รถหนัก รถผิดกฎหมายทำลายถนน ผู้คนบาดเจ็บ ตาย เพราะนายพลตำรวจ ‘รับส่วย’

รถหนัก รถผิดกฎหมายทำลายถนน ผู้คนบาดเจ็บ ตาย เพราะนายพลตำรวจ ‘รับส่วย’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้ได้มีความเคลื่อนไหวของ หน่วยงานตำรวจ และ ป.ป.ท. ป.ป.ช. ในการจับกุมเจ้าพนักงานกรมทางหลวงผู้รับผิดชอบ ด่านชั่ง รวมทั้ง อุปกรณ์ชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ ที่เรียกกันว่า Spot check เป็นข่าวเอิกเกริก
ได้ผู้ต้องหาเป็นทั้งข้าราชการและลูกจ้างหลายคน
ทำข่าวประชาสัมพันธ์กัน เหมือนเป็นผลงานชิ้นใหญ่?
ทำให้สื่อและประชาชนจำนวนมากคิดว่า รัฐบาลโดยตำรวจแห่งชาติกำลังเอาจริงเอาจังกับปัญหา รถบรรทุกหนักทำลายถนนเสียหาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุผู้คนบาดเจ็บล้มตายในแต่ละปีมากมาย นับหมื่น หรือรวมหลายแสนชีวิต!
ติดอันดับหนึ่งและสองของโลกมาหลายสิบปีจนกระทั่งบัดนี้
ซึ่งทั้งรัฐบาลและประชาชนก็เหมือนจะจนปัญญา ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหารถบรรทุกผิดกฎหมายทำให้ทางหลวงเสียหายย่อยยับกันอย่างไร?
แต่แท้จริงปัญหานี้แก้ได้แสนง่าย!
โดย ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ต้นตอปัญหาแท้จริงอยู่ตรงไหน?
หน่วยงานใด หรือใคร คือผู้มีอำนาจในการแก้ไขจัดการ?
เริ่มตั้งแต่การก่อสร้างทางหลวงซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมทางหลวงแผ่นดิน และกรมทางหลวงชนบท ตามประเภทของทาง
การออกแบบถนนทุกสายได้กำหนดพิกัดน้ำหนักที่ ยานพาหนะสามารถบรรทุกได้โดยไม่ทำให้ถนนเสียหายในเวลาที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน
ทางหลวงทั่วไป แต่เดิมได้ออกแบบไว้สำหรับรองรับ รถบรรทุกหนัก 21 ตัน
ถ้าเป็นถนนคอนกรีต ถ้าไม่มีรถหนักเกินวิ่งผ่าน จะสามารถใช้งานได้นานถึง 30 ปี จึงจะมีการซ่อมครั้งแรก
ถ้าเป็นถนนแอสฟัลต์ จะงานได้นานถึง 7 ปี
ส่วนทางหลวงสายรองรวมทั้งถนนท้องถิ่นต่างๆ ก็กำหนดน้ำหนักลดหลั่นกันไป ตั้งแต่ 18 ตัน 16 ตัน ไปจนกระทั่ง 12 ตัน
แต่ในข้อเท็จจริงได้เกิดปัญหา กรมทางหลวงไม่สามารถรักษากฎหมายไม่ให้รถบรรทุกหนักเกิน 21 ตัน แล่นผ่านได้
ส่งผลทำให้ทางหลวงทุกสายชำรุดเสียหายในเวลาอันรวดเร็ว
จน รัฐบาลยุคหนึ่งที่คิดว่าเมื่อหมดปัญญาในการรักษากฎหมาย ก็ยอมแก้ไขกฎกระทรวงให้เพิ่มน้ำหนักบรรทุกเป็น 26 ตัน จะได้หมดเรื่องราวไป!
