัว ตาม ป.วิอาญามาตรา 7/1 ถูกปฏิบัติเหมือนผู้ถูกจับไปแล้ว

 

ต่อมานางบุษยมาส อิศดุลย์  ตัวแทนบ้านบุญเต็ม  ซึ่งเป็นไทยพุทธ กล่าวว่า เวลาประชาชนเตือน แตะเจ้าหน้าที่มักจะมีการตอบโต้ด้วยข้อความจาก IO รากเหง้าของคดีความมาจากตำรวจ ที่มาจากทหารมีน้อยกว่า มีหลายคนที่บอกให้เซ็นไปก่อนแล้วจะได้กลับบ้าน ชาวบ้านอ่านหนังสือไม่ออก ขอปิดจ๊อบ   ไปก่อน “Fคิ้วยักษ์ “(สมญานาม) นอนอยู่ในห้องขัง สภ.ยะลา 1 คืน เหตุเกิด 26 ต.ค. 2551 แต่ถูกจับในปี 2561 ญาติๆ งง แจ้งข้อกล่าวหาว่าทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ตำรวจออกหมายจับง่ายมาก  โดยไม่มีหมายเรียก และออกหมายจับหลังจากนั้น 10   ปี  F ได้รับการปล่อยตัวหลังจากขัง 40 วันออกมา หมายจับเพราะมีคนชี้รูป F เพราะหน้าตาคล้ายผู้ต้องหา  F คิดจะฟ้องกลับ

 

“เป็นการทำงานที่แย่มาก พนักงานสอบสวนบางคนมาที่นี่ไม่ได้มาด้วยความรับผิดชอบ  และสาม จังหวัดไม่มีพนักงานสอบสวนมากพอ คดีมีมากเกิน และที่ยะลามีธุรกิจประกันซื้ออิสรภาพชั่วคราว จ่ายเงินให้ออกมาชั่วคราว ชาวบ้านต้องจ่ายเงิน 500 บาทยื่นประกันตัว มีการเรียกเปอร์เซ็นต์  คนที่มีเรื่องเท่านั้นถึงจะซาบซึ้งในปัญหา”

 

นางบุษยมาส กล่าวอีกว่า ยังมีคดีต้นกระท่อม ที่ป้าสำเนาเอาต้นกระท่อมมาสับ แล้วโดนจับไม่ให้ประกันตัวสองคืนหาว่ามีไว้จำหน่าย ไม่มีใครกล้ารับประกันให้ เพราะแม่ทัพภาคที่ 4 สั่งมา ดิฉันรับเรื่องมาทันที     มันยังมีคดี นายซายูตี สาและ  เรื่องฉี่ม่วง ถูกจับตำรวจจับซ้อม ฟ้อง ชาวบ้านพูดภาษาไม่ได้สอบมาไม่เข้าใจ

 

นางอัสมา มังกรชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คณะรัฐศาสตร์ เคยทำวิจัย พรก.ฉุกเฉินสิ่งที่วิทยากรทั้งไทย มุสลิม พูดมาจะเห็นว่ามีปัญหาจากระบบยุติธรรมทั้งคู่ สะท้อนให้เห็นว่าระบบเรามันไม่ยุติธรรม  เรื่องความอยุติธรรมมันไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา เขาปฏิบัติกับเราเหมือนคนโง่ ถ้าพูดถึงปัญหาความมั่นคง กับคนมลายู มันไม่ใช่เรื่องใหม่ความสัมพันธ์ชาวบ้านกับรัฐไทย  คนพุทธมีชุดประสบการณ์แตกต่างจากคนมุสลิม ไม่เคยต้องหาคดีความมั่นคง จะมองปัญหาไม่เหมือนกัน   การมีด่านเป็นการประกาศอำนาจของรัฐ อำนาจมันล้นเกิน ทางคนพุทธจึงมองว่ามีด่านมากๆนั้นดี  ปลอดภัยดี   เมื่อความมั่นคงมันเป็นปัญหา เรามามองว่าโครงสร้างอำนาจมันเป็นอย่างไร

 

“จากงานวิจัยที่เน้นที่ ตำรวจมลายูเมื่อ ตำรวจไปอยู่กับด้านอำนาจมืดเยอะ ต้องเอาตัวเองเข้าแรก ต้องสัมพันธ์กับคนมีอำนาจในพื้นที่  คนในพื้นที่มองเรื่องจ่าเพียร แตกต่างกัน  ตำรวจบางคนมีความเครียด ควบคุมสติตัวเองไม่ได้  องค์กรตำรวจเองมีปัญหาเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สายการบังคับบัญชาแน่นมาก  ตำรวจมลายูบางคนเอาความสำพันธ์ของคนมลายูมาใช้งาน แล้วเราจะอยู่บนสังคมที่ซ้อนทับกัน”นางอัสมา กล่าว

