‘รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย’ และผู้ว่าฯ ปราบมาเฟียไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจควบคุม ‘ตำรวจ’ และ ‘การสอบสวน’

 

ยุติธรรมวิวัฒน์

         ‘รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย’ และผู้ว่าฯ ปราบมาเฟียไม่ได้  เพราะไม่มีอำนาจควบคุม ‘ตำรวจ’ และ ‘การสอบสวน’

         

                                                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน คนมีเงินหรือมีอำนาจอาจพูดว่า เรายังดีกว่าอีกหลายประเทศ

หนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่จึงไม่ควรดิ้นรนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศให้สังคมเกิดความวุ่นวายอะไร?

เขาพูดเช่นนั้น ก็เพราะตัวเขาและญาติพี่น้องรวมทั้งบริวารไม่ได้เดือดร้อนเลือดตาแทบกระเด็นเช่นชีวิตของคนจนหรือคนไร้อำนาจและเส้นสายแต่อย่างใด

ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญและสร้างความคับแค้นใจร้ายแรงให้กับประชาชนคนไทยในขณะนี้ก็คือ

ความยุติธรรม” ที่ส่วนใหญ่ได้กลายเป็น “ความอยุติธรรม”

 แม้กระทั่งชื่อ “กระทรวงยุติธรรม” ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติส่วนใหญ่ก็ยังสงสัย!

ฟังแล้วตะขิดตะขวงใจว่ารัฐมนตรีได้ทำงาน “ตรงตามชื่อ” จริงหรือไม่?

เพราะความเสมอภาคทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ประชาชนคนยากจนแทบจะ หาไม่ได้ในความเป็นจริง?

 และสิ่งนี้กำลังสะสมพลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต!

ในช่วงเวลานี้มีการพูดถึงเรื่อง “ฝรั่งเตะหมอ” ที่ภูเก็ต

เรื่องราวได้ลุกลามบานปลายกลายเป็น ปัญหามาเฟีย ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรีบกลับจากต่างประเทศมาจัดการให้เรียบร้อย?

มาเฟีย หรือ ผู้มีอิทธิพล หมายถึงบุคคลผู้กระทำผิดกฎหมายไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็กแล้วไม่ถูก ตำรวจจับหรือดำเนินคดี

นั่นหมายถึงต้องมี “ความสัมพันธ์อันดี” กับหัวหน้าสถานีหรือตำรวจผู้ใหญ่ในพื้นที่

โดยเริ่มจากการ “กินฟรี”!

ผู้มีอิทธิพลตัวจริง” บางคน แม้ศาลมีคำพิพากษาจำคุกแล้ว ก็ไม่ต้องติดคุกเข้าไปรับผ้าห่มและหมอนนอนในเรือนจำเช่นนักโทษทั่วไปแม้แต่คืนเดียว!

โดยที่คนไทยทั้งประเทศได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ไม่สามารถทำอะไรได้!

ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่ได้ยิน ต่างตั้งคำถามว่า “มันเป็นไปได้อย่างไร”?

ผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศไทยในขณะนี้จะมีจำนวนเท่าใดไม่มีใครทราบแน่ชัด

แต่ถ้ายึดคำจำกัดความว่า คือ บุคคลที่ทำผิดกฎหมายแล้วไม่ถูกตำรวจจับ

คงจะมีจำนวนนับไม่ถ้วนทุกจังหวัดแม้กระทั่งอำเภอ!

เริ่มตั้งแต่เจ้าของซ่องหลากหลายรูปแบบ เจ้ามือหวยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่ “จ่ายส่วย” ให้หัวหน้าสถานี ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการตำรวจพื้นที่

รวมทั้งตำรวจหน่วยพิเศษ “เฉพาะกิจเฉพาะเก็บ” ต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน และการกระทำผิดกฎหมายค้าขายของเถื่อนอีกสารพัด!

ไม่จะเป็นเจ้าของรถบรรทุกหนักหรือสถานบันเทิงผิดกฎหมายทำลายเด็กและเยาวชน นายบ่อนพนันออฟไลน์ออนไลน์มีทั้งในและนอกเครื่องแบบและอีกมากมาย

การที่นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดการปราบมาเฟียผู้มีอิทธิพล

ซึ่งหมายถึงคนทำผิดกฎหมายแล้ว “ตำรวจไม่จับ” ให้หมดไป

แต่เมื่อเขาไม่มีอำนาจควบคุมตำรวจและการสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับมาเฟียหรือผู้กระทำผิดกฎหมายคนใด

ทำได้เพียงเชิญตำรวจมาประชุม “ขอความร่วมมือให้ทำหน้าที่”

แล้วทั้งรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วย และผู้ว่าฯ จะปราบมาเฟียผู้มีอิทธิพลในจังหวัดและประเทศไทยได้อย่างไร?

นับแต่ปี พ.ศ.2478 เป็นต้นมา ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถือเป็น กฎหมายแม่บท ของการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมไทย

ได้บัญญัติให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการ มีอำนาจออกข้อบังคับให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกกระทรวงทบวงกรมถือปฏิบัติเมื่อใช้ ป.วิ อาญา ทำงานตามหน้าที่ของตน

มี กรมตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักในสังกัด ทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในชุมชนและสังคม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกข้อบังคับอะไรให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติตาม ป.วิ อาญา

ทุกหน่วยงานก็ไม่ได้มีปัญหาหรือข้อขัดข้องอะไร

เช่น การออก ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญในปี 2509 ให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเข้าตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีอาญาที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

ทำให้ตำรวจไม่กล้า  “สอบสวนแบบไม่มีเลขคดี” จะได้ไม่ต้องมีสำนวนการสอบสวนให้นายอำเภอและอัยการสามารถตรวจสอบได้เช่นที่กระทำกันในปัจจุบัน

หรือรวบรวมพยานหลักฐานกันไม่ครบถ้วน แต่ง “นิยายสอบสวน” ส่งให้อัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี

หน่วยตำรวจทั้งสถานีและผู้บังคับการจังหวัดยังมีความเกรงใจนายอำเภอและผู้ว่าฯ เพราะไม่สามารถปฏิบัติโดยมิชอบในการสอบสวนได้ตามอำเภอใจ

แต่หลังจากที่ได้มีคนอุตริแยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทย ไปตั้งชื่อเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถควบคุมตำรวจและตรวจสอบงานสอบสวนคดีอาญาได้เช่นเดิมอีกต่อไป

ยิ่งในปี พ.ศ.2556 ได้มี ผบ.ตร.คนหนึ่ง ถูก “แก๊งพลตำรวจเอก” หลอกให้ออกคำสั่งมิชอบด้วยกฎหมายที่ 419/2556

ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้นายอำเภอหรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่แจ้งมาว่ามีประชาชนขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบ

ซ้ำย้ำว่า ถ้าพนักงานสอบสวนคนใดฝ่าฝืนขืนปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย จะถูกลงโทษทางวินัย!

เมื่อกระทรวงมหาดไทยไม่มีอำนาจสั่งงานตำรวจหรือแม้แต่ “ตรวจสอบการสอบสวน” ตามที่ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยบัญญัติไว้

แล้วนายกรัฐมนตรีจะหวังให้รัฐมนตรีว่าการ และผู้ว่าฯ ปราบมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพลสารพัดในจังหวัดและประเทศได้อย่างไร?.

  ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 11 มี.ค. 2567

About The Author