ส่งผลทำให้ทางหลวงทุกสายไม่ว่าจะสร้างด้วยคอนกรีตหรือยางแอลฟัลต์ จะมีอายุการใช้งานในสภาพที่ดีสั้นลงมาก
แค่สร้างมาหนึ่งถึงสองปี ก็จะมีรอยคลื่นหรือการแตกหักปรากฏให้เห็นเป็นบางจุดโดยเฉพาะช่องทางซ้าย และจะเริ่มเสียหายไปเรื่อยๆ ในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้น
เพราะในความเป็นจริง รถบรรทุกที่จ่ายส่วยรายเดือนให้ตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าในพื้นที่หรือหน่วยพิเศษต่างๆ จะบรรทุกหนักกันได้ถึง 30-40 ตัน เพื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด
ทำให้รถขนาดเล็กประสบอุบัติเหตุกันมากมาย
โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ของคนยากคนจนที่ไม่สามารถแล่นได้อย่างสะดวกในช่องทางซ้าย
ปัญหาสำคัญก็คือ หน่วยงานใดคือผู้รับผิดชอบในการรักษาถนนไม่ให้ทรชนสั่งให้รถบรรทุกหนักเกินกำหนด
แน่นอน กรมทางหลวงคือหน่วยงานรับผิดชอบพื้นฐานในการรักษากฎหมายนี้
โดยได้มีการจัดตั้ง กองตำรวจทางหลวง ขึ้น เป็นมือไม้ในการปฏิบัติ
ที่สำคัญคือ การมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีตามที่ พ.ร.บ.ทางหลวงบัญญัติ
แต่กลับกลายเป็นหน่วยงานในสังกัด “กรมตำรวจ” หรือที่เรียกว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ปัจจุบัน แทนที่จะเป็นกรมทางหลวง หรือกระทรวงคมนาคม
อธิบดีกรมทางหลวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาตำรวจทางหลวงได้ ไม่ว่าจะมีชั้นยศใด
ทำให้เจตนารมณ์ของรัฐในการจัดตั้ง ตำรวจทางหลวง เพื่อปฏิบัติงานตรวจตรารักษากฎหมายคุ้มครองทางที่กรมทางหลวงสร้างทุกสายให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีใครทำผิดกฎหมายหรือทำให้เสียหาย เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้สัญจรได้ด้วยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย
ไม่บรรลุเป้าหมาย
ตำรวจทางหลวงกลายเป็นหน่วยงานหาเงินหารายได้ ส่งส่วย ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพล ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ขององค์กรตำรวจมาช้านาน
ก่อนจะมีหน่วยงานใหม่แซงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ตำรวจหมายปองกันปัจจุบัน
เป็นเสมือน เหมืองทองขุมใหม่ในองค์กรตำรวจประเทศไทย
การ ทุจริตฉ้อฉลรับส่วยสินบนกันจนร่ำรวยของตำรวจผู้ใหญ่ ในแทบทุกหน่วยงานที่ได้กระทำกันอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีการสืบสวนจับกุมอย่างจริงจัง
ได้ทำให้ข้าราชการในทุกกระทรวงทบวงกรมที่เป็นคนสุจริต ก็เกิดความคิดอยากรวยแบบตำรวจบ้าง
ใครมีช่องทางหาเงินจากอำนาจหน้าที่ใด ก็ใช้อำนาจหน้าที่นั้นหาเงินหรือประโยชน์กันทุกรูปแบบ
เจ้าพนักงานทางหลวง สังกัดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมก็เช่นกัน
เมื่อตำรวจทางหลวง และตำรวจสารพัดหน่วยทุกระดับรับส่วยจากรถบรรทุกผิดกฎหมายที่ตนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาได้ ไม่เห็นมีใครเคยถูกจับกุมหรือแม้แต่ดำเนินคดีอาญาอะไร
แล้วทำไมพวกตนจะใช้เครื่องมือที่มีเก็บส่วยหารายได้กันเช่นเดียวกับตำรวจบ้างไม่ได้
รถบรรทุกหนักผิดกฎหมายไม่เข้าด่านชั่งได้ จะให้เจ้าพนักงานทางหลวงไปไล่จับโดยไม่มีอุปกรณ์ ยานพาหนะและอาวุธปืนป้องกันตัว รวมทั้งอำนาจสอบสวนดำเนินคดีอาญา
เขาจึงไม่สามารถทำได้
สุดท้าย ก็รับเงินกันดีกว่า
เพราะว่าหัวหน้าตำรวจทุกหน่วยที่รับ ก็ไม่เคยเห็นใครถูกจับหรือแม้แต่ดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยตำรวจอะไรแม้แต่คนเดียว.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2567