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ “เสียงประชาชนปฎิรูปตำรวจ” นสพ.ไทยโพสต์  กล่าวว่า ปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมันเกิดกับคนทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือฮินดู  เนื่องจากประเทศเรามีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ล้าหลังอย่างยิ่ง  แต่สามจังหวัดภาคใต้หนักกว่าเพื่อน เนื่องจากถูกซ้ำเติมด้วย พรก.ฉุกเฉินแบบเรื้อรังเข้าไปอีก  จึงมีปัญหาความอยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย  เพราะ พรก.ฉุกเฉิน เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนได้ง่าย  ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตรวจค้นเคหะสถาน การเรียกให้ไปรายงานตัว หรือแม้แต่การออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ  เราโยนภาระให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้รับความเดือดร้อน แทนที่จะกระทำในชั้นสอบสวนและการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ในสามจังหวัดภาคใต้เมื่อสี่ห้าปีก่อน คดีที่อัยการฟ้อง ศาลยกฟ้องถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้อาจจะลดลงเล็กน้อย มีคนได้รับความเดือดร้อนมากมาย

 

“ทุกสังคมการเกษตรเจริญงอกงามได้ ไม่ใช่เพราะดินดี  แต่เป็นเพราะประชาชนมีเสรีภาพและความยุติธรรมดังนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ  ความยุติธรรม คือ “การยุติความขัดแย้งด้วยความจริง” ฉะนั้น ต้องทำให้ความจริงทั้งหมดให้ปรากฏในชั้นสอบสวนและก่อนการสั่งฟ้องคดีของอัยการ  โดยการทำให้เป็นกระบวนการเดียวกัน”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า งานตำรวจป้องกันอาชญากรรม กับการสอบสวนต้องแยกออกจากกัน  และศาลต้องเป็นหลักที่มั่นคงให้กับสังคมในการที่จะไม่ลงโทษโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง ตาม ป.วิอาญา มาตรา 227  และอัยการต้องยึดหลักในการสั่งฟ้องคดีก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า  จะสามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนเท่านั้น  ไม่ใช่ยึดกันแค่หลักฐาน “พอฟ้อง” เช่นปัจจุบัน  ซึ่งก่อให้ความเสียหายมากมายทั้งต่อผู้ต้องหาและผู้เสียหายเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง

 

“เรื่องนี้ เราต้องแก้ ป.วิอาญาให้สอดคล้องกับหลักสากล  ทำอย่างไรให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดได้เกือบ 100 % ผู้บริสุทธิ์ไม่เดือดร้อน และผู้กระทำผิดไม่ลอยนวล  การจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจประเทศเราล้าหลัง  มีชั้นยศและระบบการปกครองแบบทหาร  โดยเฉพาะงานสอบสวนมันบัญชาการไม่ได้ ผู้ปฏิบัติต้องมีอิสระมนการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การตรวจสอบของอัยการในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน “อำนาจต้องควบคุมด้วยอำนาจ”ไม่ใช่คุณธรรมหรือจริยธรรมของใคร  สังคมประชาธิปไตยจึงแบ่งเป็นสามอำนาจเพื่อถ่วงดุลกัน  อย่าง พรก. ฉุกเฉินมันถูกใช้มา 15 ปีแล้ว  มันจะฉุกเฉินไปถึงไหน? ควรเป็นการใช้เฉพาะกิจเฉพาะกาลและเฉพาะพื้นที่เล็กๆเท่านั้น  เพราะเป็นช่องโอกาสให้เกิดการละเมิดขึ้นได้มากมาย”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า หลักกฎหมายที่ว่า “ปล่อยผู้กระทำผิด 10 คน ดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์เข้าคุก 1 คนนั้น”  แท้จริง หมายถึงการแจ้งข้อหาดำเนินคดีที่ไม่ควรทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อน

ผู้เข้าร่วมถามว่า  ถ้าเราใช้ กฎหมายปกติให้เกิดความเท่าเทียม ได้หรือไม่ และท่านคิดว่าเรื่องกฎหมายเรื่องอะไรที่ทำให้เกิดการปฏิรูป

 

