กระบวนการยุติธรรมสามานย์ คนจน ‘ออกหมายจับ’ ง่าย ทหาร ตำรวจผู้ใหญ่ แค่ออก ‘หมายเรียก’ ยังแสนยาก
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัจจุบันความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในทุกขั้นตอนอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างร้ายแรงยิ่ง!
คำว่า บุคคลย่อมเสมอกันโดยกฎหมาย ตามที่ รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้ นับแต่ปี พ.ศ.2475 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยเป็นต้นมา
ประชาชนส่วนใหญ่อ่านหรือได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึก สมเพช และ ขำ ไปตามๆ กัน!
ปัญหา ความอยุติธรรมทางอาญา บุคคลแต่ละสถานะได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละขั้นตอนนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานก็จริง
แต่ ไม่มีใครจินตนาการหรือนึกถึงได้ขนาดว่า จำเลยผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 8 ปีในคดีอาญาร้ายแรง คือทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ไม่ต้องถูกคุมขังไว้ในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์แม้แต่วันเดียวจนพ้นโทษจะเกิดขึ้นได้!
ซ้ำยังมีนักการเมืองและข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายระดับ แต่งเครื่องแบบสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐคอยยืนโค้งคำนับ ตามรายทางที่นักโทษเด็ดขาดคนนี้นั่งรถหรือเดินผ่านไปทุกที่
ปรากฏการณ์กระบวนการยุติธรรมที่วิปริตเช่นนี้ น่าจะมีไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ทำให้ผู้คนที่รักความยุติธรรมและรวมทั้งฝรั่งมังค่าต่างอ้าปากค้างไปตามๆ กัน!
นอกจากปัญหาเจ้าพนักงานของรัฐหลายระดับจะทำผิดกฎหมายร้ายแรงช่วยนักโทษให้ แหกหัก เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ยามค่ำคืน ไปนอนกระดิกเท้าอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ให้ แพทย์มียศ น้อยใหญ่บีบนวดจนเข้าเงื่อนไขได้รับการพักโทษกลับบ้าน สามารถเดินทางไปตรวจงานหรือพบปะเพื่อนฝูงที่ไหนก็ได้ตามใจ ส่งผลทำให้คนส่วนใหญ่ “สุดแค้นใจ”และไม่อยากเคารพกฎหมายบ้านเมืองกันอีกต่อไปแล้ว!
การสอบสวนคดีอาญาสำคัญเกี่ยวกับ แก๊งเว็บพนัน ที่พบหลักฐานการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับนับสิบคน ก็ เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ประชาชนได้ยินได้ฟังแล้วแสนเบื่อหน่าย!
ตำรวจผู้รับผิดชอบสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้กำลังจะออกหมายเรียกนายพลตำรวจบางคนเป็นผู้ต้องหา
แต่เมื่อต้องส่งไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาตามกฎหมาย กลับกลายเป็นว่าจะรับไว้ดำเนินการเองตามขั้นตอนต่างๆ ที่แสนยอกย้อน ภายในระยะเวลา ไม่เกินสามปี และผลจะเป็นอย่างไรไม่มีใครคาดหมายได้?
ถ้าหากในที่สุด ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาล กระบวนการต่อสู้คดีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ก็น่าจะใช้เวลารวม ไม่ต่ำกว่าห้าปี!
หมายความว่า คดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับเกี่ยวกับการกระทำผิด “เป็นเจ้ามือการพนัน” ในเรื่องนี้ จะต้องใช้เวลาทั้งชั้นสอบสวน อัยการ และการพิจารณาของศาลรวมประมาณ 8 ปี!
นอกจากนั้น ยังมีคดีอาญาร้ายแรงอีกมากมายที่ตำรวจผู้ใหญ่กระทำผิดแล้ว ต้องใช้เวลาแสนนานในการสอบสวน รวมทั้งการสั่งฟ้องคดีของอัยการและการวินิจฉัยลงโทษของศาล
เช่น คดีบอส ที่ แก๊งพลตำรวจเอก ร่วมกันเปลี่ยนหลักฐานความเร็วจาก 177 เป็น 79.22 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อให้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ในเขตเมือง ถือว่าไม่ได้ขับรถประมาท
การกระทำผิดเริ่มต้นโดย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก๊งพลตำรวจเอกกลุ่มหนึ่ง “รับงาน” แต่ ปี 2559
เวลาผ่านมากว่าแปดปี แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลว่ามี พลตำรวจเอกและพลตำรวจตรีสองคน ร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ซ้ำยังมีการกัน พลตำรวจโทผู้ร่วมกระทำผิดคนหนึ่ง เป็นพยาน โดยไม่มีความจำเป็นเพราะคดีมีคลิปเสียงเป็นหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว!
และขณะนี้ การดำเนินคดีอัยการแค่เพิ่งมีคำสั่งฟ้องต่อศาล ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาสืบพยานกันอีกนานเท่าใด?
นอกจากนั้นตำรวจผู้ใหญ่ผู้ร่วมกระทำผิดอาญาร้ายแรงส่วนใหญ่ ไม่ได้ยินว่าเคยมีใครถูกออก “หมายจับ” และมีการจับและควบคุมตัวกันเหมือนประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในปัจจุบัน ตำรวจ ออกหมายเรียกคนจน เป็นผู้ต้องหากันแสนง่าย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาที่มีพยานหลักฐาน หรือเป็นการ ยัดข้อหา กันมั่วๆ ก็ตาม! ใครไม่มาตามหมายเรียกสองครั้ง ไม่ว่าจะได้รับหมายแล้วหรือไม่ ตำรวจก็จะใช้เป็นเหตุอ้างว่าน่าเชื่อมีพฤติการณ์หลบหนี เสนอศาลออกหมายจับกันทันที
ถ้าข้อกล่าวหามีโทษจำคุกเกินสามปี ก็สามารถเสนอศาลออกหมายจับได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกให้เสียเวลา
เช่นในคดีความผิดต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ “นางสาวตะวัน” ถูกกล่าวหาว่ากระทำด้วยประการใดๆ ให้เกิดความปั่นป่วน ถึงขนาดที่จะก่อให้ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มีโทษจำคุกสูงถึงเจ็ดปี หรือคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โพสต์โน่นโพสต์นี่กันเล่นๆ
มีโทษจำคุกถึงห้าปี
ผู้ถูกกล่าวหามายืนรอหน้าโรงพัก หรือแม้แต่นั่งนอนรออยู่หน้าศาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจก็ไม่ยอมรับ เช่น คดีการจับนายไชย์พล วิภา ถูกกล่าวหาว่า “มีพิรุธ” น่าเชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าเด็กหญิงชมพู่?
ตำรวจไทยมุ่งเน้นแต่ขอศาลออกหมายจับ เพื่อจะได้ใช้กำลังจับและควบคุมตัวบุคคลนั้นตามหมาย ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาหรือสถานที่ใด เพื่อให้เป็นข่าวและทำให้ได้รับความอับอาย
รวมทั้ง มั่ว ใช้เป็นเหตุคัดค้านในการขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับต่อศาล
กระบวนการยุติธรรมอาญาที่สามานย์ของไทยในปัจจุบัน จึงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายและ “ไร้คำอธิบาย” ในการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายและแตกต่างกันตามชั้นยศและชนชั้นในทุกขั้นตอน
โดยที่สุจริตชนส่วนใหญ่ไม่สามารถยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักในการรักษาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอาไว้ได้
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2567