นางบุษมาส  กล่าวว่า  เราต้องปฏิรูป  เรามีกรณีที่เกิดกับนายมัค ที่ถูกตำรวจทำกระสุนลั่นใส่ตาย แล้ว ตำรวจผ่าเอากระสุนออกไปโดยเอาตัวไป โรงพยาบาลเอาเสื้อมัคไปโดยครอบครัวไม่รู้เรื่องเลยว่าเอาไปทำอะไร พ่อแม่มัคไปแจ้งความแต่ ตำรวจไม่รับแจ้งความบอกว่าเป็นวิสามัญฯ ซึ่งไม่ทราบว่าผิดอะไรจึงวิสามัญฯ   ต่อมามีการฟ้องร้องกันแต่ ตำรวจชุดเก่าก็ยังอยู่   ในเรื่องต่างๆ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ในส่วนกลาง ไม่ใช่อยู่ในมือของตำรวจ ต้องบอกว่าชาวบ้านเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยากมาก

 

ส่วนนางอัสมา   กล่าวว่า  คำว่าผู้ก่อการร้าย กับความรุนแรงนั้นต่างกัน  ในพื้นที่สามจังหวัดมันมีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้ ในสามจังหวัดเราแน่ใจได้ยังไงว่าเป็นน้ำมือของผู้ก่อการร้าย  กรณีของพระ กลุ่ม BRN บอกว่าไม่ได้ทำ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจริง ไม่จริง  และพระเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและทุกคน

 

ช่วงท้าย พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า สำหรับการกันผู้กระทำผิดเป็นพยานนั้น  อันที่จริงไม่มีกฎหมายใดรองรับให้กระทำ  หมิ่นเหม่ต่อการต่อรองจูงใจให้ซัดทอดถ้าจำเป็นต้องแก้กฎหมายให้อัยการเข้าตรวจสอบเห็นชอบให้ทำในกรณีที่ไม่สามารถหาพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์การกระทำผิดได้อย่างแท้จริงเท่านั้นส่วนการซ้อมทรมาน มันต้องไม่ใช่การเรียกร้องให้ยกเลิกหรือต่อต้าน  มันต้องดำเนินคดีเอาคนกระทำและผู้เกี่ยวข้องทุกคนเข้าคุก!  การสอบปากคำ 10 – 20   ชม. ก็เป็นการทรมานอย่างหนึ่ง   การถูกซ้อมก็ไม่ต้องไปเน้นหาหลักฐานบาดแผล เพราะมันมีวิธีทำให้ไม่ปรากฎบาดแผลได้มากมาย คำให้การของผู้ถูกกระทำนั่นแหละคือพยานหลักฐานสำคัญที่สุด

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่า เราต้องปฏิรูประบบงานสอบสวนให้ตรงประเด็น  อย่าให้การรับรู้และเก็บรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ในมือบุคคลหรือองค์กรเดียว   ทำให้หลายองค์กรเห็นพร้อมกันทั้งพนักงานสอบสวน ฝ่ายปกครอง และพนักงานอัยการ การยัดข้อหาหรือล้มคดีจะเกิดขึ้นได้ยาก สำหรับผู้ต้องหา ถ้าไม่ไว้ใจพนักงานสอบสวน ต้องให้การว่า  “ไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน  แต่ขอให้การในชั้นอัยการ” อย่าไปบอกว่า ขอให้การในชั้นศาลเพราะจะถูกสั่งฟ้องทันที   เรื่องนี้ต้องให้บันทึกไว้ในสำนวนให้ชัดเจนว่าต้องการให้การในชั้นอัยการและทำคำให้การอย่างละเอียดส่งไป หรือนำติดตัวไปให้อัยการเมื่อเรียกสอบปากคำด้วย

 

“การสอบสวนต้องมีการบันทึกภาพและเสียงในทุกคดี โดยเฉพาะผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งประจักษ์พยานในอนาคต เราอาจบันทึกปากคำเป็นภาพและเสียงในรูปดิจิทัลทั้งหมด  ไม่ต้องใช้กระดาษเลยด้วยซ้ำส่วนเรื่องการค้นตาม พรก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ต้องมีหมายศาล ที่มีปัญหาการยึดทรัพย์สินไปแล้วไม่คืนนั้น  เจ้าบ้านหรือคนในบ้านสามารถบันทึกภาพและเสียงการค้นไว้ได้   มันเป็นความชอบธรรม เจ้าพนักงานต้องแสดงตัวตำแหน่งหน้าที่  รวมทั้งเหตุในการเข้าค้น รวมทั้งการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  การบันทึกภาพไว้ จะช่วยให้ได้รับความเป็นธรรมในระดับหนึ่ง”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

About The Author